- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- เวทีประชาพิจารณ์ทะลัก ยื่นกว่าพันรายชื่อ ค้านสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ถ.สนามบินน้ำ
เวทีประชาพิจารณ์ทะลัก ยื่นกว่าพันรายชื่อ ค้านสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ถ.สนามบินน้ำ
เวทีประชาพิจารณ์ทะลัก ยื่นกว่าพันรายชื่อ ค้านสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ถ.สนามบินน้ำ ฉะการศึกษาผลกระทบบิดเบือนข้อมูล หลังพบในแผนที่ชุมชนประชานิเวศน์ 3 หลายพันครัวเรือนหายไป ไม่ปรากฎเป็นหมู่บ้าน
วันที่ 17 สิงหาคม กรมทางหลวงชนบท จัดประชุมสัมมนาโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี ณ ห้องรัตนาธิเบศร์ชั้น 1 โรงแรมนนทบุรี พาเลซ โดยมีนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวเปิดงาน
นายนิสิต กล่าวถึงโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนสนามบินน้ำ เชื่อว่ามีผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนสูง มีทั้งคนได้คนเสียมากมาย ดังนั้นดีใจที่มีประชาชนมาร่วมเวทีกันจำนวนมาก เพื่อระดมความคิดเพื่อให้ข้อมูลแก่ภาครัฐมากที่สุด
สำหรับข้อควรระมัดระวังในการศึกษาความเหมาะสมของโครงการนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า การศึกษาดำเนินการโดยบริษัทเอกชน การรับฟังทำโดยเอกชน ฉะนั้นข้อพึงระวังคือการมุ่งความสำเร็จในการทำโครงการ จึงอยากให้กรมทางหลวงชนบทใส่ใจรายละเอียดในการดำเนินงาน "โครงการใหญ่ๆ แบบนี้มีผลกระทบต่อประชาชนวงกว้าง จำเป็นต้องฟังความรอบด้าน ทั้งผลกระทบด้านสังคม เศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่"
นายนิสิต กล่าวถึงการจราจรบริเวณถนนงามวงศ์งานมีรถยนต์ผ่านไปมากว่า 2.5 แสนคันต่อวัน และการเติบโตของจังหวัดนนทบุรียังมีโครงการใหม่ๆ ถาโถมเข้ามาที่นี่จำนวนมาก อีก 5 ปีข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วงที่เชื่อมระหว่างสายสีม่วงกับสายสีน้ำเงิน,รถไฟฟ้าสายสีชมพู เริ่มดำเนินการปลายเดือนสิงหาคมนี้, มีโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินบริเวณถนนติวานนท์,โครงการทำถนนเชื่อมจากสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ไปยังถนนกาญจนาภิเษก และศาลายา,โรงเผาขยะ มูลค่า 4 พันล้านบาท เป็นต้น
ส่วนโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนสนามบินน้ำ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า อยากให้กรมทางหลวงชนบทเข้าดูแลระบบการระบายน้ำ หรือออกแบบร่วมกับเทศบาลนคร หรือองค์การบริหารส่วนตำบล และมีการทำเส้นทางเชื่อมโยงถึงทางด่วนและถนนวิภาวดี มิเช่นนั้นการจราจรก็จะติดแยกแคราย ถนนงามวงศ์งานเช่นเดิม เพราะเป็นทางเชื่อมกับกรุงเทพมหานคร
ในส่วนของบรรยากาศเวทีประชาพิจารณ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อผู้ว่าฯ นนทบุรีกล่าวจบได้เกิดความวุ่นวายขึ้นเล็กน้อย เมื่อมีตัวแทนชุมชนประชานิเวศน์ 3 นำรายชื่อกว่า 1 พันรายชื่อ ยื่นหนังสือถึงนายกเทศมนตรีนครนนทบุรี คัดค้านโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี จนเจ้าหน้าที่ต้องขอเวลา 30 นาทีเพื่อให้ได้ชี้แจงภาพรวมโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี รวมถึงผลการศึกษาทั้งหมดก่อน
