- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ท้องถิ่น-สตง.ทะเลาะกันตลอดเวลา นักวิชาการมธ.ชี้ต้นเหตุกระจายอำนาจ ยังคาราคาซัง
ท้องถิ่น-สตง.ทะเลาะกันตลอดเวลา นักวิชาการมธ.ชี้ต้นเหตุกระจายอำนาจ ยังคาราคาซัง
ท้องถิ่น-สตง.ทะเลาะกันตลอดเวลา นักวิชาการมธ.ชี้ต้นเหตุกระจายอำนาจ ยังคาราคาซัง ด้านรองผู้ว่าฯ สตง.โอด ตกเป็นจำเลย ตรวจสอบท้องถิ่นแบบจับผิด ล้วงลูก ยันต่อไปนี้การตรวจสอบทุกเรื่องใช้บัญญัติ 7 ประการ
วันที่ 20 มิถุนายน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา ธรรมศาสตร์สู่สังคม ครั้งที่ 3 เรื่อง ท้องถิ่น VS สตง. กระบวนการการตรวจสอบจัดการท้องถิ่น ณ ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์
ศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. กล่าวถึงสถิติการร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในปี 2558 พบว่า มีจำนวนการร้องเรียน 1,318 เรื่อง ปี 2559 มีการร้องเรียน 1,250 เรื่อง และปี 2560 มีตัวเลขร้องเรียนอยู่ที่ 553 เรื่อง โดยสถิติการร้องเรียนมากที่สุด 30% เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง อีก 20% การใช้ตำแหน่งหาผลประโยชน์ และที่เหลือเป็นเรื่องของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร
ศ.ดร.โกวิทย์ กล่าวถึงการกระจายอำนาจ สู่ท้องถิ่นเป็นทางออกหนึ่งของการป้องกันการทุจริต แต่วันนี้สังคมไทยยังรวมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินไว้ที่ส่วนกลาง เราจึงเห็นการทุจริตที่มีต้นเหตุมาจากการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ทั้งโครงการอาหารกลางวันเด็ก ของสพฐ. และการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่ง และคนจน ของกระทรวงพม. เป็นต้น
“เราไม่ยืนยัน 100% ว่าท้องถิ่นจะบริหารงานได้บริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่โดยหลักการการจัดบริการสาธารณะนั้น ทั่วโลกกระจายภาระหน้าที่นี้ให้ท้องถิ่นทำ ส่วนท้องถิ่นจะคอร์รัปชั่นหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับบริบทและการตรวจสอบว่า เข้มข้นหรือไม่ เราจะเห็นข่าวการทุจริตของท้องถิ่นหลายเรื่องน้อยลง เพราะมีการตรวจสอบที่เข้มข้น ขณะที่ส่วนกลางมีหน่วยตรวจสอบน้อยกว่าท้องถิ่น” คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. กล่าว และว่า การตรวจสอบโดยประชาชน เชื่อว่า ทำให้ท้องถิ่นคอร์รัปชั่นได้ยากขึ้น
ศ.ดร.โกวิทย์ กล่าวถึงยุทธศาสตร์ชาติ หรือการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน พูดในลักษณะเยียวยาสิ่งที่สังคมขาด แต่ยังไม่ได้แตะเรื่องการทุจริต ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น จัดอันดับการคอร์รัปชั่นก็อยู่ในลำดับไม่เป็นที่น่าพอใจ ฉะนั้นต้องมีการปฏิรูปความคิดของคน สร้างค่านิยมไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น หาแบบอย่าง โดยเฉพาะผู้นำต้องประกาศเรื่องนี้ให้ชัดเจน เหมือนผู้นำสิงคโปร์ จีน
