- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ดร.ดวงมณี เสนอยกเว้นภาษีที่ดินฯ บ้านหลังหลัก ไม่ควรเกิน 5 ล.
ดร.ดวงมณี เสนอยกเว้นภาษีที่ดินฯ บ้านหลังหลัก ไม่ควรเกิน 5 ล.
‘ดร.ดวงมณี’ เผยข้อมูลล่าสุด อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามร่าง พ.ร.บ.ใหม่ เกษตรกรรม ไม่เกิน 0.15% ที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 0.3% อื่น ๆ ไม่เกิน 1.2% เสนอยกเว้นภาษีบ้านหลังหลัก ควรไม่เกิน 5 ล. จี้ สนช.-รบ. เร่งผ่าน กม. เลิกเห็นแก่กลุ่มประโยชน์ที่มีอำนาจต่อรองมากกว่า ปชช.
วันที่ 2 เม.ย. 2561 คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จัดเสวนาภายใต้โครงการเศรษฐกิจไทย (TEF) ครั้งที่ 13 เรื่อง อัดฉีด เก็บภาษี ช่วยใคร ณ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ซึ่งคาดว่าจะจัดเก็บในปี 2562 ว่า บัญญัติขึ้นเพื่อใช้แทนภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ และการจัดเก็บภาษีในกฎหมายฉบับใหม่ให้เป็นไปตามหลักการได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีทรัพย์สินให้มีความทันสมัยและเป็นสากลเช่นเดียวกับนานาประเทสและแก้ไขโครงสร้างภาษีเดิม กระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพิ่มความเป็นอิสระและการเก็บภาษีให้กับ อปท. เพราะจะเป็นรายได้หลัก รวมถึงสร้างความเข้มแข็งและความโปร่งใสในการบริหารการคลังของ อปท.
นักวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวต่อว่า สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ คือ ผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เจ้าของห้องชุด และครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของรัฐ จะเป็นผู้เสียภาษี ซึ่งอัตราภาษีนั้น จะแบ่งการจัดเก็บตามประเภทการใช้ประโยชน์ ล่าสุดนั้น
-เกษตรกรรม ไม่เกิน 0.15%
-ที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 0.3%
-อื่น ๆ ไม่เกิน 1.2%
กรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ จะต้องจัดเก็บในอัตราเหมือนกับประเภทอื่น ๆ ก่อน และจะเพิ่มอัตราภาษี 0.3% ทุก 3 ปี แต่อัตราเพดานไม่เกิน 3% อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การจัดเก็บภาษีจริงจะต่ำกว่าอัตราเพดานที่กำหนดไว้
ผศ.ดร.ดวงมณี ยังกล่าวถึงกรณีการยกเว้นภาษี จะได้รับการยกเว้นให้กับบ้านหลังหลัก ไม่เกินมูลค่าที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันยังระบุชัดไม่ได้ เนื่องจากตัวเลขยังไม่นิ่ง ล่าสุดอยู่ที่ 20 ล้านบาท แต่อาจจะไม่ใช่ก็ได้ นอกจากนี้ที่ดินเกษตรของบุคคลธรรมดาจะได้รับการยกเว้นภาษีด้วย แต่จำนวนเท่าไหร่ ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเช่นกัน
“การเก็บภาษีที่ดินจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ อปท. เพราะระบบเดิมสามารถจัดเก็บได้น้อยมาก เพราะฉะนั้นหากต้องการให้ อปท. เกิดอิสระทางการคลัง รายได้จัดเก็บเองควรจะมีมากขึ้นด้วย แต่ปัจจุบันรายได้ของท้องถิ่นมีไม่ถึง 10% ของรายได้ทั้งหมดของท้องถิ่น” นักวิชาการ เศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าว และว่า ยังพบอุปสรรคร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ มีข้อลดหย่อนค่อนข้างมาก จึงตอบไม่ได้เช่นกันว่า รายได้ของ อปท. จะเพิ่มขึ้น หรือลดลงมากเพียงใด เพราะบางท้องถิ่นอาจลดลง บางท้องถิ่นอาจเพิ่มขึ้น
ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวอีกว่า การจัดเก็บภาษีในร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ เป็นอัตราก้าวหน้าตามมูลค่าของสิ่งปลูกสร้างและที่ดิน จึงไม่มีลักษณะถดถอยเหมือนภาษีบำรุงท้องที่ ช่วยให้เกิดการกระจายอำนาจทางการคลัง เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน นำไปสู่กลไกสำคัญทำให้ภาคประชาชนต้องหันมาสนใจมากขึ้นว่า เมื่อเสียภาษีให้ท้องถิ่นแล้ว อปท.มีการพัฒนาอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดกระบวนการรับผิดรับชอบและประชาธิปไตยจากฐานรากด้วย
ส่วนภาษีที่ดินฯ มีผลต่อการกระจายการถือครองหรือไม่ นักวิชาการ เศรษฐศาสตร์ มธ. ระบุว่า ต้องมาศึกษากันว่าจะจัดเก็บอัตราเท่าไหร่ หากไม่สูง เมื่อเทียบกับราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินกรมธนารักษ์ ปี 2559-62 ราคาที่ดินทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 6.25% ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3.95% ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ มีการจัดเก็บภาษีจริงในอัตราสูงสุด 3% ดังนั้น จึงลดการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไรได้น้อย เพราะราคาที่ดินแต่ละปียังสูงกว่าราคาการเสียภาษีที่ดินฯ
ทั้งนี้ มีข้อเสนอเชิงนโยบายว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ไม่ควรมีการยกเว้นหรือลดหย่อนจำนวนมาก เพราะจะเกิดช่องโหว่ทางกฎหมาย แต่ควรเก็บภาษีในอัตราต่ำ สำหรับฐานภาษีที่มีมูลค่าน้อย เพื่อไม่ให้เกิดภาระภาษีที่มากจนเกินไป กรณีหากจะยกเว้นภาษีให้กับบ้านหลังหลัก สำหรับผู้ที่มีกำลังในการจ่ายภาษีน้อย ควรอยู่ไม่เกิน 5 ล้านบาท เพราะเป็นมูลค่าที่อยู่อาศัยที่คนส่วนใหญ่เป็นเจ้าของ และไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับผู้ที่มีบ้านเกิน 1 หลัง แต่ต้องเสียภาษีบ้านหลังถัดไป
ขณะที่การยกเว้นภาษีที่ดินภาคเกษตร ควรเป็นการดูแลเกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีกำลังจ่ายภาษีต่ำ การยกเว้นไม่เก็บภาษีที่ดินเกษตรหรือยกเว้นในมูลค่าที่สูงเกินไป ถือเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนที่ถือครองที่ดินจำนวนมากที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าหลีกเลี่ยงภาษีมาสู่ช่องทางนี้ เพราะการยกเว้นภาษีในมูลค่าสูงไม่ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้ชัดเจนมากขึ้น
นอกจากนี้การกำหนดอัตราภาษีต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม ตอบวัตถุประสงค์ได้ เช่น อัตราภาษีสำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่า หากเป็นอัตราที่ต่ำเกินไป จะไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการใช้ที่ดินได้ เพราะราคาที่ดินเพิ่มขึ้นในแต่ละปี อัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ 5-6% ส่งผลให้มีการสะสมที่ดินเพื่อเก็งกำไร เนื่องจากต้นทุนถือครองต่ำ
รัฐบาลและ อปท.ควรทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ภาษีที่ดินฯ จะมีการจัดเก็บนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในแต่ละท้องถิ่นอย่างไร และประชาชนสามารถตรวจสอบได้
“สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรัฐบาลต้องแสดงความจริงใจและเห็นแก่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและประเทศระยะยาว โดยผ่านร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ และไม่เห็นแก่กลุ่มประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งมีอำนาจการต่อรองในระดับบนมากกว่าประชาชนที่จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาท้องถิ่นในอนาคต” ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวในที่สุด .