จากนั้นเวทีชี้แจง ดำเนินต่อไป โดยระบุรายละเอียดการคัดเลือกเส้นทางที่เหมาะสมจาก 4 ทางเลือก นั้น ปรากฎว่าทางเลือกที่ 1 ได้ 67.82 จาก 100 คะแนน ซึ่งเป็นทางเลือกที่ได้คะแนนมากที่สุด ซึ่งทางเลือกที่ 1 ที่มีการศึกษาว่า เป็นเส้นทางเหมาะสมทางวิศวกรรมนั้น เริ่มต้นจากใกล้กับวัดบัวขวัญตรงบริเวณทางด่วน ตัดตรงผ่านชุมชนประชานิเวศน์ 3 ตัดเทศบาลนครนนทบุรี ถึงถนนสนามบินน้ำ วิ่งตรงผ่านแยกเสธหนั่น แยกพลาธิการ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาฝังท่าอิฐ และเชื่อมถนนราชพฤกษ์ กม.25 โดยช่วงที่จะเป็นทางยกระดับ คือ บริเวณถนนสามัคคี และช่วงสนามบินน้ำ
และเมื่อครบเวลาการชี้แจง 30 นาที ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ผู้เข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์ได้มีการสอบถาม ทำไมชุมชนประชานิเวศน์ 3 ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยกว่า 4 พันหลังคาเรือน กว่า 300 ไร่ เป็นชุมชนเก่าแก่ ไม่ถูกระบุไว้ในแผนที่ที่แสดงให้เห็นว่า เป็นหมู่บ้าน และไม่ใส่สีเหลืองสื่อให้ได้รับรู้ ขณะที่หมู่บ้านเอกชน หมู่บ้านตั้งใหม่มีการใส่สีเหลืองไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นหมู่บ้าน ดังนั้น ถือว่าเป็นการทำการศึกษาไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรมกับคนประชานิเวศน์ 3 ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของคนมีรายได้น้อย ขณะเดียวกันจุดเริ่มต้นของโครงการก็ระบุ ต้องไม่ใช่พื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น แต่การที่ไม่ใส่ภาพสีชุมชนประชานิเวศน์ 3 ถือเป็นการบิดเบือนข้อมูลใช่หรือไม่
นอกจากนี้ ในเวทีประชาพิจารณ์ ผู้เข้าร่วมเวทีส่วนใหญ่ทั้งจากชาวบ้านท่าทราย สนามบินน้ำ ทานสัมฤทธิ์ และประชานิเวศน์ 3 มีความเห็นคัดค้านการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสนามบินน้ำ ด้วยเห็นว่า รัฐบาลสนับสนุนการขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะการเดินทางโดยรถไฟฟ้าอยู่แล้ว นนทบุรีมีรถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีชมพูก็กำลังจะสร้าง จึงไม่มีความจำเป็นตัดถนนเส้นใหม่ พร้อมกับขอให้ยกเลิกโครงการนี้ที่ตัดผ่านชุมชนประชานิเวศน์ 3
ส่วนการทำประชาพิจารณ์หลายคนมองว่า ภาครัฐยังอ่อนการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ อีกทั้งการจัดเวทีในวันธรรมดา หลายคนไม่สามารถลางานมาร่วมเวทีได้ ถือเป็นการตัดโอกาสออกสิทธิออกเสียง ทำให้กระบวนการรับฟังความเห็นยังไม่รอบด้าน สุดท้ายในที่ประชุมมีการเสนอให้มีการรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง โดยจัดที่โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ โดยให้มีการติดประกาศอย่างน้อย 15 วัน ให้ประชาชนรับรู้ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เปิดโครงการ-หลักเกณฑ์เวนคืนที่สะพานข้ามเจ้าพระยาสนามบินน้ำ-ไฉนทำชาวบ้านผวา(อีกแล้ว)?
ชาวบ้านท่าทราย-ประชานิเวศน์3 ผวาเวนคืนที่สร้างถ.รองรับสะพานข้ามเจ้าพระยาสนามบินน้ำ