- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- เปิดงานวิจัยค้นรายจ่ายด้านการศึกษาภาครัฐ ชี้ 5 ปี นาทีทองครูเกษียณหลักแสน
เปิดงานวิจัยค้นรายจ่ายด้านการศึกษาภาครัฐ ชี้ 5 ปี นาทีทองครูเกษียณหลักแสน
“ในช่วง 5 ปีนี้ ถือเป็นช่วงนาทีทองจะมีครูเกษียณอายุราชการเกือบ 1 แสนคน หรือคิดเป็นปีละ 2 หมื่นคนทยอยไปเรื่อยๆ ปัจจุบันครูสพฐ.มีอยู่ประมาณ 4 แสนคน หรือ 1 ใน 4 ของข้าราชการครูทั้งประเทศ ซึ่งต้องช่วยกันคิดและศึกษาหาแนวทางการเกลี่ยอัตรากำลังคนอย่างไรให้สอดคล้องกับความจำเป็น”
- ประเทศไทยลงทุนด้านการศึกษาเพียงพอหรือไม่
- รัฐจัดสรรเงินเพื่อการศึกษาจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ เพราะเหตุใด
- ลงทุนด้านการศึกษาอย่างไรถึงคุ้มค่า
และหากจะถามว่า รายจ่ายด้านการศึกษาภาครัฐถูกนำไปใช้ในเรื่องใดบ้างนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาสุขภาพและการศึกษาของนักเรียน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และธนาคารโลก (World Bank) จัดเวทีเสวนา "เจาะลึกรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทย" พร้อมเปิดผลวิจัย ที่โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส กรุงเทพ
ผลวิจัยรายจ่ายการศึกษาไทย โดยโครงการพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาสุขภาพและการศึกษาของนักเรียน มธ. ค้นพบว่า
ประเทศไทยใช้งบประมาณลงทุนด้านการศึกษาปี 2559 มากถึง 878,878 ล้านบาท คิดเป็น 6.1% ของจีดีพี สูงกว่าประเทศกลุ่ม OECD ที่ลงทุนเพียง 5.2% ของจีดีพี
ขณะที่งบประมาณด้านการศึกษาต่องบประมาณแผ่นดิน คิดเป็น 1 ใน 4 ของงบประมาณแผ่นดิน (รวมส่วนกลางและท้องถิ่น) ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก และกลุ่ม OECD
ดังนั้นในภาพรวมประเทศไทยมีการลงทุนด้านการศึกษาสูง 9 แสนล้าน
บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ งบประมาณด้านการศึกษาของรัฐเพื่อจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่วนใหญ่ 70% เป็นค่าใช้จ่าย "เงินเดือนครู และบุคลากรทางการศึกษา" เหลือเป็นงบอุดหนุนเพียงแค่ 30% เท่านั้น
กอปรกับปัจจุบันจำนวนครูและบุคลากรทางการศึกษายังได้เงินค่าตอบแทนและเงินวิทยฐานะ 3 ใน 4 ของทั้งหมดได้รับวิทยฐานะชำนาญการ หรือชำนาญการพิเศษ อีกทั้งครูส่วนใหญ่มีอายุราชการเฉลี่ยสูง
การที่ครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะ ทำให้รัฐบาลควักจ่ายปีละ 35,000 ล้านบาท
ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาสุขภาพและการศึกษาของนักเรียน รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ชัดว่า แกนของปัญหาครูที่ใช้งบประมาณสูงสุด หากรัฐอยากจะหางบประมาณก็ต้องคิดตรงจุดนี้ด้วย
"ช่วง 5 ปีจากนี้ ถือเป็นช่วงนาทีทองจะมีครูเกษียณอายุราชการเกือบ 1 แสนคน หรือคิดเป็นปีละ 2 หมื่นคนทยอยไปเรื่อยๆ ปัจจุบันครูสพฐ.มีอยู่ประมาณ 4 แสนคน หรือ 1 ใน 4 ของข้าราชการครูทั้งประเทศ ซึ่งต้องช่วยกันคิดและศึกษาหาแนวทางการเกลี่ยอัตรากำลังคนอย่างไรให้สอดคล้องกับความจำเป็น”
