- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- กรรมการสิทธิ์ฯ เผย ‘ผู้ลี้ภัยเด็ก’ ในกทม. ถูกกักกัน 40 คน อายุต่ำสุด 3 เดือน จี้รัฐเร่งปล่อยตัว
กรรมการสิทธิ์ฯ เผย ‘ผู้ลี้ภัยเด็ก’ ในกทม. ถูกกักกัน 40 คน อายุต่ำสุด 3 เดือน จี้รัฐเร่งปล่อยตัว
กรรมการสิทธิฯ เผยข้อมูล ‘ผู้ลี้ภัยเด็ก’ ใน กทม. มากถึง 40 คน อายุต่ำสุด 3 เดือน ต้องอยู่ใน ‘สถานกักกัน’ พร้อมครอบครัว จี้รัฐปล่อยตัว ให้สถานะรับรอง สนับสนุนเข้าถึงการศึกษา-บริการสุขภาพ ด้านองค์การช่วยเหลือเด็กฯ หวังตำรวจ ตม. เปิดทัศนคติใหม่ ผู้ลี้ภัยไม่ใช่คนทำผิด เเค่หนีความตายมาไทย หวังไปประเทศที่สาม
วันที่ 23 มิ.ย. 2561 องค์กรช่วยเหลือเด็กประจำประเทศไทย (Save the children) จัดเสวนา เปิดอนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย สู่การจัดการที่เหมาะสมของรัฐไทย เนื่องในวันสัปดาห์ผู้ลี้ภัยโลก ปี 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
น.ส.รติรส ศุภาพร ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการโยกย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่น องค์การช่วยเหลือเด็กระดับภูมิภาคเอเชีย เปิดเผยข้อมูลล่าสุดของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) ว่า ปัจจุบันไทยมีผู้ลี้ภัยในเมืองประมาณ 6,000 คน หนึ่งในนั้นเป็นเด็กสูงถึง 2,000 คน จากกว่า 50 ชาติพันธุ์ โดยร้อยละ 55 เป็นคนปากีสถาน ร้อยละ 10 เวียดนาม ร้อยละ 6 ปาเลสไตน์ และอีกกว่าร้อยละ 30 จากโซมาเลีย ซีเรีย อิรัก ศรีลังกา กัมพูชา จีน อิหร่าน ซึ่งกำลังจะไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม แต่ยังมีโอกาสน้อย โดยในปี 2561 มีผู้ลี้ภัยจากไทยไปตั้งถิ่นฐานใหม่ได้เพียงร้อยละ 5.5 จากจำนวนผู้ลี้ภัยในเมืองทั้งหมด
น.ส.รติรส กล่าวอีกว่า ผู้ลี้ภัยในเมืองต้องอยู่อย่างหลบซ่อน เพราะไม่ได้รับการรับรองสถานะจากทางการ ทำให้บางคนต้องพักอาศัยในห้องเล็ก ๆ ส่งผลกระทบเข้าไม่ถึงบริการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น การศึกษา การรักษาพยาบาล ทุกคนต้องอยู่ด้วยความกลัวว่าจะถูกจับกุม อย่างไรก็ตาม หากถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จะทำให้เด็กที่ติดตามมาได้รับผลกระทบตามไป เพราะไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อีกทั้งมีเด็กบางคนต้องถูกแยกให้ไปอยู่ชั่วคราวกับผู้อุปการะอื่นที่ไม่รู้จัก
“ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย ปี 2494 เพราะฉะนั้นการที่มีผู้ลี้ภัยเข้ามา ทำให้กลายเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ในขณะที่ ตม.สากล ระบุเป็นผู้ลี้ภัยจากสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ โดยทำร้าย แต่ประเทศไทยยังไม่มีการรับรองสถานะนี้ แตกต่างจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ไม่ได้อยู่ในรัฐภาคีเช่นกัน แต่กลับให้สถานะทางสังคมได้”
ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการโยกย้ายถิ่นฐานฯ กล่าวถึงข้อเสนอรัฐจะต้องช่วยเหลือเด็กที่ถูกกักกันใน ตม. ได้ออกมาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวและสังคมได้ ใช้แผนคัดกรองของรัฐที่ดำเนินการอยู่จะช่วยให้เด็กได้รับอิสระในการดำรงชีวิต เข้าถึงการศึกษา และบริการสุขภาพ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยให้คำมั่นสัญญาในการประชุมสุดยอดผู้นำเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ว่าจะทำให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงบริการต่าง ๆ เหล่านั้น สุดท้าย ครูและตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเปิดทัศนคติให้มากขึ้น มองคนกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้ทำความผิด แต่พวกเขาเป็นผู้หนีความตาย ความทารุณ มาพักพิงชั่วคราวในไทย เพื่อรอเดินทางไปยังประเทศที่สามเท่านั้น ดังนั้น รัฐต้องช่วยเหลือให้มากขึ้น
