- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ทันตเเพทยสภา พาสื่อโชว์เครื่องเอกซเรย์ฟันปลอดภัยรังสีต่ำมาก ไม่ทะลุกำแพง
ทันตเเพทยสภา พาสื่อโชว์เครื่องเอกซเรย์ฟันปลอดภัยรังสีต่ำมาก ไม่ทะลุกำแพง
ทันตแพทยสภา เปิดแถลงข่าวข้อมูลจริงเครื่อง X-ray ฟัน ยืนยัน เครื่องเอกซเรย์ทันตกรรม "ปลอดภัย" ต่อประชาชน รังสีปริมาณน้อยมาก ไม่ทะลุกำแพง อย่างกระแสข่าวลือ ด้านหมอฟันอาสา หวั่นไทยไปไม่ถึง ศูนย์การรักษาฟันอาเซียน ลั่นกฎหมายพลังงานนิวเคลียร์ฯ ลากกลับไปเริ่มต้นที่ศูนย์
วันที่ 15 พ.ค. 2560 ทันตแพทยสภา เปิดแถลงข่าวข้อมูลจริงเครื่อง X-ray ฟัน ยืนยัน เครื่องเอกซเรย์ทันตกรรม "ปลอดภัย" ต่อประชาชน ณ สำนักงานทันตแพทยสภา อาคารสถาบันทันตกรรม ชั้น 6 ซอยติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จังหวัดนนทบุรี โดยรศ.ทพ.ดร.สุนทรา พันธ์มีเกียรติ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ เลขาธิการทันตแพทยสภา และทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา
ทพ.ไพศาล กล่าวว่า ประเด็นความไม่เข้าใจเรื่องการควบคุมและกำกับเครื่องเอ็กซเรย์ทันตกรรม หรือเครื่องเอกซเรย์ฟัน พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 เกิดขึ้นระยะหนึ่งแล้ว ที่ผ่านมาทันตแพทยสภาพร้อมด้วยเครือข่ายทันตแพทย์ทั่วประเทศได้ชี้แจงให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้เข้าใจถึงข้อเท็จจริง เพื่อจะนำไปสู่ข้อเสนอการแก้ไขปัญหา เพราะข้อเท็จจริงคือ เครื่องเอกซเรย์ฟันนี้มีความปลอดภัยสูงมาก มีรังสีต่ำมากที่สุด และบุคลากรทางการแพทย์ ทันตแพทย์ก็มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ที่ผ่านมาก็อยู่ในกำกับดูแลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ขณะที่ทพ.อรรถพร กล่าวถึงเครื่องเอกซเรย์มี 2 ประเภท คือเครื่องเอกซเรย์ในช่องปาก รังสีจะต่ำมาก ใช้เพื่อดูฟันผุบริเวณที่ตามองไม่เห็น และ 2.เครื่องเอกซเรย์ภายนอกช่องปาก เพื่อดูภาพรวมฟันในช่องปาก หรือฟันหักที่เกิดจากอุบัติเหตุ ทั้งหมดเป็นเครื่องมือทีทันตแพทย์ใช้กันมานาน ซึ่งมาตรฐานเครื่องเอกซเรย์ฟันก็มีการเรียนการสอนตั้งแต่มหาวิทยาลัย ซึ่งถูกควบคุมตั้งแต่ขั้นตอนการนำเข้า โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำไปใช้ในคลิกนิกต่างๆ ควบคุมโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่รับจดแจ้ง และความปลอดภัยของประชาชนก็มีทันตแพทย์คอยดูแล ให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ แม้แต่การจำหน่ายทิ้งเครื่องมือแพทย์นี้ ก็มีกรมควบคุมมลพิษ ดูแลอยู่
"ที่มีข่าวกังวลว่า เครื่องเอกซเรย์ฟัน รังสีทะลุกำแพงนั้น ยืนยันว่า มีรังสีน้อยมาก เหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ มีความปลอดภัย และรังสีก็ไม่ได้เยอะ"
รศ.ทพ.ดร.สุนทรา กล่าวถึงการปฏิบัติงานของทันตแพทย์ทุกคน ปฏิบัติตามหลักสากล หลักสูตรการเรียนการสอนก็เน้นเรื่องของความปลอดภัย ทั้งผู้ป่วย ผู้ปฏิบัติงาน การปฏิบัติการในคลิกนิกเรามีการฝึกปฏิบัติกันเป็นปีๆ
"ภาพถ่ายเอกซเรย์ในช่องปากผู้ป่วยจะได้รับรังสีน้อยกว่า 0.001 mSv หรือเท่ากับการได้รับรังสีอยู่ในธรรมชาติประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งในธรรมชาติมีอยู่แล้ว ขณะที่การเอกซเรย์นอกปากได้รับรังสี 0.024 mSv โดยอยู่ระดีบที่ต่ำกว่าการเอกซเรย์อวัยวะร่างกายในส่วนอื่นๆ"
ส่วนทพ.อาคม สรรเสริญชูโชติ กลุ่มทันตแพทยอาสา นำเครื่องเอกซเรย์ที่ไม่ได้ใช้งาน แกะให้ดู ยืนยันถึงความปลอดภัย โดยใช้เครื่อง Radalert100 วัดปริมาณรังสี เพื่อให้เห็นค่า mSv โดยขอให้ประชาชนมั่นใจ แม้แต่เศษซากเครื่องเอกซเรย์ ก็ปลอดภัย เพราะเป็นเครื่องกำเนิดรังสีด้วยพลังงานไฟฟ้า ไม่ใช่เครื่องกำเนิดรังสีรักษาทางการแพทย์ หรือรังสีทางอุตสาหกรรมเครื่องใหญ่ๆ ฉะนั้นประชาชนสบายใจแม้แต่การเก็บทิ้งก็ไม่มีปัญหา
"รังสีหากคุณได้ต่ำๆ ไม่บ่อย ร่างกายจะซ่อมแซมตัวเอง หากได้ต่ำๆ แต่บ่อยๆ อันนี้ร่างกายซ่อมแซมไม่ทันมีปัญหา และหากคุณได้รังสีเยอะ เช่น จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด อันนี้ไม่มีทางร่างกายซ่อมแซมทัน สำหรับเครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรมใช้รังสีน้อยมากและไม่ก่อให้เกิดอันตราย ซึ่งทั่วโลกเขาไม่คุมเครื่องเอกซเรย์ฟันกัน เพราะมีความปลอดภัย ยิ่งเครื่องเอกซเรย์ฟันรุ่นใหม่ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมแล้วยิ่งปลอดภัยมากขึ้น เปิดเครื่องระบบจะเช็คตัวเอง ระบบป้องกันที่มีในตัวของเครื่องที่ถูกออกแบบให้ปลอดภัยอยู่แล้ว" ทพ.อาคม กล่าว และว่า การให้รังสีในคนไข้ เราไม่ได้กำหนดตราบใดที่การให้รังสีนั้นคนไข้ได้ประโยชน์ไม่เกิดโทษ ซึ่งจะเกิดโทษต้องเอกซเรย์ฟิล์มถึง 5 แสนฟิล์มต่อปีต่อคน จึงเชื่อว่า ไม่มีใครเอกซเรย์ถึงแน่ อีกทั้งเครื่องเอกซเรย์ไม่สามารถถ่ายต่อเนื่องได้ หนึ่งชั่วโมงก็ถ่ายได้ไม่กี่ครั้ง เพราะเครื่องต้องหยุดพัก ส่วนเจ้าหน้าที่รังสีต้องถ่ายถึง 2 หมื่นฟิล์มถึงพ้นระยะปลอดภัย ฉะนั้นเจ้าหน้าที่รังสีปลอดภัยแน่ๆ แทบไม่ได้รับรังสี
ทพ.อาคม กล่าวถึง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 และกฎกระทรวงที่จะออกมานั้นทำให้ทันตแพทย์ทำงานยากขึ้นแน่นอน ไหนจะต้องมาเสียเวลาอธิบาย ยังทำให้การรักษาด้อยประสิทธิภาพ การควบคุมการครอบครองเครื่องเอกซเรย์ฟันจะส่งผลให้มาตรฐานทางการแพทย์ที่ดีอยู่แล้ว ตกลงมาเรื่อยๆ พร้อมกันนี้เชื่อว่า ประเทศไทยที่พยายามเป็นศูนย์กลางการรักษาฟันในอาเซียนจะไปไม่ถึงจุดนั้น ในหลักสากลการควบคุมรังสีระดับต่ำ เราจะใช้แค่จดแจ้ง ไม่ใช่การออกใบอนุญาต ด้วยความห่วงใยของวิชาชีพเราไม่ได้มาเรียกร้องเพื่อวิชาชีพเรา แต่เรียกร้องถึงความลำบากของประชาชนในภายภาคหน้า
"กฎหมายฉบับนี้ทำให้เจ้าหน้าที่รังสีต้องอยู่ตลอดเวลา แม้ไม่ได้ใช้เครื่อง หากไม่อยู่มีโทษอาญา ทั้งจำทั้งปรับ หมอฟันก็กลัวเจอคุก และจะมีปัญหากับใบประกอบวิชาชีพ และคาดว่า จะมีการสุ่มตรวจโดยไม่แจ้ง มีรางวัลนำจับด้วย ซึ่งต่างประเทศไม่มีโทษอาญา"