สำหรับกระบวนการตรวจสอบท้องถิ่นของสตง. คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. กล่าวว่า มาตรฐานการตรวจสอบของสตง.ยังมีปัญหา 2 มาตรฐาน ฉะนั้นต้องทำให้มีมาตรฐานเดียว ส่วนรัฐบาลก็ต้องทำเรื่องข้อบกพร่องของการกระจายอำนาจให้เรียบร้อย โดยเฉพาะความซ้ำซ้อนเรื่องอำนาจหน้าที่ในกฎหมายกว่า 200 ฉบับ ระหว่างส่วนราชการกับท้องถิ่น
โอดสตง.ตกเป็นจำเลย
ด้านนายมณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า ที่ผ่านมาสตง.ตกเป็นจำเลย ซึ่งเกิดจากการทำงานเชิงรุก โดยมีการเตือนท้องถิ่นก่อนมีการกระทำผิด เมื่อสตง.เข้าไปเสนอแนะ แต่ท้องถิ่นกลับมองว่า เราตรวจแบบจับผิดท้องถิ่น
“อย่างกรณีการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ปี 2557 สตง.มีแผนไปตรวจเรื่องวัคซีนทั่วประเทศ มีอัตรากำลัง 3 พันกว่าคน เราพบปัญหาการจัดซื้อวัคซีนพิษสุนัขบ้าเป็นอำนาจของใครกันแน่ที่ต้องเข้ามารับผิดชอบ เพราะเรื่องนี้มีอยู่ 3 กฎหมาย 1.เรื่องโรคระบาดเป็นของกรมปศุสัตว์ 2.โรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุขดูแล และ3.การป้องกันและระงับโรคติดต่อ เป็นหน้าที่ท้องถิ่น คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย เมษายน 2558 เกิดจากท้องถิ่นที่โคราช ที่ปกติกรมปศุสัตว์จะประกาศพื้นที่โรคระบาดพิษสุนัขบ้ามา 3 ปีติดต่อกัน แต่ปี 2557 ลืมประกาศ ดังนั้น ท้องถิ่นก็เข้าใจว่า กรมปศุสัตว์ประกาศจึงซื้อวัคซีนมาฉีด เมื่อสตง.ก็ถามมีอำนาจหน้าที่หรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยชัดเจนว่า เรื่องนี้อำนาจในการประกาศเขตควบคุมโรคระบาดเป็นอำนาจของกรมปศุสัตว์ แต่ท้องถิ่นเข้าใจว่า ทำได้ เพราะมีประกาศเขตโรคระบาด
ฉะนั้น หากกรมปศุสัตว์ หรือกระทรวงสาธารณสุขประกาศพื้นที่โรคระบาด เขตโรคติดต่อ ท้องถิ่นสามารถฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าได้ฟรี สุนัขตัวไหนไม่มีเจ้าของ ไม่มีใครดูแลท้องถิ่นจับมาทำหมัน ฉีดวัคซีนได้หมด แต่หากสุนัขไหนมีเจ้าของสุนัขนั้นอยู่ภายใต้พ.ร.บ.สัตว์เลี้ยง เจ้าของมีหน้าที่นำสัตว์ไปฉีดวัคซีนป้องกันทุกปี และท้องถิ่นสามารถเก็บค่าธรรมเนียมการฉีดวัคซีนได้ นี่คืออำนาจหน้าที่ บางอำนาจไม่ได้กระจายลงมามีอำนาจเฉพาะในกฎหมายแต่ละฉบับ เวลาดูต้องดูให้ชัด จะเห็นว่า หลังจากปี 2558 สตง.ไม่เคยทักทวงการจัดซื้อวัคซีนของท้องถิ่นอีกเลย”
รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน สตง.มีข้อบัญญัติ 7 ประการ หรือคู่มือแนวปฏิบัติเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่าง สตง.กับท้องถิ่น ซึ่งต่อไปนี้ทุกเรื่องของท้องถิ่น การตรวจสอบจะใช้หลัก 7 ประการนี้
สำหรับกรอบแนวคิดใช้จ่ายเงินแผ่นดินนั้น รองผู้ว่าฯ สตง. กล่าวว่า การใช้จ่ายเงิน เป็นเรื่องเอกสารหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรสำคัญ จะทำย้อนหลัง หรือทำเอกสารเท็จ ผิดปกติไม่ได้ เพราะสตง.จะตรวจสอบจากเอกสาร หลักการ คือ ทำเอกสารถูก เรื่องความผิดทางอาญา หรือทุจริตก็จะน้อยลง
