นักวิชาการเจาะลึกรายจ่ายด้านการศึกษา พบไทยลงทุนปีละกว่า 8 แสนล้าน สูงกว่าประเทศOECD
เปิดผลวิจัยรายจ่ายด้านการศึกษาไทย นักวิจัยพบ ไทยลงทุนด้านการศึกษาปีละกว่า 8 แสนล้านบาท สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ชี้ชัดงบส่วนมากเป็นรายจ่าย เงินเดือนครูและบุคลากรทางการศึกษา แนะเปลี่ยนวิธีการจัดสรรเงินรายหัว
วันที่ 11 ตุลาคม ที่โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส กรุงเทพ โครงการพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาสุขภาพและการศึกษาของนักเรียน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และธนาคารโลก (World Bank) จัดเวทีเสวนา "เจาะลึกรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทย
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ.กล่าวตอนหนึ่งถึงรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทยในภาพรวม โดยเฉพาะงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ ประมาณ 5 แสนล้านบาทต่อปีนั้น เอาเข้าจริงงบประมาณด้านการศึกษาไม่ได้อยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น ยังไปที่กระทรวงอื่นๆ ด้วย ขณะเดียวกันยังมีการควักกระเป๋างบประมาณการศึกษาจากพ่อแม่ผู้ปกครองอีกด้วย
"ช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ขณะที่ภาคเอกชนก็ใช้จ่ายไม่ได้ลดลง จนพบว่า งบประมาณด้านการศึกษารวมภาครัฐ เอกชน พ่อแม่ผู้ปกครองควักกระเป๋าด้วยเกือบ 9 แสนล้านบาท"นพ.สุภกร กล่าว และว่า สำหรับนักเรียนที่ยากจนพิเศษที่มีกว่า 6 แสนคน ยังขาดการช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าต้องใช้งบประมาณ 1 พันล้านบาทต่องบปีการศึกษา
ขณะที่ นายสนิท แย้มเกษร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงงบประมาณเพื่อการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตัวเลขเด็กยากจนพิเศษกว่า 6 แสนคน จากนักเรียนสพฐ. 7 ล้านคน เชื่อว่า ยังมีของภาคส่วนอื่นๆ อีกที่ควรได้รับโอกาสเท่าๆ กัน
"การจัดงบประมาณ ที่ใช้ระบบเอาไปเท่าๆ กัน แม้ว่า จะเป็นความเสมอภาคเบื้องต้น แต่หากจัดสรรจากข้อมูลจริง เราต้องมานั่งดูแล้วว่า งานวิจัยค้นพบอะไรบ้าง เช่น การใช้ฐานของจังหวัดพื้นที่ที่น่านำมาคิด แต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง วันนี้ตัวเลขช่วยเด็กยากจนพิเศษด้วยงบประมาณ 1 พันล้านบาท สำหรับหน่วยงานอื่นอาจเป็นตัวเลขที่สูง สำหรับสพฐ.ถือว่าน้อยมาก"
ด้านรศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวถึงประเทศไทยลงทุนด้านการศึกษาปีละกว่า 8 แสนล้านบาท (ปี 2559) คิดเป็น 6.1% ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ( OECD)ที่ลงทุนด้านการศึกษาเพียง 5.2% ของจีดีพี ฉะนั้นในภาพรวมไทยไม่ได้ขาดแคลนทรัพยากร แต่ภาครัฐใช้จ่ายด้านการศึกษาสูง แต่มีประสิทธิภาพต่ำเรามีการลงทุน
" 100 บาทที่เราเสียภาษี 25 บาทถูกนำไปใช้เรื่องการศึกษา ขณะที่ประเทศเรามีบริการสาธารณะที่ต้องดูแลอีกเยอะ"
รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวอีกว่า ตัวเลขตั้งแต่ปี 2551-2559 ภาครัฐอุดหนุนการใช้จ่ายเพิ่มต่อเนื่อง 80% อีก 20% ร่วมจ่ายโดยภาคประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากผู้ปกครอง ยิ่งหากดูย้อนหลังไปถึงปี 2542 ตัวเลขอุดหนุนด้านการศึกษาเราจ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า สวนทางกับคุณภาพการศึกษา ทั้งนี้ มีนิมิตรหมายที่ดี คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเริ่มลงทุนด้านการศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในเด็กเล็ก ซึ่งกลายเป็นบทบาทหลักของท้องถิ่นไปแล้ว
สำหรับการเรียนฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า อาจเป็นความจริงแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะจากงานวิจัยพบว่า ครัวเรือนยังมีภาระในการสนับสนุนค่าใช้จ่าย เช่น เป็นค่าธรรมเนียม/ค่าเล่าเรียน (53%) ค่าเดินทางไปเรียน (28%) ค่าหนังสืออุปกรณ์ (9%) และค่าเครื่องแบบ (10%) ยิ่งหากแบ่งครัวเรือนตามชั้นรายได้จะพบว่า ครัวเรือนยากจนรับภาระด้านการศึกษาสูงกว่าครัวเรือนรวย คือใช้เงินมากกว่าเพื่อดูแลลูกเมื่อส่งไปโรงเรียน
"การจัดการศึกษาในบ้านเรายังไม่สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้จริง ยังมีเด็กอยู่นอกระบบอีกมากที่ยังขาดโอกาส ฉะนั้นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในระบบทั้งๆ ที่เราใช้เงินไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนที่สพฐ.เป็นผู้ผลิตจะมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต เนื่องจากจำนวนนักเรียนของสพฐ.แต่ละปีลดลงปีละกว่าแสนคน ขณะที่รายจ่ายด้านบุคลากรคาดว่าจะลดลงไม่มากนัก เห็นได้จากงบประมาณด้านการศึกษาของรัฐเพื่อจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น 3 ใน 4 เป็นเงินเดือนครู และบุคลากรด้านการศึกษา"
ทั้งนี้ รศ.ดร.ชัยยุทธ ยังมีข้อสังเกตุแนวทางการอุดหนุนงบประมาณด้านการศึกษา ที่เน้นความเท่าเทียมเป็นหลักเพราะข้อกฎหมาย หลายเรื่องไม่มีความจำเป็น เช่น แจกหนังสือเรียน ให้เสื้อผ้าและอุปกรณ์การเรียนเด็กทุกคน ขณะที่ระดับนโยบายก็ให้ความสำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำไม่มากเพียงพอ การพิจารณางบดำเนินการมักไม่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ เพราะขาดมูลเชิงลึกในระดับพื้นที่เพื่อใช้ในการตัดสินใจ พร้อมเสนอแนะให้พิจารณาปรับสูตรการจัดสรรเงินรายหัว ที่เน้นความจำเป็นของนักเรียนและความแตกต่างของพื้นที่เป็นสำคัญ รวมถึงการปรับสูตรที่ลดปัญหาจากขนาดโรงเรียน โรงเรียนขนาดใหญ่และใหญ่พิเศษได้เปรียบ เกิดแรงดึงดูด ทำให้ดึงเด็กจากพื้นที่บริหาร โรงเรียนขาดเล็กจำนวนเพิ่มขึ้นไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ เป็นต้น