- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- กยท. – กลุ่มการยาง รับลูกดันโครงการหนุนใช้ยางพารา สนองภาครัฐ
กยท. – กลุ่มการยาง รับลูกดันโครงการหนุนใช้ยางพารา สนองภาครัฐ
กยท. หนุนโครงการแก้ราคายางตกต่ำ ชี้เป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรรวมกลุ่ม เข้าถึงท้องถิ่น พร้อมดำเนินโครงการทันทีตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง
ตามที่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้จัดทำหนังสือด่วนสุด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่องซักซ้อมการใช้จ่ายเงินสะสมจากการประชุมโครงการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ สนับสนุนโครงการที่มีส่วนใช้ยางพารา โดยในตอนหนึ่ง ระบุไว้ว่า สำหรับแบบรูปรายการงานก่อสร้าง เอกสารเชิญชวน และสัญญาต้องระบุให้คู่สัญญาซื้อยางพาราจากการยางแห่งประเทศไทย หรือกลุ่มที่การยางแห่งประเทศไทยให้การรับรองนั้น (อ่านประกอบ:ให้ทัน 20 เม.ย. กรมส่งเสริมฯ ซักซ้อมแนวปฏิบัติ ทำโครงการที่ใช้ยางพาราเป็นส่วนประกอบ)
ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงการเตรียมความพร้อมและแนวทางของ กยท. ในการดำเนินตามนโยบายดังกล่าวว่า เป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐที่ส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการซื้อยางพาราภายในประเทศ โดย กยท.ในฐานะผู้มีทำหน้าที่โดยตรงในการรวบรวมวัตถุดิบ ได้แก่ ยางพารา ให้ได้ใช้ประโยชน์สูงสุด และช่วยรักษาเสถียรภาพราคายางให้เกษตรกร
“ตามนโยบายแก้ไขปัญหาราคายางของรัฐบาล จะเห็นได้ว่า ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามารับซื้อยาง เพื่อสร้างความต้องการใช้ยางให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้ประโยชน์โดยตรงต่อตัวเกษตรกร จากเดิม กยท. เป็นผู้รวบรวมยางจากเกษตรกรเพียงผู้เดียว ซึ่งอาจไม่สะดวกต่อคู่สัญญาในการดำเนินโครงการ กระบวนการนี้จึงเปิดโอกาสให้คู่สัญญาเข้าไปติดต่อซื้อและทำสัญญาโดยตรงกับกลุ่มเกษตรกร หรือที่เรียกว่า กลุ่มการยาง ที่เข้ามาสมัครและได้รับการรับรองจาก กยท.”
ดร.ธนวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมถึงกลุ่มการยางว่า เป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ ทั้งกลุ่มเดิมที่จดทะเบียนอยู่แล้วหลายร้อยแห่งตามจังหวัดต่างๆ โดยมีบัญชีแนบท้ายว่าเป็นชื่อกลุ่มใด และหมายรวมถึงกลุ่มที่จะเข้ามาสมัครใหม่กับ กยท. ตามที่ภาครัฐได้ส่งเสริมให้ภาคเกษตรมีความเข้มแข็ง เกิดการรวมกลุ่ม ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและการรวมกลุ่มของสหกรณ์ตามทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 ตามศาสตร์พระราชา
สำหรับรายละเอียด ขั้นตอนที่ คู่สัญญา หรือ อปท.จะดำเนินโครงการตามนโยบายดังกล่าว ดร.ธนวรรธน์ ชี้แจงว่า ขณะนี้เป็นช่วงวางหลักเกณฑ์ของการทำงาน ตามที่ได้มีการทำหนังสือซักซ้อม วางระเบียบต่างๆ โดยในส่วนของ กยท. จะมีรายละเอียดเบื้องต้นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. กรณีคู่สัญญาติดต่อมาทาง กยท. สามารถพิจารณาและทำการส่งมอบตามคุณสมบัติและระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานคู่สัญญา
2. ทำการชี้แจงในกรณีมีผู้สอบถามถึงข้อสงสัยต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับ กยท. โดยชี้แจงทั้งในระดับหน่วยงานกลางและในระดับจังหวัด เนื่องจากมี กยท. 45 จังหวัดทั่วประเทศ
3. กยท.ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติและส่งเสริมเรื่องยางพาราทั้งระบบ พร้อมประสานงานโดยรวม กรณีหากมีคู่สัญญาจากกระทรวงต่างๆ มาขอรายละเอียดทำความเข้าใจเกี่ยวกับการรับซื้อ หรือการส่งมอบ เพื่อให้คู่สัญญาได้ใช้ยางที่มีคุณภาพตามมาตรฐานและมีความคล่องตัวในการส่งมอบตามกำหนดเวลา
4. รูปแบบหลักๆ ของโครงการที่คู่สัญญา หรือ อปท.จะสามารถใช้ประโยชน์จากยางพารา ได้แก่ ถนน ฐานบ่อน้ำ ลานกีฬา การพัฒนาอุปกรณ์หรือสถานที่ต่างๆ เช่น โรงเรียน ตามหลักเกณฑ์หรือระเบียบราชการของ อปท.
รักษาการผู้ว่าฯ กยท. กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานข้อมูลการติดต่อจากคู่สัญญามายัง กยท. แต่อาจจะมีการติดต่อผ่าน กลุ่มการยาง หรือกลุ่มเกษตรกรโดยตรงในพื้นที่แล้ว ซึ่ง กยท. และกลุ่มการยาง พร้อมที่จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ หรือคุณสมบัติที่คู่สัญญาต้องการ ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติต้องรอดูความชัดเจนจากภาครัฐเป็นระยะๆ แต่ในเบื้องต้นก็เล็งเห็นความจริงจังของหน่วยงานภาครัฐที่วางกฎระเบียบต่างๆ เพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดการใช้ยางพาราออกมาเป็นลำดับๆ