“หลักการท้องถิ่นคือจัดการบริการสาธารณะให้กับประชาชนในท้องถิ่น เมื่อไหร่เอาเงินทำเพื่อตัวเองไม่ใช่บริการสาธารณะ ดังนั้นเรื่องท้องถิ่นจะทำคือเรื่องจัดบริการสาธารณะ สตง.ดูเรื่องอำนาจ และต้องเป็นเรื่องส่วนรวมไม่ใช่ปัจเจก”
ด้านนายบุญญภัทร์ ชูเกียรติ ผอ.ศูนย์การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่ง มธ. กล่าวว่า กระบวนการตรวจสอบท้องถิ่นของสตง.ที่มีปัญหามากที่สุด คือการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของท้องถิ่น ซึ่งการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายบางเรื่องไม่ใช่เรื่องทุจริต อาจบกพร่องเล็กน้อย หรือตีความผิด เราต้องให้ความเป็นธรรมแก่ท้องถิ่นด้วย
“การที่ท้องถิ่นใช้จ่ายเงินไม่เป็นตามกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่า ท้องถิ่นจะทุจริตไปทุกเรื่อง ประกอบกับมีปัญหาความเข้าใจไม่ตรงกันทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่าง สตง.กับท้องถิ่น”
นายบุญญภัทร์ กล่าวว่า ท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ได้ตามกฎหมาย 3 ฉบับ คือ กฎหมายจัดตั้ง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ และกฎหมายอื่น ที่ให้อำนาจท้องถิ่น ในส่วนของพ.ร.บ.แผนฯ มีปัญหามาก อำนาจไม่ได้โอนสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ยังคาราคาซังจะโอนไปให้ท้องถิ่นจะไปหรือไม่ไป ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของสตง.
ทั้งนี้ นายบุญญภัทร์ กล่าวถึงระเบียบการเบิกจ่ายของท้องถิ่นด้วยว่า เมื่อท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่นั้นแล้ว จริงๆ ท้องถิ่นต้องมีอำนาจในการเบิกจ่ายด้วย แต่การเบิกจ่ายอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
“วันนี้กระทรวงมหาดไทยยังออกระเบียบให้กับท้องถิ่นไม่ครบ ทำให้ต้องมีการตีความกันมาก โดยเฉพาะกรณีกระทรวงมหาดไทยออกข้อกำหนดวิธีการ และกรอบการเบิกจ่ายเงิน โดยหนังสือสั่งการ เพื่อวางแนวปฏิบัติให้ท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยให้ท้องถิ่นสามารถเบิกจ่ายเงินไปตามหนังสือสั่งการได้ แต่สตง.เห็นว่า หนังสือสั่งการไม่ใช่ระเบียบทางราชการ เป็นแค่แนวปฏิบัติ สตง.จึงไม่รับให้เบิกจ่ายตามหนังสือสั่งการ เรื่องนี้จะโทษสตง.ก็ไม่ได้ อาจต้องเรียกร้องไปยังกระทรวงมหาดไทยให้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ออกระเบียบให้ท้องถิ่น ” นายบุญญภัทร์ กล่าว และว่า ระเบียบการเบิกจ่ายของท้องถิ่น เป็นอีกปัญหาที่กระทบการทำงานของท้องถิ่น กรณีวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าข่าวดังก็เกิดจากปัญหาความไม่ชัดเจนเรื่องอำนาจของท้องถิ่น ด้วยเช่นกัน ฉะนั้นรัฐบาลควรมีความจริงใจในการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น