- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- คลุกวงใน! ฟังเหตุผล 4 ช่องดิจิทัล ถ่ายสดล้อมจับ ‘ดร.วันชัย’ ยิงตัวเอง
คลุกวงใน! ฟังเหตุผล 4 ช่องดิจิทัล ถ่ายสดล้อมจับ ‘ดร.วันชัย’ ยิงตัวเอง
หมายเหตุ:สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) หยิบยกบางช่วงบางตอนในการประชุมร่วมบรรณาธิการข่าววิทยุโทรทัศน์ เเละองค์กรวิชาชีพ ปมช่องทีวีดิจิทัลถ่ายทอดสดเหตุการณ์ล้อมจับ ดร.วันชัย ดนัยตโมนุท ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เเห่งประเทศไทย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ขณะนี้สื่อมวลชนกำลังถูกตั้งคำถามจากสังคมต่อการทำหน้าที่ตามกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพ นับตั้งแต่การนำเสนอข่าวคดีเกาะเต่า ปอ ทฤษฎี จนมาถึง ดร.วันชัย ดนัยตโมนุท ผู้ต้องหาตามหมายจับ ใช้อาวุธปืนยิง 2 อาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร เสียชีวิต ที่มีการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ล้อมจับ ณ โรงแรมสุภาพ ยาวนานร่วม 6 ชั่วโมง โดยไม่มีการเซ็นเซอร์ภาพ
ทำให้คณะอนุกรรมการกำกับผังรายการและเนื้อหารายการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ที่มีพล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ เป็นประธาน เชิญผู้ประกอบการ 4 ช่องทีวีดิจิทัล ได้แก่ ไทยรัฐทีวี เนชั่นทีวี สปริงนิวส์ และทีเอ็นเอ็น 24 ซึ่งมีการถ่ายทอดสดเป็นระยะเวลานาน เข้าชี้แจง กรณีอาจเข้าข่ายผิดตามมาตรา 37 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
(อ่านประกอบ:อนุฯ ผังรายการ ยังไม่ชี้โทษ 4 ช่องดิจิทัล ถ่ายทอดสด ล้อมจับ ‘ดร.วันชัย’ ผิด ม.37)
ขณะที่ท่าทีขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้เชิญบรรณาธิการข่าววิทยุโทรทัศน์เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือถึงปัญหาของการนำเสนอข่าวและแนวทางการแก้ไขปัญหาในอนาคต โดยมีการถกประเด็นกันอย่างกว้างขวาง หนึ่งในนั้น คือ 4 ช่องทีวีดิจิทัล ที่มีการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ล้อมจับ ดร.วันชัย ด้วย
ทีเอ็นเอ็น:ไม่เคยคิดว่า “กำลังถ่ายทอดสดความตาย”
“ในวิชาชีพการทำหน้าที่สื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสถานีข่าว อย่างไรก็ต้องทำ”
‘สุวรรณา บุญกล่ำ’ รองผู้อำนวยการข่าวและรายการ สถานีโทรทัศน์ ทีเอ็นเอ็น 24 ยืนยันถึงความจำเป็นต้องถ่ายทอดสดยาวเหตุการณ์ในวันนั้น บางคนไม่ได้อยู่ในพื้นที่ อาจไม่รู้ทั้งหมดว่า เราเห็นหน่วยคอมมานโด สไนเปอร์ จึงต้องเลือกนำเสนอบางช๊อต เพื่อสื่อสารว่า สถานการณ์ไม่ปกติ
อย่างไรก็ตาม ไม่คาดคิดว่าจะลากยาว 5-6 ชั่วโมง เพราะเราเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นตลอดเวลา จึงตัดสินใจถ่ายทอดสดต่อ แต่สักพักกลับมีความตึงเครียดเกิดขึ้นสลับกับความผ่อนคลาย แน่นอน! สื่อย่อมคาดหวังว่า ทุกอย่างจะจบสวย โดยมีภาพในหัวตลอดเวลาและทุกนาทีว่า ดร.วันชัย จะวางปืน เดินเข้าไปสวมกอดเพื่อนรุ่นพี่หรือแฟนแล้วร้องไห้
