- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- สภาวิชาชีพ 11 องค์กร เสนอความเห็นค้าน ม.56 ในร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา
สภาวิชาชีพ 11 องค์กร เสนอความเห็นค้าน ม.56 ในร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา
สภาวิชาชีพ 11 องค์กร เสนอความเห็นค้าน ม.56 -57 ในร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา ขอให้ยกเลิก ตัดออก ยืนยันขัดกับกฎหมายที่มีอยู่เดิม ชี้การเข้าควบคุมสถาบันการศึกษา ก็เพื่อมาตรฐานในการศึกษา อีกทั้งไม่ปรากฎในกฎหมายฉบับใดที่ระบุหัวข้อสภาวิชาชีพในกฎหมาย เหมือนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่....) พ.ศ..... ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา พ.ศ.... ผ่านระบบสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ และกำหนดจัดให้มีการประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อวันศุกร์ที่ 23 มิ.ย.2560 ณ อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ล่าสุด สมาพันธ์สภาวิชาชีพ 11 องค์กร ประกอบด้วย แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาทนายความ สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคแพทย์ สภากายภาพบำบัด และสภาวิชาชีพบัญชีได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ.... ที่กำหนดบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามวัตถุประงค์ อำนาจ และหน้าที่ของสภาวิชาชีพแล้ว ยังมีบางประเด็นที่สมาพันธ์สภาวิชาชีพเห็นว่า จำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้รัดกุมและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติของสภาวิชาชีพต่างๆ สมาพันธ์สภาวิชาชีพจึงขอส่งความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ.....เพื่อให้เกิดมีประสิทธิภาพสูงสุดและนำประโยชน์ไปสู่ประชาชน
โดยเฉพาะ มาตรา 56 ในร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ....ระบุว่า ให้สภาวิชาชีพมีส่วนในการเสนอความคิดเห็นประกอบการจัดทำมาตรฐานหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพนั้นเพื่อกำหนดคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของวิชาชีพนั้นได้ แต่มิให้มีอำนาจในการรับรองหรือกำหนดการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพนั้นของสถาบันอุดมศึกษา หรือสร้างภาระอื่นใดให้กับสถาบันอุดมศึกษา
ให้สภาวิชาชีพสามารถจัดการประเมินความรู้ทักษะ และสมรรถนะในการประกอบวิชาชีพนั้นแก่ผู้สำเร็จการศึกษา เพื่อประกอบวิชาชีพที่สภาวิชาชีพนั้นควบคุมอยู่ได้
ประเด็นนี้ สมาพันธ์สภาวิชาชีพ 11 องค์กร ขอให้ยกเลิก เพราะเห็นว่าขัดกับกฎหมายที่มีอยู่เดิม ซึ่งการเข้าควบคุมสถาบันการศึกษา ก็เพื่อมาตรฐานในการศึกษา อีกทั้งไม่ปรากฎในกฎหมายฉบับใดที่ระบุหัวข้อสภาวิชาชีพในกฎหมาย เหมือนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งนี้โดยเทียบเคียงจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ก็ไม่ได้ระบุหัวข้อ สภาวิชาชีพไว้ต่างหาก
ทั้งนี้ยังมีความเห็นว่า สภาวิชาชีพไม่ต้องรับรองปริญญาในการผลิตบัณฑิตหรือไม่ พระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542 มิได้กำหนดให้รับรองหลักสูตร แต่เป็นการรับรองปริญญาประกาศนียบัตร และวุฒิบัตรในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
พร้อมขอให้ยกเลิก มาตรา 57 ในร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ....ที่ระบุว่า สภาวิชาชีพจะออกข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์เพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพโดยมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาไม่ได้
ซึ่งมาตรานี้สภาทนายความให้ความเห็นว่า จะส่งผลต่ออำนาจหน้าที่ในการออกข้อบังคับตามกฎหมายสภาวิชาชีพและอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติและปริญญาของผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ได้