- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- จ้างงานคนพิการทำงาน ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
จ้างงานคนพิการทำงาน ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
“วันนี้มีคนพิการในวัยทำงานกว่า 8 แสนคน 5 แสนคนไม่มีงานทำ ตัวเลขนี้น่าตกใจมาก ยิ่งเทียบกับคนปกติทั่วไป ยิ่งห่างกันลิบลับ เราจึงพยายามขับเคลื่อนเชื่อมโยงให้สถานประกอบการ ให้คนพิการได้ทำงานเชิงสังคมในชุมชน และประกอบอาชีพในชุมชน”
หากพูดถึงคนพิการ ถือได้ว่า พวกเขาเหล่านั้นต้องเผชิญชีวิตมากกว่าคนปกติทั่วๆไปหลายเท่า โดยเฉพาะการเข้าถึงอาชีพ หรือการมีงานทำเพื่อพึ่งพาตนเอง
จากสถิติพบว่า 90% คนพิการมีการศึกษาระดับประถมหรือต่ำกว่า ส่วนภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ไม่ได้ใกล้แหล่งการทำงาน ขณะที่สถานประกอบการส่วนใหญ่สภาพแวดล้อมก็ไม่ได้เอื้อ
“แค่ 3 ปัจจัยเหล่านี้ก็ทำให้โอกาสการเข้าถึงการทำงานของคนพิการแทบจะหายไปเลย” นายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานกรรมการมูลนิธินวัตรกรรมทางสังคม ระบุถึงสิ่งที่เขาได้พบจากการขับเคลื่อนการจ้างงานคนพิการเข้าสู่ปีที่ 4 โดยการสนับสนุนนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งทำให้คนพิการได้ทำงานเชิงชุมชน และประกอบอาชีพในชุมชนกว่า 4,000 คน มีบริษัทที่มีส่วนร่วมกว่า 400 แห่ง
การเข้าถึงอาชีพ เพื่อพึ่งพาตัวเองของคนพิการ มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมพยายามเชื่อมโยงสถานประกอบการที่กฎหมายกำหนดว่าต้องจ้างงานคนพิการ แต่ในความเป็นจริงเขาพบว่า ไม่มีสถานประกอบการใดจ้างครบ ส่วนใหญ่จึงเลือกส่งเงินเข้ากองทุนคนพิการ ตามมาตรา 34 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 กว่า 2,000 ล้านบาท
พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มาตรา 33 กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการต้องรับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการ กำหนดอัตราไว้ที่ 100:1
สำหรับธุรกิจบางประเภทอาจไม่เอื้ออำนวยต่อการจ้างคนพิการ ก็จะมีข้อยกเว้น กำหนดแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายภายในขอบเขต 3 วิธี ได้แก่
1.การจ้างคนพิการตามมาตรา 33
2.การให้บริการด้านอาชีพแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการตามมาตรา 35
และ 3. การส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 34
นายอภิชาต บอกว่า “วันนี้มีคนพิการในวัยทำงานกว่า 8 แสนคน 5แสนคนไม่มีงานทำ ตัวเลขนี้น่าตกใจมาก ยิ่งเทียบกับคนปกติทั่วไปยิ่งห่างกันลิบลับ เราจึงพยายามขับเคลื่อนเชื่อมโยงให้สถานประกอบการ ให้คนพิการได้ทำงานเชิงสังคมในชุมชน และประกอบอาชีพในชุมชน”
ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่จ้างคนพิการไม่ได้อยู่อีก 14,000 แห่ง โดยเลือกส่งเงินเข้ากองทุนคนพิการ นี่คือโอกาสของคนพิการและรูปแบบการจ้างงานเชิงสังคม
“การจ้างงานคนพิการเชิงสังคมไม่ง่าย ต้องมีคนกลางมาช่วยทำ เราขับเคลื่อนได้เพราะสสส.มาช่วยสนับสนุน คนพิการได้รับเงินเต็ม 100% จากบริษัทโดยตรง บริษัทโอนเงินให้คนพิการทุกเดือน ไม่ผ่านมือคนกลาง จากนั้นคนพิการก็ไปทำงานภารกิจทางสังคมในชุมชน เช่น รพ.สต.ทั่วประเทศ งานด้านอนามัย ผู้ช่วยครูที่โรงเรียน สภากาดชาดไทย เป็นต้น”
นายอภิชาต มองว่า ปัจจุบันสถานประกอบการมีทางเลือกตามกฎหมายส่งเงินเข้ากองทุนคนพิการได้อยู่แล้ว แต่การที่ภาคเอกชนหลายแห่งเลือกการจ้างงานคนพิการลักษณะทำงานในชุมชนนั้น นอกจากตอบโจทย์คนพิการ ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องย้ายภูมิลำเนาแล้ว ยังจะเกิดประโยชน์กับเขาเหล่านั้นโดยตรง
สำหรับตัวอย่างภาคเอกชนที่จ้างงานคนพิการ นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ระบุถึงการสนับสนุนการจ้างงานคนพิการว่า ที่ผ่านมากฎหมายกำหนดให้ภาคธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีสมาชิก 15 แห่งนั้น ต้องจ้างคนพิการเข้าทำงานไม่ต่ำกว่า 1 พันคน แต่ที่ผ่านมาก็พบว่า ภาคธนาคารมีการจ้างงานคนพิการในสัดส่วนที่น้อยมาก เราจึงหาวิธีการทำอย่างให้ให้ภาคธนาคารสามารถคนพิการทำงานได้มากขึ้น
“เมื่อได้มีโอกาสทำงานร่วมกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม เรามองเห็นสภากาดไทยมีหน่วยงานอยู่ทั่วประเทศ และมีความหลากหลายของงานที่สามารถจ้างคนพิการทำงานในชุมชนได้ ปีแรกสมาชิกสมาคมธนาคารไทย สามารถจ้างคนพิการทำงานที่สภากาชาดไทย 800 คน และเพิ่มขึ้นเป็น 1,100 คนในปีที่ 2 เข้าสู่ปีที่ 3 เรามีแผนขยายการจ้างงานคนพิการไปยังกาชาดอำเภอต่อไป รวมถึงการขยายเครือข่ายธนาคารของรัฐด้วย”
สำหรับผู้ดูแลกำลังคนในกลุ่มเซ็นทรัล ดร.ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ก็ให้ข้อมูลการจ้างงานคนพิการว่า ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่บริษัทต้องใส่ใจและออกแบบวิธีการที่เหมาะสม
ปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัล จ้างงานคนพิการทางสายตา 16 อัตรา เรียกว่า Happy Relax จัดนวดผ่อนคลายให้พนักงาน โดยหมอนวดตาบอด ใช้มาตรา 35 จ้างเหมาบริการเพิ่มสวัสดิการให้พนักงาน โดยนำเงินที่เคยส่งเข้ากองทุนฯ ตามมาตรา 34 มาจ้างเหมาบริการตามมาตรา 35 แทนให้คนพิการทางสายตาได้มาบริการนวดผ่อนคลายถึงบริษัท
