- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- การพัฒนาที่ดีต้องไม่มีใครเสีย ภาคปชช. วอนรัฐหยุดเขื่อนภาคใต้ทั้งหมด
การพัฒนาที่ดีต้องไม่มีใครเสีย ภาคปชช. วอนรัฐหยุดเขื่อนภาคใต้ทั้งหมด
โลกยุคใหม่หันหลังให้เขื่อน มุ่งสู่การจัดการน้ำไม่ฝืนธรรมชาติ นักวิชาการ มองการพัฒนาทุกคนต้องเสียสละไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง ด้านภาคประชาชนเรียกร้องรัฐหยุดโครงการเขื่อนทั้งหมดในภาคใต้
เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2560 ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ( www.isranews.org ) กรณีความพยายามก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่ภาคใต้หลายแห่ง ภายหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า การจะแก้น้ำท่วมต้องแก้ตั้งแต่ต้นน้ำลงมา ซึ่งจะยุติธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่เมืองเอาตัวรอดด้วยการไปสร้างเขื่อนด้านบน แล้วขุดคลองไม่ให้น้ำเข้าเมือง แต่เมืองที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุทกภัยจะไม่รับผิดเลยคงไม่ได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมรับผิดชอบและปกป้องไม่ใช่เอาเเค่เพียงเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว เพราะถ้าคิดแบบนี้คนส่วนหนึ่งต้องแบกรับภาระในการจัดการภัยพิบัติ เกิดความไม่ยุติธรรมในสังคม
ดร.ไชยณรงค์ กล่าวว่า ในการพัฒนามักจะคิดแบบเพื่อคนส่วนใหญ่ ซึ่งไม่เห็นด้วย เรามักอ้างเรื่องเศรษฐกิจ แต่ไปละเลยสิทธิของคนส่วนน้อยการทำแบบนี้ ยิ่งทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมทางสังคม เพราะฉะนั้นหากต้องการความยุติธรรม คำพูดนี้ต้องเลิกใช้ และมาคุยกันทุกฝ่ายว่าการจัดการน้ำควรเป็นอย่างไร เราต้องไม่พูดว่าใครต้องเสียสละ มาคุยว่าเราจะจัดการน้ำทั้งระบบอย่างไร ซึ่งทุกคนต้องเสียสละไม่ใช่เมืองไม่ต้องเสียสละ และคนต้นน้ำต้องยอมเสีย แบบนี้ก็ใช้ไม่ได้
“เวลาถามว่าทำไมพื้นที่เหล่านี้เกิดอุทุกภัยหนักเบาไม่เท่ากัน เราต้องไปดูว่าพื้นที่เหล่านั้นเป็นอย่างไร มีปัจจัยหลายประการ ไม่ใช่รายงานแค่ว่ามีปริมาณน้ำฝนมาก หรือบอกว่ายังไม่มีเขื่อนเก็บน้ำ ซึ่งหากดูในหลายพื้นที่อย่างบางสะพานที่เดือดร้อนหนัก และมีผู้เสียชีวิตด้วย ก็เกิดจากตัวเขื่อนที่มีน้ำล้นออกมา ไม่มีระบบการเตือนภัย ทำให้ประชาชนไม่สามารถที่จะรับมือกับเหตุภัยพิบัติได้ทันท่วงที”
ดร.ไชยรงค์ กล่าวด้วยว่า ในขณะที่บริบทของโลกเปลี่ยนไปแล้ว ประเทศต้นกำเนิดเขื่อนอย่างสหรัฐอเมริกา ก็รื้อเขื่อนทิ้ง 1,100 แห่ง จะพบว่า ไม่ใช่เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการจัดการน้ำ การจัดการที่ดีที่สุดคือการให้แม่น้ำไหลอย่างอิสระ และการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พื้นที่ชุ่มน้ำ ริมน้ำ มีแต่ประเทศกำลังพัฒนาที่ยังคลั่งการสร้างเขื่อน เพราะดันไปว่าเป็นวิธีการจัดการน้ำที่ดีที่สุด เราไม่เคยเรียนรู้จากประเทศผู้ให้กำเนิดว่า ความคิดเกี่ยวเขื่อนเปลี่ยนไปแล้ว
ขณะที่ทางด้านกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนท่าแซะในพื้นที่ ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร และจากหลายพื้นที่ในภาคใต้ เช่น โครงการก่อสร้างเขื่อนวังหีบ จังหวัดนครศรีธรรมราช ประมาณ 300 คน รวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และสิทธิในการใช้ชีวิตเนื่องในวัน หยุดเขื่อนโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 14 มีนาคม ของทุกปี โดยประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า
1.ขอเรียกร้องรัฐบาลยกเลิกแผนการสร้างเขื่อนในภาคใต้ทั้งหมด
2.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลวางแผนการจัดการน้ำ ทั้งน้ำท่วม และการขาดแคลนน้ำโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ใช่มาจากการผลักดันของราชการ นักธุรกิจ และนักการเมือง
3.ขอให้รัฐบาล ข้าราชการ นักธุรกิจ นักการเมืองยุติการข่มขู่คุกคาม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนทุกรูปแบบ และให้หันมาเคารพสิทธิมนุษยชนโดยทันที
4.ให้รัฐบาลตรวจสอบความล้มเหลวในการป้องกันน้ำท่วมของเขื่อนในภาคใต้ ที่ทำให้เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมในต้นปีที่ผ่านมา และสั่งการให้กลุ่มชลประทานจัดทำแผนรับมือต่อความเสี่ยงที่เกิดจากเขื่อนที่สร้างไปแล้วโดยเร่งด่วน
โดยทางภาคประชาชนกล่าวด้วยว่า การจัดการน้ำจะต้องมาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และจะต้องยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน น้ำเพื่อชีวิต ไม่ใช่เพื่อความตาย