- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- 10 ปี กยศ. ฟ้องเบี้ยวหนี้ 1.1 ล้านราย สาเหตุยากจน-ขาดวินัย-ไร้จิตสำนึก
10 ปี กยศ. ฟ้องเบี้ยวหนี้ 1.1 ล้านราย สาเหตุยากจน-ขาดวินัย-ไร้จิตสำนึก
เวที ฬ.จุฬาฯ ถกปมกองทุนกู้ยืมฯ ผู้จัดการ กยศ.โชว์ตัวเลข ผิดนัดชำระหนี้ 2.1 ล้านคน กว่า 10 ปี ฟ้องผู้กู้ 1.1 ล้านราย ส่วนใหญ่ ยากจน-ขาดวินัย-ไร้จิตสำนึก ขณะที่ผู้บริหารเครดิตบูโรเผย กยศ.ยังไม่เป็นสมาชิก-ส่งข้อมูลลูกหนี้ เข้าระบบ ตั้งคำถามกลับปัญหาไม่จ่ายสะท้อนคุณภาพการศึกษา-บ่มเพาะบัณฑิต
วันที่ 8 ส.ค. 2561 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาเวที ฬ.จุฬาฯ นิติมิติ เรื่อง เรียน กู้ ค้ำ หนี้ หนี บังคับ:ความเป็นธรรมของกฎหมายกับนโยบายกองทุน กยศ. ณ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า กยศ.เป็นกองทุนให้โอกาสทางการศึกษาด้วยทุนหมุนเวียนของรัฐ โดยในรอบ 20 ปี ปล่อยเงินกู้ไปประมาณ 5 ล้านราย ราว 5.7 แสนล้านบาท มีเงินต้นผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด 6.8 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจุบันแนวโน้มจำนวนผู้กู้ยืมเงินจะลดน้อยลงตามลำดับ เนื่องจากมีประชากรเกิดน้อย
ขณะที่สถานะของผู้กู้ยืมเงิน 5 ล้านราย แบ่งเป็น อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,528,703 ราย (ร้อยละ 65) อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1,061,534 ราย (ร้อยละ 19) ชำระหนี้เสร็จสิ้น 805,034 ราย (ร้อยละ 15) และเสียชีวิต/ทุพพลภาพ 52,917 ราย (ร้อยละ 1)
“เฉพาะผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ มีผู้ชำระหนี้ปกติ 1,378,429 ราย (ร้อยละ 39) และผิดนัดชำระหนี้ 2,150,274 ราย (ร้อยละ 61)” ผู้จัดการ กยศ. กล่าว และว่าจำนวนผู้ผิดนัดชำระหนี้ที่มีจำนวนมาก ทำให้ กยศ. ต้องทำให้ในสิ่งที่ไม่ถูกใจ แต่ถูกกฎหมาย โดยดำเนินคดีฟ้องผู้กู้ยืมเงิน ตั้งแต่ปี 2547-2560 จำนวน 1.1 ล้านราย เฉลี่ยปีละ 1 แสนคน
สำหรับผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้นั้น นายชัยณรงค์ ระบุมี 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มยากจน กลุ่มขาดวินัยทางการเงิน และกลุ่มขาดจิตสำนึกคืนเงินแก่รัฐ ดังนั้น กยศ.จึงได้ร่วมมือกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ความรู้ทางการเงินแก่ผู้กู้ยืม เพื่อสร้างวินัยทางการเงินและแรงกระตุ้นชำระหนี้ แต่หากผู้กู้ยืมยังละเลย กรณีนี้จำเป็นต้องบังคับคดีต่อไป
ทั้งนี้ กยศ.ไม่มีการว่าจ้างบริษัทติดตามทวงหนี้อย่างที่เป็นข่าว หากใครพบเบาะแสสามารถแจ้งมาที่ กยศ. หรือแจ้งความที่สถานีตำรวจได้ทันที
ด้าน น.ส.รื่นฤดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน มีเรื่องไกล่เกลี่ยทั้งหมด 2.5 หมื่นเรื่อง ทุนทรัพย์ 1.8 พันล้านบาท เพื่อลดโอกาสการถูกอายัดทรัพย์ ซึ่งสามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 1.4 หมื่นเรื่อง (ร้อยละ 52) ทุนทรัพย์ 1.7 พันล้านบาท เงินเหล่านี้จะกลับเข้าสู่กองทุน กยศ. อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การให้โอกาสเป็นเรื่องสำคัญ แต่เมื่อทุกคนได้รับโอกาสแล้ว จะต้องคำนึงถึงเรื่องวินัย ความรับผิดชอบ และจิตสำนึกด้วย
ขณะที่ นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า จากข้อมูลคนเป็นหนี้เครดิตบูโร โดยไม่รวมหนี้ กยศ. ปัจจุบันมีจำนวน 25 ล้านราย หนี้เฉลี่ย 1.7 แสนบาท/ราย โดยคนที่อายุ 31 ปี 100 คน จะเป็นหนี้ 21 คน หรือ 1 ใน 5 ของจำนวนทั้งหมด และมีอย่างน้อย 1 บัญชี ไม่ชำระหนี้ (หนี้เสีย) สะท้อนว่า คนที่มีอายุไม่มาก จะมีปัญหาเรื่องการชำระหนี้ ดังนั้น ถ้าอนาคตนำข้อมูลลูกหนี้ กยศ. เข้าไปรวมในฐานข้อมูลของเครดิตบูโร ตามช่วงอายุดังกล่าว เชื่อว่าจะพบปรากฏการณ์ไม่น่าดู
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กยศ.ยังไม่ได้เป็นสมาชิกเครดิตบูโร และไม่ได้ส่งข้อมูลลูกหนี้เข้าสู่ระบบแต่อย่างใด
“จุดที่น่าสนใจของระบบ ซึ่งควรได้รับการดูแล คือ ทำอย่างไรให้ข้อมูล กยศ.เชื่อมโยงกับผู้กู้ยืม ให้ทราบว่า อยู่ที่ใด ทำอะไร หลังจากทำงานประมาณ 2 ปี หากประสบปัญหาความยากจน เป็นเรื่องหนึ่ง แต่เรากำลังพูดถึงคนที่มีความสามารถชำระหนี้ แต่ไม่ชำระหนี้ จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ซึ่งเราไม่อยากเห็นปรากฏการณ์คนที่ทำงานมีรายได้มีทัศนคติ หรือความเชื่อว่า ไม่กลัว ไม่มี ไม่หนี ไม่ให้ เป็นอย่างนั้น จึงถามกลับไปว่า คุณภาพการศึกษาบ่มเพาะบัณฑิตออกมาเป็นแบบไหน” ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ธนิต ธงทอง อดีตรองอธิบการบดีด้านกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กยศ.เป็นกองทุนที่ให้โอกาสในด้านการศึกษา ซึ่งหากมองในแง่ดีจะพบว่า ร้อยละ 39 ที่ชำระหนี้ปกติ ผู้กู้ยืมกลุ่มนี้เป็นคนดีและเป็นคนที่มีโอกาสในสังคม ส่วนร้อยละ 61 ผิดนัดชำระหนี้ ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ผู้กู้ยืมกลุ่มนี้มีจิตสำนึกเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่า เด็กที่เข้าสู่มหาวิทยาลัย ย่อมเข้าใจกระบวนการกู้เงินค่อนข้างชัดเจนและรับรู้ภาระต้องจ่ายหนี้ในอนาคต
สุดท้ายผศ.ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสนอแนะกรณีที่ผู้กู้ยืมอยากชำระหนี้ มีความรับผิดชอบ แต่ทำไม่ได้จริง ๆ เพราะความยากจน ถามว่ารัฐไทยมีช่องทางอื่นหรือไม่ เอื้ออำนวยให้คนสุจริต แต่ไม่มีเงิน แต่ในบางประเทศใช้มาตรการให้ทำงานตอบแทนตามข้อตกลงกัน ไม่ได้จบลงแค่ผู้กู้ยืมกับผู้ค้ำประกันเท่านั้น หรือเลือกสร้างแรงจูงใจทางภาษี เป็นต้น จึงมองว่า การออกแบบการบริหารจัดการของไทยยังไม่เป็นธรรมเท่าที่ควร