“ไม่เคยมีวินาทีเดียวที่คิดว่า เรากำลังถ่ายทอดสดความตาย และไม่คิดว่าเป็นการละเมิดสิทธิ ตรงกันข้ามกลับเป็นการปกป้องผู้ต้องหาจากการถูกวิสามัญฆาตกรรม”
การปกป้องผู้ต้องหานั้น สุวรรณา บอกว่า ให้ลุกขึ้นมาบอกความจริง เกิดอะไรขึ้นในหลักสูตรการศึกษาที่มีปัญหา รวมถึงความขัดแย้งที่มีการพาดพิงไปยัง 2 อาจารย์ที่เสียชีวิต และสื่อสารข้อเท็จจริงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่มองเป็นเรื่องปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างทางการศึกษา การจัดการเรียนการสอน รวมถึงวุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้มีปัญญาเกิดขึ้นในสังคม
ไทยรัฐทีวี:เรา “พลาด” แต่เรา “ไม่ผิด”
ด้านผู้บริหารไทยรัฐทีวี ‘พีระวัฒน์ โชติธรรมโม’ ผอ.ฝ่ายบรรณาธิการ บอกถึงการถ่ายทอดสดเป็นเวลานานเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง แต่อาจพลาดในวิธีปฏิบัติบางข้อ ทำให้เกิดกระแสวิพาษ์วิจารณ์ขึ้นในสังคม แต่ต้องยอมรับว่า ผู้ชม ผู้วิจารณ์ ไม่ได้รับชมตลอดเวลา
“เราคิดว่าสถานการณ์ไม่น่าเกินชั่วโมง แต่เวลาที่ถูกปล่อยทอดยาว เนื่องจากการตัดสินผิดพลาดในบางเรื่อง ซึ่งไม่มีใครพูดถึง ยกเว้นการพูดถึงเฉพาะสื่อไม่ควรนำเสนอภาพข่าวขนาดนี้” เขากล่าว และว่า หากผู้ที่รับชมการถ่ายทอดสดเป็นเวลานาน ตั้งแต่ต้นจนจบจะเห็นว่า มีฉากที่พลาดมากที่สุด คือ ดร.วันชัยหยิบปืนจ่อศีรษะ
พีระวัฒน์ กล่าวว่า โดยปกติสัญชาตญาณของช่างภาพ 100% ย่อมซูมกล้องแน่นอน เพราะก่อนหน้านั้นมีภาพนิ่งออกจากตำรวจก่อนแล้ว ทุกคนจึงพยายามหามุมดีที่สุด เราจึงบอกให้ช่างภาพทำภาพระยะห่างออกมา แล้วหาอุปกรณ์เบลอภาพ ซึ่งการเบลอนั้นสามารถเบลอสดด้วยซอฟต์แวร์หน้าจอ และเอ้าท์โฟกัส อย่างไรก็ตาม เทคนิคอาจช้าในเชิงการตัดสินใจ
พร้อมกันนี้ เขายืนยันไม่มีนักข่าวคนใดจะใช้คำว่า “นี่คือการฆ่าตัวตาย” แต่เลือกใช้คำว่า “นี่คือการเจรจา” แต่วาทกรรมถ่ายทอดสดฆ่าตัวตายกลับถูกประดิษฐ์ขึ้นในเวลานั้น ทั้งที่ความจริง ดร.วันชัย กำลังนำตัวเองเป็นตัวประกันเพื่อไม่ให้ตำรวจจับกุม ฉะนั้นจึงเป็นการรายงานข่าวเหตุการณ์การล้อมจับคนร้าย ก่อนจะพัฒนาไปสู่จุดที่ทุกคนไม่คาดคิด
ผู้บริหารช่องไทยรัฐทีวี กล่าวต่อว่า บทเรียนที่เกิดขึ้นจากการทำงานครั้งนี้เกิดจากเทคโนโลยีทันสมัย ‘เฟซบุ๊กไลว์’ ซึ่งช่องข่าวต้องวิ่งแข่ง ประกอบกับสถานการณ์เฉพาะหน้าต้องตัดสินใจ และสัญชาตญาณของคนทำข่าว จึงถามว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจะหาข้อยุติกันอย่างไร เพราะคงร่างคู่มือแนวทางปฏิบัติไม่ทัน
“อะไรที่ไม่ทำแล้วคู่แข่งโซเซียลมีเดียทั้งระบบล้อมเข้ามาทุกทีจะทำอย่างไร เราไม่ได้รับผิดชอบคนไม่กี่คน แต่เรารับผิดชอบคนทั้งองค์กร เรารับผิดชอบจรรยาบรรณนักข่าว เพราะฉะนั้นก่อนจะกล่าวหาว่าใครผิดหรือใครพลาด จึงอยากให้มีการทบทวน หากทบทวนแล้วผิด จะยอมรับว่าผิด
