- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- กสศ.เล็งช่วยเหลือเด็กยากจนพิเศษ 6.2 แสนคน พ.ย.นี้ 'ถูกคน ตรงจุด ไม่ซ้ำซ้อน และโปร่งใส'
กสศ.เล็งช่วยเหลือเด็กยากจนพิเศษ 6.2 แสนคน พ.ย.นี้ 'ถูกคน ตรงจุด ไม่ซ้ำซ้อน และโปร่งใส'
กสศ.เตรียมเข้าพบเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อร่วมกำหนดแผนปฏิบัติการทำงานร่วมกัน คาดจะเริ่มช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษผ่าน ร.ร.ทั่วประเทศ พ.ย.นี้
หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในส่วนของทุนประเดิมและเงินอุดหนุนตามแผนการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2561 ในวงเงินราว 1,200 ล้านบาท และในส่วนของเงินอุดหนุนตามแผนการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2562 ในวงเงิน 2,537 ล้านบาทที่ สนช. ได้แปรญัตติให้นั้น
นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า กสศ. ได้รับการจัดสรรงบประมาณลดลงจากที่คณะกรรมการบริหาร กสศ. เห็นชอบไว้ โดยในปีงบประมาณ 2561 ได้รับจัดสรรลดลง 21% และปีงบประมาณ 2562 ได้รับจัดสรรลดลงกว่า 57% แต่ยังอยู่ในกรอบที่เพียงพอให้ กสศ. ใช้เริ่มดำเนินงานในช่วงต้นได้ โดยทางรัฐบาลยังเปิดช่องให้ กสศ. ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมได้อีกในส่วนของงบกลางสำรองฉุกเฉินในปี 2562 รวมถึงขณะนี้กรมสรรพกรก็กำลังพิจารณาเรื่องการหักค่าลดหย่อนหรือรายจ่ายเพื่อการบริจาคเงินและทรัพย์สินแก่กองทุนตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ. กสศ. เพื่อให้ประชาชนและนิติบุคคลต่างๆได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการบริจาคเงินและทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ กสศ. ได้ภายในปีภาษี 2561 นี้
ผู้จัดการ กสศ. กล่าวถึงทิศทางการทำงานต่อไปจากนี้ จะต้องมีการปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหาร กสศ. ในวันที่ 24 กันยายน นี้ เพื่อจัดลำดับความสำคัญของงาน ซึ่งคงต้องมุ่งทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นเร่งด่วน โดยกลุ่มที่คาดว่า กสศ.จะเริ่มช่วยเหลือได้เป็นลำดับแรกคือ นักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 620,000 คน ในสถานศึกษาสังกัดสพฐ. ที่กระจายอยู่ครอบคลุมทุกภูมิภาค ซึ่ง กสศ. และ สพฐ. ได้ร่วมกันดำเนินการคัดกรองในปีการศึกษา 1/2561 ที่ผ่านมา โดยในช่วงเดือนตุลาคมนี้ กสศ. จะร่วมกับ สพฐ. จัดให้มีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลกลุ่มเป้าหมายทั้ง 620,000 คนอีกครั้งด้วยระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE เพื่อให้มั่นใจว่าเราสามารถช่วยเหลือและติดตามให้นักเรียนที่ยากจนที่สุดกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนทั้งด้านค่าใช้จ่ายและการดูแลที่จำเป็นต่างๆ เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา ไปจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานและสามารถพัฒนาความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพได้ตามความถนัดและศักยภาพที่แตกต่างกัน
“เรื่องนี้เป็นประเด็นที่คณะกรรมการบริหาร กสศ. เน้นย้ำมาตลอดในการประชุมทุกครั้งว่า ให้กองทุน กสศ.หลีกเลี่ยงการสนับสนุนงบประมาณที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ เน้นความโปร่งใส คุ้มค่า โดยพิจารณาเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ให้ถูกต้องครบถ้วน คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ”
นายสุภกร กล่าวว่า สำหรับนักเรียนยากจนพิเศษที่ กสศ.จะให้การสนับสนุนเป็นลำดับแรก เป็นการสนับสนุนเพิ่มเติมจากที่ สพฐ. อุดหนุนอยู่วันละ 5-15 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในปัจจุบัน เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหารเช้า และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่นๆ ของนักเรียนยากจนพิเศษ เป็นต้น โดยทางกสศ.จะขอเข้าพบเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เร็วๆ นี้ เพื่อร่วมกำหนดแผนปฏิบัติการทำงานร่วมกัน คาดว่าจะเริ่มช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษผ่านโรงเรียนทั่วประเทศได้ราวเดือนพฤศจิกายนนี้
ส่วนนักเรียนในสถานศึกษาสังกัดอื่นๆ นายสุภกร กล่าวด้วยว่า กสศ. จะเริ่มดำเนินงานประสานงานและเชื่อมโยงฐานข้อมูลเพื่อให้สามารถเริ่มดำเนินงานได้ในปีการศึกษา 2562 อย่างไรก็ตาม ในช่วงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทาง กสศ.ได้เข้าไปประสานความช่วยเหลือ กรณีเด็กยากจนพิเศษ เด็กพิการด้อยโอกาสและเด็กนอกระบบ ในจังหวัดเชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี และสุรินทร์ โดยได้รับการสนับสนุนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชน รวมถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงการคลังในการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุน ทั้งเรื่องความขาดแคลนทุนทรัพย์และความด้อยโอกาสทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม