- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- UNODC คาดแรงงานข้ามชาติ 4-23% เข้าไทยผิดกม.ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์
UNODC คาดแรงงานข้ามชาติ 4-23% เข้าไทยผิดกม.ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์
สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งชาติสหประชาชาติ-สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลวิจัย ปัญหาการค้ามนุษย์จากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา มายังประเทศไทย พร้อมเสนออุดช่องโหว่ของแรงจูงใจ เร่งประสานความร่วมมือทำงานระหว่างประเทศต้นทาง-ปลายทาง
วันที่ 10 สิงหาคม สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งชาติสหประชาชาติ (UNODC) ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เปิดเผยผลวิจัย ปัญหาการค้ามนุษย์จากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมามายังประเทศไทย (Trafficking in Persons from Cambodia,Lao PDR and Myanmar,to Thailand) ณ องค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ
นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาเชิงลึกเพื่อให้เราได้เข้าใจสถานการณ์การค้ามนุษย์ ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การโยกย้ายถิ่นฐาน การลักลอบเข้าเมือง ซึ่งจะสามารถปิดช่องโหว่ รวมไปถึงการทำงานต่อยอดความร่วมมือระหว่างประเทศในรูปแบบต่างๆ มากยิ่งขึ้น
“การค้ามนุษย์ในภูมิภาคนี้มักจะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมง การค้าป่าไม้ รวมถึงการหาประโยชน์จากการค้ามนุษย์มักจะพบในกลุ่มเด็กและเยาวชน ”
ขณะที่ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวถึงการศึกษาสถานการณ์การค้ามนุษย์ในภูมิภาคนี้ ถือเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ ที่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงนโยบายได้ และทำได้ครบวงจร วันนี้ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีกฎหมายการค้ามนุษย์ที่ดีแล้ว แต่การบังคับใช้ต้องเข้าใจลักษณะพิเศษของการอพยพย้ายถิ่น การถูกลอกลวงให้มาเป็นแรงงาน จนมาเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์นั้น คนเหล่านี้คือเหยื่อ
“ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันใน 3 ประเทศ นำสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ในภูมิภาคนี้ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานสู่ประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ดีกว่า ซึ่งในรายงานชิ้นนี้ทำให้เราได้เห็นเครือข่ายของอาชญากรรมการค้ามนุษย์ซ่อนตัวอยู่ในประเทศของเรา มีผู้ลักลอบเข้าไทยกว่า 5.5 แสนคน 2.8 แสนคนขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง แต่มีคนกว่า 3 หมื่นคนเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และมีแค่ 242 รายเท่านั้นที่ถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย” ผู้อำนวยการ TIJ กล่าว และว่า ตั้งแต่ปี 2556 แม้ประเทศไทยจะพยายามอย่างมากในการต่อสู้กับขบวนการค้ามนุษย์ แต่ก็ไม่ใช่ภารกิจที่จะทำสำเร็จได้โดยง่าย เนื่องจากการกระทำผิดมีรูปแบบซ่อนเร้นทั้งในฝ่ายผู้ค้ามนุษย์ ไปจนถึงเหยื่อการค้ามนุษย์
ด้านดร.ดีแอนนา เดวีย์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการวิจัย UNODC กล่าวถึงผลการวิจัย เรื่องการลักลอบการค้ามนุษย์และแรงงานข้ามชาติ โดยแสดงให้เห็นเส้นทางปัญหาการค้ามนุษย์จากกัมพูชา ลาว เมียนมา มายังประเทศไทย รวมถึงมูลเหตุจูงใจที่ผลักดันให้เกิดการค้ามนุษย์ของแต่ละประเทศ รวมไปถึงเส้นทางถูกกฎหมายและผิดกฎหมายของผู้โยกย้ายถิ่นในประเทศไทย ที่สำคัญมีการระบุถึงค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้แก่ผู้ลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน และผู้ค้ามนุษย์ เป็นต้น
ในรายงานยังระบุถึงตัวเลขปี 2558 มีผู้โยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทยสูงถึง 4 ล้านคน ซึ่ง 90% มาจากกัมพูชา ลาว เมียนมา โดยเฉพาะสัญชาติเมียนมา มีจำนวนมากสุด
ผู้โยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทยสู เมื่อเข้ามาแล้วด้วยวิธีการที่ผิดปกติ จึงเสี่ยงที่จะถูกหลอกล่อ ถูกกรรโชก เผชิญความรุนแรง และถูกแสวงหาผลประโยชน์ ความเสี่ยงเหล่านี้จะทวีขึ้นในกลุ่มเด็กที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
ขณะที่จำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์ ตัวเลขอย่างเป็นทางการมีจำนวนไม่มากนัก โดยรายงานของ UNODC ซึ่งเป็นข้อมูลอย่างเป็นทางการและเป็นข้อค้นพบจากการศึกษาโดยหน่วยงานอื่นๆ ระบุว่า ประมาณการแรงงานข้ามชาติ 4-23% ที่เข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ทั้งจากกัมพูชา ลาว และเมียนมา อาจถูกจัดว่า เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย แต่ผู้อพยพจำนวนมากเห็นว่า การย้ายถิ่นฐานและการเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายมีต้นทุนสูง และมีขั้นตอนทางราชการที่ซับซ้อน จึงทำให้การเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า รวดเร็ว และสะดวก สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลาที่ต้องการ ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดความต้องการบริการของผู้ลักลอบนำเข้าแรงงานข้ามชาติ และเปิดโอกาสให้ผู้ค้ามนุษย์ใช้เป็นช่องทางในการให้บริการและแสวงหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีสถานภาพเป็นกลุ่มคนที่เปราะบาง
ทั้งนี้ ความน่าสนใจในรายงานชิ้นนี้ มีการระบุถึงค่าธรรมเนียม การชำระเงิน และหนี้สิน รวมถึงค่าใช้จ่ายของผู้ลักลอบเข้านำคนกัมพูชา ลาว และเมียนมาเข้ามายังประเทศไทยแบบผิดกฎหมายด้วย เช่น ค่าใช้จ่ายที่ผู้ลักลอบนำคนจากกัมพูชามายังไทย แบบผิดกฎหมาย เฉลี่ย 100 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถูกกว่าการเข้าเมืองถูกกฎหมายซึ่งค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 700 เหรียญสหรัฐฯ โดยเฉพาะผู้อพยพที่เป็นผู้หญิงจะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าผู้ชาย เป็นต้น
ค่าใช้จ่ายที่ผู้ลักลอบนำคนจากกัมพูชามายังไทย แบบผิดกฎหมาย เฉลี่ย 100 เหรียญสหรัฐฯ
ถูกกว่าการเข้าเมืองถูกกฎหมายซึ่งค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 700 เหรียญสหรัฐฯ