- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- “ข้อมูลตลาดไม่แม่นยำ – ไม่เชื่อมโยง” อุปสรรคพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย
“ข้อมูลตลาดไม่แม่นยำ – ไม่เชื่อมโยง” อุปสรรคพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย
ปัญหาไม่มีข้อมูลที่แม่นยำมากพอและการไม่อาจเชื่อมต่อกันได้ระหว่างผู้ผลิตวัตถุดิบ และผู้แปรรูปอาหารและผู้ส่งออก ทำให้ธุรกิจการผลิตอาหารของไทยจึงยังคงต้องเผชิญกับปัญหาความเสี่ยงเรื่องสินค้าถูกตีกลับ หรือการห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่ไม่ได้มาตรฐานเมื่อส่งออกไปต่างประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตและการค้าสินค้าอาหารเป็นธุรกิจที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีห่วงโซ่การผลิตที่เชื่อมโยงตั้งแต่เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และธุรกิจส่งออก ในเชิงมูลค่า เพียงแค่ภาคเกษตรกรรมก็มีมูลค่าร้อยละ 8-10 ของจีดีพี ส่วนในเรื่องการจ้างงาน ธุรกิจเหล่านี้ครอบคลุมร้อยละ 30 ของการจ้างงานของไทย เช่น โรงงานแปรรูปอาหาร โรงแรมและร้านอาหาร เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ธุรกิจด้านอาหารจึงเป็นสาขาที่รัฐบาลประกาศสนับสนุน เริ่มตั้งแต่โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก ปี 2547 และ โครงการ Thailand Food Valley ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2555 มีเป้าหมายเชื่อมต่อสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปสำหรับรัฐบาลปัจจุบัน แนวคิดการจะเป็น “ประเทศไทย 4.0” ก็ยังเสนอให้ประเทศไทยเป็น “ชาติการค้า” ด้านธุรกิจอาหารเช่นกัน
งานวิจัยยุทธศาสตร์ชาติการค้าและยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มภาคีธุรกิจของทีดีอาร์ไอซึ่งจัดทำให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าพบว่าแนวคิดหลักที่จะช่วยพัฒนาให้ไทยเป็น “ชาติการค้า” ที่เข้มแข็งได้มีอยู่ 2 ข้อ
ข้อแรก ผู้ผลิตวัตถุดิบและผู้ประกอบการภายในประเทศจะต้องประสานเป็นห่วงโซ่มูลค่า (value chain) อาหารที่เข้มแข็ง เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารในปัจจุบันต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของการตรวจสอบมาตรฐานสุขอนามัยที่เข้มงวดของประเทศผู้นำเข้า อาทิ ต้องได้รับการรับรองว่าผ่าน “ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ” (traceability) ที่ช่วยให้ตรวจได้ว่าวัตถุดิบมาจากแหล่งผลิตที่สะอาดและปลอดภัย นอกจากนี้ อาจยังต้องเผชิญมาตรการอื่น ๆ เช่น เรื่องการผลิตที่ไมใช้แรงงานทาสหรือไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ข้อที่สอง หากอุตสาหกรรมอาหารของไทยมุ่งจะเข้าไปแข็งขันในตลาดต่างประเทศให้ได้นั้น ผู้ผลิตวัตถุดิบและผู้แปรรูปอาหารของไทยจะต้องสามารถเชื่อมต่อและตอบสนองกับตลาดต่างประเทศอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ดี ทีดีอาร์ไอพบว่า หนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เราไม่สามารถพัฒนาในสองประเด็นได้คือการขาดข้อมูลที่แม่นยำและการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการในห่วงโซ่มูลค่า
ในต้นน้ำของห่วงโซ่มูลค่า ประกอบด้วยเกษตรกรรายเล็กจำนวนมาก เช่น ชาวนาไทยในภาคกลางมีพื้นที่การเพาะปลูกเฉลี่ย 16 ไร่ต่อราย ในขณะที่การรวมตัวในรูป “สหกรณ์การเกษตร” ซึ่งจำนวน 3,600 แห่งทั่วประเทศ เกินครึ่งเป็นสหกรณ์ขนาดเล็ก ทำให้การเข้าถึงข้อมูลราคาและแนวโน้มตลาดที่ทันการณ์มีต้นทุนในการดำเนินการที่สูงไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนจัดทำข้อมูลเอง
ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเช่นเดียวกับผู้ประกอบการในส่วนกลางน้ำและปลายน้ำของห่วงโซ่มูลค่า กล่าวคือ ผู้แปรรูปสินค้าและผู้ส่งออกสินค้าอาหารรายย่อย มักไม่มีข้อมูลหรือมีข้อมูลเกี่ยวกับตลาดต่างประเทศที่ไม่ลึกเพียงพอในการนำมาใช้ในการตัดสินใจเชิงธุรกิจเช่นกัน เช่น ข้อมูลแนวโน้มของความต้องการของสินค้าในตลาดในระยะสั้นและระยะปานกลาง รายชื่อผู้ประกอบการที่มีความสนใจในการนำเข้าสินค้าไทยดังกล่าว การวิเคราะห์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของนโยบายในประเทศที่จะมีผลกระทบต่อความต้องการของจำนวนสินค้าและรายชื่อคู่แข่งในตลาดสินค้า รายละเอียดเกี่ยวกับจุดอ่อน จุดแข็งของสินค้าที่ทดแทน และ ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าที่สามารถวางจำหน่ายได้
สหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ในทุก ๆ เดือนกระทรวงเกษตรของสหรัฐจะจัดทำรายงานสภาพความต้องการของตลาดและกำลังการผลิตสินค้าเกษตรรายการหลัก เช่น ปศุสัตว์ เป็นรายเดือน และวิเคราะห์ผลกระทบด้านต่าง ๆ ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
การขาดข้อมูลเชิงลึกข้างต้นนั้นอาจไม่ใช่ปัญหาหลักของธุรกิจแปรรูปอาหารและผู้ส่งออกขนาดกลางและขนาดใหญ่ เนื่องจากมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งผ่านสมาคมการค้า เช่น สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และรวมถึงหอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด และสภาอุตสาหกรรม เป็นแหล่งข้อมูลการตลาดที่สำคัญ แต่อุปสรรคสำคัญคือการไม่สามารถเชื่อมต่อกับสหกรณ์ หรือเกษตรกรต้นน้ำได้อย่างสมบูรณ์
ปัญหาการไม่มีข้อมูลหรือมีข้อมูลไม่สมบูรณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับภาคเอกชนเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับหน่วยงานของรัฐเช่นกัน
ผู้เขียนได้แลกเปลี่ยนกับนักวิจัยของสถาบันอาหาร (กระทรวงอุตสาหกรรม) ซึ่งถือเป็น “คลังสมอง” ของธุรกิจผลิตอาหารของไทย พบว่า ข้อมูลเรื่องราคา คุณภาพและปริมาณวัตถุดิบของไทยซึ่งมาจากฝั่งของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสำนักเศรษฐกิจการเกษตร และข้อมูลเรื่องการนำเข้าส่งออก และรสนิยมการบริโภคของตลาดต่างประเทศซึ่งมาจากฝั่งกระทรวงพาณิชย์ ยังไม่ลึกพอที่จะจัดทำ “ระบบข่าวกรองทางการตลาด” (market intelligence) ที่แม่นยำได้ จึงต้องจัดทำข้อมูลด้านการตลาดเองทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการจัดทำข้อมูลของภาครัฐโดยรวมและสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น
นอกจากนี้แล้ว ยังไม่นับรวมข้อมูลอีกหลายชุดจากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อวงการธุรกิจอาหารแต่ก็ยังไม่มีการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ เช่น ข้อมูลเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตอาหารที่จัดทำโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเครือข่ายมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และ ข้อมูลผู้ผลิตสินค้าเกษตร ผู้แปรรูปอาหาร และผู้ส่งออกซึ่งจัดทำโดยหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรม
ปัญหาไม่มีข้อมูลที่แม่นยำมากพอและการไม่อาจเชื่อมต่อกันได้ระหว่างผู้ผลิตวัตถุดิบ และผู้แปรรูปอาหารและผู้ส่งออก ทำให้ธุรกิจการผลิตอาหารของไทยจึงยังคงต้องเผชิญกับปัญหาความเสี่ยงเรื่องสินค้าถูกตีกลับหรือการห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่ไม่ได้มาตรฐานเมื่อส่งออกไปต่างประเทศ
ข้อจำกัดทั้งหมดที่กล่าวข้างต้นเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วในหมู่เกษตรกร ผู้ประกอบการแปรรูปและผู้ส่งออกสินค้า รวมถึงภาครัฐเอง ผู้เขียนจึงเห็นว่า ถึงเวลาที่เราจำเป็นต้องมี “ตัวเชื่อม” ให้เกิดการจัดทำข้อมูลให้เป็นระบบและให้หน่วยงานราชการและภาคเอกชนร่วมกำหนดทิศทางการจัดทำข้อมูลการค้าต่างประเทศที่ตอบโจทย์การใช้งานของภาคเอกชนมากขึ้น
ในทางปฏิบัตินั้น เราควรมีคณะกรรมการในระดับนโยบายที่เป็นตัวประสานข้ามหน่วยงานระดับกระทรวงเพื่อร่วมจัดทำข้อมูลที่จำเป็นต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกรายย่อย
โดยเริ่มต้นจากข้อมูลสองชุดที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตลาด เช่น รสนิยมความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ลักษณะและราคาของสินค้าที่มีอยู่แล้วในตลาด เพื่อหาจุดขายของสินค้าที่จะผลิตในอนาคต
การดำเนินการนี้ควรให้สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพบริหารจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล เข้ามาเป็นคณะทำงานร่วมบริหารจัดการข้อมูลดังกล่าว โดยจะต้องมีภาคเอกชน เช่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรม และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ เป็นที่ปรึกษาเพื่อกำหนดรายละเอียดในข้อมูลแต่ละชุด เพื่อให้ข้อมูลที่จัดทำนั้นตรงความต้องการของผู้ใช้งานจริง
สุดท้ายนี้ การดำเนินนโยบายของรัฐควรพิจารณาว่าเกษตรกรนั้นเป็น “ผู้ประกอบการ” ที่รัฐต้องสนับสนุนข้อมูลเพื่อการตัดสินใจทางธุรกิจที่แม่นยำมากกว่าการให้เงินทุนอุดหนุนเพียงอย่างเดียว.