- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- อธิการบดี ปัดข่าวปี 61 ปิดสาขาวิทยบริการ ม.รามคำแหง
อธิการบดี ปัดข่าวปี 61 ปิดสาขาวิทยบริการ ม.รามคำแหง
ผศ.วุฒิศักดิ์ ยันม.รามคำแหง มีสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ อยู่ทั่วประเทศ 23 แห่ง จัดการเรียนการสอนปกติ ในชั้นปริญญาตรี ชี้สกอ.ไม่เคยท้วงติง ทั้งมาตรฐานหลักสูตร- สัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษา และไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด พร้อมโชว์ป.ป.ช.ยกรามคำแหงมีคะแนนความโปร่งใส อันดับ 2 ของประเทศ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงกระแสข่าวว่า ในปี 2561 ด้วยเกณฑ์มาตรฐานของสกอ. ทั้งเรื่องมาตรฐานหลักสูตร สัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษา อาจส่งผลให้ต้องมีการปิดสาขาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงว่า ไม่เป็นความจริง ปัจจุบันมหาวิทยาลัยรามคำแหงมีสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ ที่อยู่ตามต่างจังหวัดทุกภาคของประเทศไทยทั้งหมด 23 แห่ง ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นตลาดวิชา หมายความว่า นักศึกษาที่มาเรียนที่รามคำแหงที่อาจอยู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ยะลา อุบลราชธานี ถึงเวลามาสอบที่ส่วนกลาง หรือที่สาขาวิทยบริการฯ ก็ได้ ในจังหวัดใกล้บ้าน ดังนั้นเราไม่ได้กำหนดให้ต้องมาสอบที่กรุงเทพอย่างเดียว
"อดีตผู้บริหารได้พยายามหาทางแก้ไขปัญหานักศึกษาที่อยู่จังหวัดไกลๆ จึงได้มีการจัดตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติขึ้น ปัจจุบันมีการจัดการเรียนการสอนตามปกติ ในชั้นปริญญาตรี ในทุกสาขาวิทยาบริการฯ ซึ่งสกอ.ก็ไม่เคยท้วงติง เพราะเข้าใจมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นระบบตลาดวิชา" ผศ.วุฒิศักดิ์ กล่าว และยืนยันถึงมาตรฐานหลักสูตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่ได้มีปัญหา รวมถึงสัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษาก็ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด
ส่วนการจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ชั้นปริญญาโท อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ได้ปรับตัวมา 2 ปีแล้ว ยกตัวอย่าง สาขาบริหารการศึกษา ซึ่งมีปัญหามากๆ นั้น เพราะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของใบประกอบวิชาชีพ อีกทั้งยังมีเกณฑ์ของคุรุสภาที่ตั้งไว้ ดังนั้น มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีการดำเนินการทั้งเรื่องจำนวนอาจารย์ต่อนักศึกษา ให้ได้ 1: 15 เราได้ตามนั้น รวมถึงการลดจำนวนการรับนักศึกษาปริญญาโท บางคณะด้วย
ผศ.วุฒิศักดิ์ ยังกล่าวถึงการปรับตัวของมหาวิทยาลัยรามคำแหงให้เท่าทันโลกและตลาดแรงงานว่า หลายเรื่องดำเนินการให้เข้ากับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 พัฒนามหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ทั้งคณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะทัศนมาตรศาสตร์ พยายามผลิตคนให้มีความรู้ความสามารถป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน
"คณะวิศวกรรมศาสตร์ ขณะนี้ให้นโยบายเน้นระบบราง ไปพัฒนาหลักสูตรว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหงจะทำได้แค่ไหน เบื้องต้นมีการไปร่วมมือกับสภาวิศวกร และอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งได้มีการลงนามความร่วมมือไปแล้ว รวมถึงเรื่องหุ่นยนต์ นี่คือการปรับตัวและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้เข้ากับยุทธศาสตร์ชาติ"
อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึงจำนวนนักศึกษาที่ลดลง สถานการณ์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่ได้แตกต่างจากสถาบันการศึกษาแห่งอื่นๆ ภาพรวมแทบทุกแห่งนักศึกษาลดลง รามคำแหงก็เช่นกันลดไป 15-20% ซึ่งไม่ได้กระทบมาก เพราะนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแห่งส่วนหนึ่งจบชั้นมัธยมปลาย และอีกส่วนอยู่ในตลาดแรงงานอยู่แล้ว และมาเรียน หรือคนที่ต้องการวุฒิการศึกษา ก็จะมาเรียน ทั้งคณะนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เป็นต้น
"บางเรื่องที่เราทำขณะนี้ เช่น ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง กับความเข้มงวดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างฯ จึงให้คณะรัฐศาสตร์ เป็นคณะที่ออกไปอบรมให้กับข้าราชการ และบุคลากรของท้องถิ่น ให้เห็นความสำคัญและมีความรู้กฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่"
ทั้งนี้ ผศ.วุฒิศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า มีข่าวดีปีนี้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) จัดอันดับให้มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีคะแนนความโปร่งเป็นลำดับ 2 ของประเทศ