หากไม่หาประเด็นร่วมกัน สักวันหนึ่งจะมีใครสักคนไปถึงจุดนั้น เพราะสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป บางข่าวทำไม่ได้ บางข่าวทำได้ แต่กำลังจะทำไม่ได้ สุดท้ายนักข่าวก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะ ‘ความกลัว’ ที่มีต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ถือเป็นจุดเสื่อมของการทำหน้าที่สื่อ อย่างไรก็ตาม ยืนยันเราพลาด แต่เราไม่ผิดในการตัดสินใจ” พีระวัฒน์ สรุป
เนชั่นทีวี:หากินกับ “ความตาย” วาทกรรมนี้ “น่ากลัวมาก”
ขณะที่ ‘วีระศักดิ์ พงศ์อักษร’ บรรณาธิการบริหาร เนชั่นทีวี บอกเล่าถึงการเข้าชี้แจงข้อมูลต่อ กสทช. กรณีถ่ายทอดสดเหตุการณ์การล้อมจับ ดร.วันชัย ว่า กสทช.และสังคมกำลังตั้งคำถามว่า การถ่ายทอดสดเหตุการณ์ลักษณะนี้เป็นเรื่องส่วนตัวหรือสาธารณะ และมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด ซึ่งเราจะตอบคำถามเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อประกอบการพิจารณาเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 37 หรือไม่
ทั้งนี้ เท่าที่ฟังกรรมการ กสทช. เสียงส่วนใหญ่มองเป็นเรื่องส่วนตัว จึงไม่สมควรถ่ายทอดสดเป็นเวลานาน แต่เราพยายามอธิบายว่า “ไม่ต้องการหากินกับความเป็นความตาย” เพราะวาทกรรมนี้น่ากลัวมาก กับการมองไปในลักษณะเช่นนี้ แต่โจทย์แรกของการนำเสนอข่าว คือ การล้อมจับ ดร.วันชัย ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย
ส่วนที่ทุกคนมองการนำเสนอข่าวเพื่อต้องการเรตติ้ง เขามองว่า เป็นข้อสรุปแบบสูตรสำเร็จเกินไป หากศึกษาปรากฎการณ์นี้คิดว่า หลายช่องไม่ต้องการเรตติ้ง แต่เป็นความพร้อมใจโดยมิได้นัดหมาย เพราะเหตุการณ์นี้มีเรื่องราว ซึ่งสังคมไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก
สปริงนิวส์:สภาวิชาชีพสื่อ ต้องสร้าง “หลักเกณฑ์” คุมกันเอง
สุดท้าย ‘โกศล สงเนียม’ ผช.ผอ.สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ แม้จะมีความเข้าใจในปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น อันเกิดจากการเสียชีวิตของ ดร.วันชัย แต่ก็ตั้งคำถามเช่นกันว่า กระบวนการทำงานของตำรวจกลับหายไปจากหน้าสื่อ
เขายังบอกด้วยว่า ในการเข้าชี้แจงต่อ กสทช. มีการหยิบยกมาตรา 37 ขึ้นมา และอดีตผู้พิพากษาศาลปกครองรายหนึ่ง พูดถึงการละเมิดสิทธิมนุษชน ซึ่งเชื่อว่า จะมีกระบวนการหารืออีกครั้ง เพื่อนำไปสู่การพิจารณา โดยปกติมีโทษตั้งแต่ตักเตือน พักใบอนุญาต และถอนใบอนุญาต
“ช่องข่าวกังวลว่า ถ้าผลการพิจารณาลงโทษตักเตือน อนาคตจะทำงานยาก ฉะนั้นสภาวิชาชีพฯ จึงควรเป็นแรงขับเคลื่อนเพื่อกำหนดทิศทาง มาตรการ และกลไก ต่าง ๆ การนำเสนอข่าวลักษณะใดควรระมัดระวังเป็นพิเศษ” ผช.ผอ.สปริงนิวส์ กล่าว
ทั้งหมด คือ เหตุผลของ 4 ช่องทีวีดิจิทัล ที่ออกมาชี้เเจงไปยังสังคม ซึ่งกำลังวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำหน้าที่สื่อในขณะนี้ .
อ่านประกอบ:โชว์หนังสือ กสทช. เตือนผู้บริหาร'ฟรีทีวี' เนื้อหาแพร่สดล้อมจับผู้ต้องหา 'รุนแรง')
กรมสุขภาพจิต ย้ำสื่อใช้ FB Live ถ่ายสดความรุนแรง อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้