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุที่ผ่านมา กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยมาโดยตลอดและเคยมีข้อเสนอไปในกรรมการสิทธิฯ ชุดที่สอง แต่เป็นกรณีผู้ลี้ภัยค่ายอพยพ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลพบว่า เฉพาะในกรุงเทพฯ มีผู้ลี้ภัยเป็นเด็กมากถึง 40 คน อายุต่ำสุด 3 เดือน ต้องอยู่ในสถานกักกัน ตม. ที่คับแคบ และไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้ชีวิตเป็นเวลานาน ทั้งนี้ หลายคนไม่สามารถส่งตัวไปประเทศที่สาม หรือถูกผลักดันกลับประเทศต้นทางได้ เพราะมีอันตราย จึงต้องอยู่ในสถานกักกันต่อไปเรื่อย ๆ บางคนอยู่นานถึง 10 ปี แบบไม่มีอนาคต
“สถานรับเลี้ยงเด็ก (เดย์แคร์ เนิร์สเซอรี่) มีไม่เพียงพอ กับการที่เด็กทุกคนต้องเข้าเรียนและเรียนรู้ในการพัฒนาต่าง ๆ บางคนมีโอกาสเข้าศูนย์เดย์แคร์ไม่กี่ครั้งต่อเดือน” กรรมการสิทธิฯ กล่าว และว่า รัฐบาลร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ พยายามทำข้อตกลงนำเด็กออกมาอยู่ข้างนอกแทนการกักกัน แต่ปัญหาคือเด็กถูกกักกันพร้อมกับครอบครัว บางคนมากับแม่ บางคนมากับพ่อ บางคนมากับพี่ ฉะนั้นจำเป็นต้องให้เด็กออกมาอยู่กับครอบครัว
นางอังคณา กล่าวอีกว่า การนำเด็กออกมาจากสถานกักกันเพื่อมาอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์จะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ไปเลย เพราะอย่าลืมว่าเด็กทุกคนมีรากเหง้า จะลืมพ่อแม่ได้ ดังนั้นในมุมมองยืนยันว่า เด็กต้องอยู่กับครอบครัวเท่านั้น ส่วนเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในสถานกักกันยังไม่ได้มีรายงาน แต่สำหรับคนทำงานด้านผู้หญิงมานานจะทราบว่า เรื่องแบบนี้ซับซ้อนเกินกว่าจะบอกเล่าออกมาได้ อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชายมีโอกาสตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศได้ทั้งนั้น
ขณะที่ น.ส.ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ตัวแทนจากเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยยังไม่ให้สถานะหรือการยอมรับผู้ลี้ภัย ทำให้คนกลุ่มดังกล่าวกลายเป็นบุคคลเข้าเมืองผิดกฎหมาย ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เจ้าหน้าที่รัฐต้องจับกุมและนำเข้าสู่กระบวนการของศาลและถูกลงโทษฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย ก่อนจะถูกส่งกลับ ซึ่งสถิติทั่วโลกพบการส่งไปยังประเทศที่สามมีแค่ร้อยละ 0.1 เท่านั้น ในขณะที่สหรัฐฯ ลดจำนวนรับผู้ลี้ภัยลงอย่างมาก จากเดิมก่อนที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นประธานาธิบดี ประมาณ 8 แสนคน เหลือเพียง 1.5 หมื่นคน ในปัจจุบัน
สุดท้าย นางกรแก้ว พิเมย ผู้อำนวยการโครงการ Urban Education Project (UEP) องค์การเยสุอิตสงเคราะห์ผู้ลี้ภัย กล่าวถึงผู้ลี้ภัยในเขตเมืองส่วนใหญ่จะมาจากต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ดังนั้น จึงมีปัญหาเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมใหม่ รวมถึงภาษาไทย โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุระหว่าง 17-25 ปี ปรับตัวค่อนข้างยาก เพราะมีข้อจำกัดในการเรียนรู้ ดังนั้น ภาคประชาสังคม จึงแนะนำให้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ แทน เช่น ศูนย์การเรียนรู้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษและภาษาไทย .