- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- จันทบุรีแซงขึ้นอันดับ 1 สถิติมีคนฆ่าตัวตาย -ทั้งประเทศ 4 พันคน/ปี
จันทบุรีแซงขึ้นอันดับ 1 สถิติมีคนฆ่าตัวตาย -ทั้งประเทศ 4 พันคน/ปี
เปิดสถิติการฆ่าตัวตายในไทย พบปีละ 4,000 คน หรือเดือนละ 340 คน เฉลี่ยทุกๆ 2 ชั่วโมงมีคน ฆ่าตัวตาย 1 คน โดยช่วงเวลาแห่งความสุข มีนาคม เมษายน ทุกปี และช่วงปีใหม่ กลายเป็นเดือนมีคนอยากฆ่าตัวตายมากสุด อึ้งจันทบุรีนำโด่ง แซงหน้าลำพูนจากก่อนครองแชมป์
ทุกวันที่ 10 กันยายน ของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันสำคัญคือ วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) ผศ.นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวถึงสถานการณ์การป้องกันกาฆ่าตัวตายในประเทศไทย ที่ผ่านมาช่วงที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง คือ วิกฤตต้มยำกุ้ง (economic crisis) ซึ่งรัฐบาลให้ความสนใจ จนเริ่มมีการเก็บข้อมูล และมีโครงการป้องกันการฆ่าตัวตายขึ้นมาในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันการเก็บรวบรวมสถิติการฆ่าตัวตายของประเทศไทยเก็บจากใบมรณะบัตร อายุ เพศ และวิธีการ พบว่า คนไทยฆ่าตัวตายปีละ 4,000 คน หรือเดือนละ 340 คน ทุกๆ 2 ชั่วโมงเฉลี่ยมีคน ฆ่าตัวตาย 1 คน
"ขณะที่ปี 2558 คนไทยมีอัตราการฆ่าตัวตาย 6.47 คนต่อประชากรแสนคน ปี 2559 เหลือ 6.35 คนต่อประชากรแสนคน " ผศ.นพ.ณัฐกร กล่าว และว่า จากสถิติ ยังพบว่า เดือนที่มีคนฆ่าตัวตายมากที่สุด คือ มีนาคม เมษายน ทุกปี และช่วงปีใหม่
ผศ.นพ.ณัฐกร กล่าวถึงสมมติฐานที่ระบุถึงสาเหตุมีนาคม เมษายน ทุกปี และช่วงปีใหม่ มีคนฆ่าตัวตายมาก ทั้งๆ เป็นช่วงเทศกาลแห่งความสุขที่คนส่วนใหญ่กลับบ้าน เยี่ยมพ่อแม่ พี่น้อง แต่ก็มีบางบ้านที่ลูกหลานไม่กลับ มีคนสูงอายุอยู่โดดเดี่ยว มีหลายโมเดลที่น่าทำการศึกษาเกิดอะไรในช่วงเวลาดังกล่าว
"ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสถิติการฆ่าตัวตาย ที่ 1 คือภาคเหนือตอนบน จังหวัดลำพูน แต่ปี 2559 ไม่ใช่ภาคเหนือตอนบน คือ จังหวัดจันทบุรีแซงขึ้นมาอันดับ 1 ขณะที่ภาคกลางก็เริ่มแซงขึ้นมาติดๆ"
เมื่อแยกเพศการฆ่าตัวตาย พบว่า ผู้หญิงมีความพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้ชาย 4 เท่า แต่ไม่สำเร็จ แตกต่างจากผู้ชายพยายามฆ่าตัวตายและพบว่า ทำสำเร็จมากกว่าผู้หญิง ทั้งที่มีความพยายามน้อยกว่า แต่ด้วยวิธีการที่เลือกใช้ ซึ่งส่วนใหญ่ขณะกระทำการผู้ชายจะอยู่ในภาวะมึนเมา
ส่วนวัยที่พบมากที่สุด คือช่วงวัยทำงาน 35-39 ปี รองลงมา เป็นผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้้นไป ซึ่งวิธีการที่พบมากคือการแขวนคอถึง 70% อันดับสอง กินยาฆ่าวัชพืช
ผศ.นพ.ณัฐกร กล่าวถึงกรณีที่ไต้หวันที่อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 16 ต่อประชากรแสนคนนั้น พบว่า การกินยาฆ่าวัชพืชเป็นวิธีที่พบมากที่สุด รองลงมาจากวิธีการสำลักควัน จนมีกฎหมายห้ามนำเข้ายาปราบวัชพืช ที่คนนิยมนำไปฆ่าตัวตาย
"โรคซึมเศร้าไม่ใช่ต้นเหตุทั้งหมดของการฆ่าตัวตาย บางประเทศเป็นสาเหตุหลัก ประเทศไทยอาจไม่ใช่ คือ ความขัดแย้งจากคนใกล้ชิด มีปัญหาจิตเวชมาก่อน โรคซึมเศร้าเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ปัจจัยที่สำคัญมากทำให้คนฆ่าตัวตายสำเร็จ เป็นการฆ่าตัวตายซ้ำ มีประวัติการทำร้ายตัวเองมาก่อน"
ผศ.นพ.ณัฐกร กล่าวว่า การเก็บข้อมูลของรพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ยังพบว่า มีกลุ่มพยายามฆ่าตัวตาย ทำซ้ำจนสำเร็จประมาณ 6% ซึ่งไม่ใช่ทำครั้งแรก ฟังดูเหมือนไม่มาก คิดเป็นจำนวนคนประมาณ 300 คน หรือ 0.5% หากประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตาย 6.5 คนต่อประชากรแสนคน หากมีความพยายามป้องกันคนฆ่าตัวตาย หรือไม่ให้ฆ่าตัวตายซ้ำภายใน 1 ปี เราจะลดคนตายได้ถึงปีละ 300 คน
สำหรับคนที่มีประวัติการทำร้ายตัวเองมาก่อน 12.6% พบว่า เขาจะกลับไปทำซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ตัวเลขเชิงวิชาการจะพบตัวเลขมากกว่านี้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า คนที่มีประวัติการทำร้ายตัวเอง 20 คน จะมี 1 คนทำสำเร็จ บริบทไทยๆ 10 กรณี ก็เจอ 1 คนทำสำเร็จ
"ฉะนั้นการวินิจฉัยของแพทย์สำคัญมาก เปรียบเหมือนการกดปุ่มเครื่องให้สตาร์ท เพราะมีกระบวนการติดตามเฝ้าระวังไม่ให้ทำร้ายตัวเอง การไปเยี่ยมบ้าน หากแพทย์ไม่วินิจฉัยไม่กดปุ่ม ปัญหาก็จะเกิดขึ้น"
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกรายงานว่า เมื่อมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จหนึ่งคนจะมีผู้ได้รับผลกระทบอย่างน้อย 6 คนขึ้นไป ดังนั้นใน 1 ปีจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากการฆ่าตัวตายโดยตรงอย่างน้อย 24,000 คน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่พี่น้องญาติเพื่อน และพบว่า 10% ของผู้ที่ได้อ่าน ฟังข่าวจะเกิดความสะเทือนใจเศร้าเสียใจตามไปด้วย ดังนั้นข่าวการฆ่าตัวตายจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อผู้รับข่าว ดังนั้น เมื่อสื่อมวลชนลงข่าวการฆ่าตัวตายขอให้มีประโยคทิ้งท้ายไว้ว่า "เมื่อมีปัญหาชีวิตโปรดโทรปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323" หรือดาวโหลดแอพลิเคชั่น SabaiJaiสำหรับป้องกันและช่วยเหลือผู้ที่เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง