- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ป่าสาละเผยผลวิจัยข้อมูล CSR บ.พลังงาน พบประเด็นสิทธิมนุษยชนมีคะแนนต่ำสุด
ป่าสาละเผยผลวิจัยข้อมูล CSR บ.พลังงาน พบประเด็นสิทธิมนุษยชนมีคะแนนต่ำสุด
ป่าสาละ เปิดผลวิจัย ระดับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ของบริษัทพลังงานใหญ่สุด 10 อันดับ พบ ประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อยู่ในระดับต่ำสุด ขณะที่ข้อกังวลเรื่องการใช้น้ำรอบสถานประกอบการ มีระดับคะแนนในเกณฑ์ดีทั้งหมด
เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2560 ที่ โรงแรมคราวน์ พลาซ่า บริษัท ป่าสาละ จำกัด และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แถลงผลโครงการวิจัย “การประเมินระดับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุด 10 อันดับ”
น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เพื่อจัดทำตัวชี้วัดระดับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ ที่เหมาะสมกับบริบทการพัฒนาในประเทศไทย และสามารถสะท้อนผลกระทบของอุตสาหกรรมพลังงานต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญโดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบสถานประกอบการ ภายใต้บริบทของการพัฒนาอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก ก้าวที่ขาดที่ขาดไม่ได้ในการเปลี่ยนสังคมเป็น “สังคมคาร์บอนต่ำ” ในทุกประเทศ คือการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทพลังงาน ที่ต้องประเมินจากบริบทของการเปลี่ยนผ่านที่จำเป็นดังกล่าว และความคาดหวังของผู้ส่วนได้ส่วนเสียฝ่ายต่างๆ ในสังคม
ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทพลังงานแห่งใดยังลงทุนในมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนน้อยมาก เมื่อคิดเป็นสัดส่วนของเงินลงทุนทั้งหมดของบริษัท ก็ยากที่จะสรุปว่าบริบทนั้นๆ ได้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่าง เพียงพอ ต่อความคาดหวังของสังคม ถึงแม้บริษัทจะทำกิจกรรมซีเอสอาร์(CSR after-process)มากมายในแต่ละปีก็ตาม
หัวหน้าโครงการวิจัยฯกล่าวว่า คณะวิจัยทำการศึกษา รายงาน และมาตรฐานที่ใช้เป็นฐานในการศึกษาของบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ 10 แห่ง โดยอ้างอิงจากมูลค่าตลาดของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และรวมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในฐานะรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่รับผิดชอบการผลิตไฟฟ้าในประเทศ โดยใช้การประเมินระดับการเปิดเผยข้อมูลความรับผิดชอบ โดยเลือกมาตรฐานการรายงานของ Global Reporting Initiative (GRI ) มาเป็นเกณฑ์พิจารณา เนื่องจากมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มีบริษัทพลังงานที่อยู่ในการศึกษาครั้งนี้ 9 จาก 10 แห่งได้ใช้มาตรฐาน GRI เป็นเกณฑ์ในการจัดทำรายงานความยั่งยืนประจำปี โดยการศึกษาครั้งนี้ใช้ข้อมูลของปี 2557 เป็นหลัก
น.ส.สฤณี กล่าวถึงผลการทดสอบชุดตัวชี้วัดระดับความรับผิดชอบโดยใช้ข้อมูลปี พ.ศ. 2557 เป็นฐาน คณะวิจัยมีข้อสังเกตบางประการ อย่างประเด็นที่บริษัทโดยรวมได้คะแนนสูงที่สุด โดยทั้ง 10 บริษัทได้คะแนน “สูงกว่าปานกลาง” คือ การใช้น้ำ เนื่องจากสมาชิกในชุมชนรอบสถานประกอบการหลักของแต่ละบริษัทในพื้นที่วิจัยเชิงคุณภาพต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ประสบปัญหาการแย่งน้ำจากโรงงาน ถึงแม้ประเด็นนี้จะเป็นข้อกังวลอันดับต้นๆ ก็ตาม
ประเด็นที่บริษัทโดยรวมได้คะแนนสูงเป็นอันดับสอง คือประเด็นอุบัติภัยสารเคมี โดยบริษัทแปดแห่งไม่มีการรั่วไหลในระดับที่มีนัยสำคัญ(significant spill หมายถึงมีการรั่วไหลมากกว่า 150 ลิตร หรือ 100 บาร์เรล) ในปีพ.ศ. 2557 มีสองบริษัทที่มีการรั่วไหลระดับที่มีนัยสำคัญคือ ปตท.(PTT) และ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
ส่วนประเด็นที่บริษัทโดยรวมได้คะแนนต่ำสุด โดยไม่มีบริษัทใดได้คะแนน ปานกลาง คือ ประเด็น การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เนื่องจากหลักเกณฑ์ ปานกลาง คือการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในบริษัทเองและในห่วงโซ่อุปทานของบริษัท ซึ่งไม่มีบริษัทใดระบุว่า มีการจัดทำในปี พ.ศ.2557 ยกเว้น PTT ซึ่งระบุว่าจะจัดทำในปี พ.ศ.2558 และตั้งเป้าจะดำเนินการตามผลการประเมินในปี พ.ศ.2559
ขณะที่ประเด็นที่บริษัทโดยรวมได้คะแนนต่ำเป็นอันดับสองคือ การปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อลูกจ้างเหมาช่วง( sub-contract) ซึ่งเป็นประเด็นที่ตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ความสำคัญ ประเด็นนี้บางบริษัทมองว่า เป็นความรับผิดชอบของผู้รับเหมาที่ว่าจ้างเหมาช่วงโดยตรง มิใช่ความรับผิดชอบของบริษัท
น.ส.สฤณี กล่าวด้วยว่า คะแนนในหมวดผลกระทบต่อชุมชน(ค่าเฉลี่ยร้อยละ 64.17 จากคะแนนเต็ม) สูงกว่าหมวดการป้องกันผลกระทบต่อชุมชน(ค่าเฉลี่ยร้อยละ 43.75) อย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่า ในภาพรวม ทุกบริษัทสามารถควบคุมปฏิบัติการระดับโรงงาน ให้มีความปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบในสาระสำคัญชุมชนใกล้เคียง แต่หลายบริษัทยังไม่ให้ความสำคัญอย่างเพียงพอกับการเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมกับการดำเนินการเชิงรุก เพื่อบรรเทาความกังวลและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการสื่อสาร เช่น การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากโรงงานในภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจง่าย เป็นต้น
ในด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นประเด็นที่เกณฑ์ GRI และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคและธรรมภิบาลสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ นั้น หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวด้วยว่า มีเพียง ปตท. และ บ้านปู เท่านั้นที่ประกาศเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นตัวเลข ซึ่งเป็นระดับที่เข้าขาย “สูงกว่าปานกลาง” ในชุดตัวชี้วัดคณะวิจัย
ทั้งนี้ บริษัทด้านพลังงาน 10 แห่งที่มีการวิจัย ประกอบไปด้วย
1. บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC)
2. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT)
3. บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ESSO)
4. บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO)
5. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. หรือ EGAT)
6. บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
7. บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) ( GLOW)
8. บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP)
9. บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) (BCP)
10. บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU)
หมายเหตุ : ภาพประกอบหัวข่าวจากhttp://www.balanceenergythai.com/