สำหรับตัวเลขงบประมาณด้านการศึกษาที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนั้น ในมุมมอง ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก อดีตรองเลขาธิการสพฐ.ก็เห็นสอดคล้องกับงานวิจัยว่า ส่วนมากเป็นรายจ่ายในหมวดงบบุคลากรสูงสุด ซึ่งต้องจ่าย รวมถึงค่าวิทยฐานะด้วย ใครทำได้ใครทำผ่านก็ต้องจ่าย นอกจากนี้ยังมีเงินเดือนเต็มขั้นก็มีการจ่ายเพิ่มอีก 4% รวมถึงการเยียวยากระโดดข้ามขั้นได้อีก ทั้งหมดทำให้งบประมาณบุคลากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“งบบุคลากรที่สูงเป็นค่าตอบแทนครู วันนี้เราทำอะไรอย่างอื่นไม่ได้ ถ้ากฎหมายยังไม่แก้ไข หนทางเดียวที่ทำได้ คือทำให้คนของเราดีและเก่ง มีความรับผิดชอบมากขึ้น แม้ว่าครูไทยจะทำงานเหนื่อย แต่ผมยังเห็นว่า ครูยังก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งแรงจูงใจจากภายในยังน้อย ขยันกับไม่ขยันผลตอบแทนเท่ากัน ซึ่งแตกต่างจากครูโรงเรียนเอกชนมาก ถ้าทำงานและผลผลิตตกลงกระทบค่าตอบแทน”
ดร.รังสรรค์ ได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ครู หรือผู้บริหารโรงเรียน หากพบเด็กอ่านหนังสือไม่ออกค่อนโรงเรียน ก็ยังได้รับเงินเดือน ได้รับเงินวิทยฐานะเต็มในแต่ละเดือน ซึ่งเราอาจต้องเอาตัวชี้วัดผลของผู้เรียนกับค่าตอบแทนมาผูกกันเหมือนโรงเรียนเอกชน
อดีตรองเลขาธิการสพฐ. ชี้ว่า ตราบใดเรายังมีความคิดว่า เรื่องของเงินเดือนหรือค่าตอบแทนแตะต้องไม่ได้ เงินใครเงินมัน สิ้นเดือนก็โอนเข้าบัญชี ตรงนี้ต้องเปลี่ยนได้แล้ว เพราะโรงเรียนเอกชนได้รับเงินอุดหนุนน้อยกว่าโรงเรียนรัฐ เขาเอาเงินเดือนครูใส่ไปเงินอุดหนุนรายหัวของเด็ก และเขาบริหารโดยคิดแค่ไหนถึงคุ้มทุน ฉะนั้นจึงต้องหานักเรียนมาเรียนให้คุ้มทุน ให้มีกำไรเพิ่มขึ้น เป็นไปได้หรือไม่ที่โรงเรียนสพฐ.อาจต้องใช้วิธีการแบบนี้ ถือเป็นการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบ
ขณะที่นายชาญ ตันติธรรมถาวร ผู้ตรวจราชการ กระทรวงศึกษาธิการ วิเคราะห์เสริมถึงคุณภาพการศึกษาไทยว่า เด็กยิ่งเรียนชั้นสูงขึ้น โอเน็ตของเด็กยิ่งคะแนนลดลง โรงเรียนขนาดใหญ่ที่ส่วนใหญ่มีครูชำนาญการพิเศษมากนั้น แต่ความชำนาญการพิเศษของครูในโรงเรียน กลับไม่ได้ส่งผลคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยดีขึ้นเลย
“คุณภาพการศึกษาของเด็กในโรงเรียนขนาดใหญ่ดีขึ้น อาจเป็นเพราะฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ปกครองที่พยายามส่งลูกเรียน ไปเรียนพิเศษข้างนอก แล้วโรงเรียนก็เอาผลการเรียนของเด็กที่ดีขึ้น มาเป็นผลงานของโรงเรียน ซึ่งบางครั้งโรงเรียนแทบไม่ได้ทำอะไรด้วยซ้ำไป ฉะนั้นจึงบอกไม่ได้ว่า โรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีคะแนนโอเน็ตเด็กเกิน 50% เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพจริงอย่างที่คิด ผมคิดว่า พ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนทำให้โรงเรียนดีขึ้น ”
ผู้ตรวจราชการ กระทรวงศึกษาธิการ มองว่า งบบุคลากรทางการศึกษา เงินที่จ่ายลงไปสู่ผู้บริหาร และครู ไม่ส่งผลต่อคุณภาพของเด็ก เงินวิทยฐานะจ่ายเป็นหมื่นล้านบาทก็ไม่ได้ทำให้คุณภาพการศึกษาไทยดีขึ้น ไม่ว่าเด็กจะมา ไม่มาเรียน คะแนนโอเน็ตแย่ลง ผู้บริหารและครูยังได้เงินเดือนเหมือนเดิม แถมเพิ่มขึ้นทุกปี
“เรื่องวิธีการจัดสรรเงิน เป็นเรื่องสำคัญ ตราบใดโรงเรียนแย่ลง เด็กไม่มาเรียน ทุกคนยังได้เงินเดือนเหมือนเดิม ไม่มีประโยชน์อะไร ซึ่งต้องเปลี่ยนวิธีการจัดสรรเงิน โดยเงินที่ไปสู่ตัวเด็กต้องเป็นเงินที่รวมเงินเดือนบุคลากรเข้าไปด้วยถึงจะทำให้ผู้บริหารโรงเรียน และครู เกิดความรับผิดรับชอบ เด็กไม่มาเรียนโรงเรียนได้รายหัวน้อยลง หากเรายังจัดสรรเงินแบบทุกวันนี้ บอกได้เลย เตี้ยอุ้มค่อม”
นอกจากนี้ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงศึกษาธิการ ยังเห็นว่า บ้านเรายังมีครูเกินในระบบอยู่เยอะ ยังเอาออกไม่ได้ ไม่เป็นไร แต่เมื่อไหร่เกษียณต้องปัดออกทันที ผอ.เกษียณต้องยุบเลิกตำแหน่ง ครูเกษียณก็เช่นกัน หากยังปล่อยให้มีผอ.โรงเรียน 3 หมื่นคนไปเรื่อยๆ ก็เสียเงินไปปีละ 3 หมื่นล้านบาท
นายชาญ ยืนยันว่า งบประมาณด้านการศึกษาบ้านเรามีมากเพียงพอสามารถทำอะไรได้อีกเยอะ แต่ที่ทำไม่ได้วันนี้เพราะต้องจ่ายเป็นเดือนผู้บริหารและครูเสียหมด
พร้อมกับตั้งคำถามทิ้งท้าย ทำอย่างไรให้ผู้บริหารโรงเรียน ครู มีความรับผิดชอบต่อผู้เรียน และคุณภาพของเด็ก
“ ระบบบริหารงานบุคคลเป็นระบบราชการที่แข็งตัวมาก ทุกคนยังได้ขึ้นเงินเดือนเหมือนเดิมต่อให้คุณภาพการศึกษาไม่ดีขึ้น นี่อาจเป็นเพราะเราไม่มีการกระจายอำนาจลงสู่โรงเรียน เพื่อให้รับผิดรับชอบให้เขามีอำนาจตัดสินใจ”
ขณะที่ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย ฉายภาพตอกย้ำถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีแนวโน้มแย่ลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยคุณภาพการศึกษาถดถอยลงเรื่อยๆ ทั้งที่งบประมาณต่อนักเรียนเพิ่มขึ้น
พร้อมกันนี้ เขาได้ทำแบบจำลองแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและการลดความสิ้นเปลืองของงบประมาณ พบว่า ประเทศไทยมีครูเพียงพอ ซึ่งครูและทรัพยากรด้านการศึกษาของประเทศถูกกระจายไปสู่ห้องเรียนจำนวนมากเกินไป จนไม่เพียงพอต่อความต้องการของแต่ละห้องเรียน
สิ่งสำคัญโรงเรียนในระดับประถมศึกษาของไทยมีขนาดห้องเรียนที่เล็กที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับ 39 ประเทศ กลายเป็นสาเหตุหลักของความถดถอยของคุณภาพการศึกษาไทย นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลก จึงมีข้อเสนอว่า หากมีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กของสพฐ. จะช่วยให้รัฐประหยัดงบประมาณได้เกือบ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะจากเงินเดือนครู อีกทั้งยังแก้ปัญหาการขาดแคลนครูได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
“การควบรวมโรงเรียนจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการบุคลากรได้อย่างมาก โดยความต้องการครูจะลดลงจาก 475,717 คน เหลือเพียง 373,620 คน”
ข้อค้นพบจากบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษา ในภาพรวมถือว่า ระดับการลงทุนด้านการศึกษาของบ้านเราไม่ได้ขาดแคลนอย่างที่เข้าใจกัน งบประมาณมีเพียงพอ แต่ติดปัญหาในการบริหารและการใช้ทรัพยากรของรัฐที่ยังไม่เกิดประสิทธิภาพนั่นเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
นักวิชาการเจาะลึกรายจ่ายด้านการศึกษา พบไทยลงทุนปีละกว่า 8 แสนล้าน สูงกว่าประเทศOECD
ที่มาภาพ:https://www.eef.or.th