“ในอดีตคนพิการเรียนระดับอุดมศึกษานั้นยากมาก เร็วๆ นี้ กลุ่มเซ็นทรัลจะมีโอกาสได้สัมภาษณ์คนพิการระดับหัวกะทิ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 11 คนด้วยกัน ซึ่งจะเป็นการทดลองวิธีการใหม่ว่า ตำแหน่งการจ้างงานแบบถาวร ตามมาตรา 33 คราวนี้เราจะดูว่า 11 คนนี้ เราสามารถจ้างงานแบบถาวรได้อย่างไร” ดร.ชาติชาย ระบุ และว่า กลุ่มเซ็นทรัลเล็งเห็นการอยู่ร่วมกันในสังคม อดีตเราจ้างคนพิการทำงานแต่จ้างได้น้อยมาก สืบเนื่องจากความไม่พร้อม และกฎหมายยังเป็นเรื่องใหม่ เราเลยเลือกจ่ายเงินเข้ากองทุนคนพิการไม่ต่ำกว่า แต่ประมาณ 4 ปีที่แล้ว “ทศ จิราธิวัฒน์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล ให้นโยบายว่า การจ่ายเงินเข้ากองทุนคนพิการไม่ได้ช่วยอะไร ให้ไปหาทางดู
ต่อมากลุ่มเซ็นทรัลจึงจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 มากขึ้น ดร.ชาติชาย เชื่อว่า การจ้างงานคนพิการแบบถาวร ให้เขาเป็นพนักงานประจำนั้นถือเป็นการช่วยแบบยั่งยืน ซึ่งวันนี้เราทำทั่วประเทศ กลุ่มเซ็นทรัล จ้างคนพิการทำงานประจำประมาณ 460 อัตรา (ส่วนใหญ่ไม่ได้จบปริญญาตรี)
เมื่อถามถึงสัดส่วนการจ่ายเงินเข้ากองทุนคนพิการตามมาตรา 34 นั้น เขายืนยันว่า ไม่จ่ายมาหลายปีแล้ว จากปีๆ หนึ่งจ่ายเข้ากองทุนฯ หลายสิบล้านบาท หลังๆ เราจ่ายเข้ากองทุนคนพิการน้อยลงๆ จนเมื่อ 2-3ปีที่แล้ว คือ ศูนย์เลย ไม่จ่ายเลย เราจ้างงานตามมาตรา 33 และมาตรา 35 ให้สัมปทานพื้นที่ จ้างงานเหมา และไปส่งเสริมอาชีพให้คนพิการ 7 จังหวัด 9 โครงการ ให้ผู้พิการรวมกลุ่มเลี้ยงไก่ ปลูกผัก ทำปุ๋ยไส้เดือน ให้รวมกลุ่มส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้มีรายได้ประจำ ส่วนผลิตภัณฑ์ก็ช่วยจำหน่ายให้
ส่วนโมเดลการทำงานกับคนพิการจนประสบความสำเร็จของกลุ่มเซ็นทรัล ดร.ชาติชาย บอกว่า คือการสร้างศูนย์ทำงานให้คนพิการ เราพบอัตราการอยู่กับเราไม่มีการลาออกเลย วันนี้เราไปสร้างที่มูลนิธิพระมหาไถ่ ที่จังหวัดชลบุรี อนาคตอาจตั้งศูนย์ที่จังหวัดขอนแก่น หรือตามภูมิภาคต่างๆ ด้วย
จะเห็นว่า “ความพิการ” ไม่ได้วัดที่ร่างกาย แต่ดูที่ความสามารถที่เราจะใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเท่าเทียม ภายในงาน GOOD Society Expo 2018 “ทำดีหวังผลเริ่มต้นที่เรา” โซน Social Inclusion คนปกติจะได้พบกับนิทรรศการที่จะทำให้เราเข้าใจการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม เมื่อเทคโนโลยีทำให้คน ไม่ว่าพิการหรือไม่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย ลองมาสัมผัสประสบการณ์ดี ๆ นี้ด้วยตัวเอง 13-16 กันยายนนี้ ที่ CentralWorld
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
จ้างคนพิการทำงานแล้ว กว่า 200 หน่วยงานสังกัดสธ.
ปตท.ไม่ใช่ หน่วยงานรัฐ กฤษฎีกาชี้เลือกส่งเงิน แทนจ้างคนพิการทำงานได้
‘ปลัดแรงงาน’คาดปลายต.ค.ได้ข้อสรุปชัดแนวทางจ้างคนพิการทำงานในชุมชน
ม. 33 ให้สิทธิในการจ้างงานคนพิการแค่ไหน ?
วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์:คนพิการพลเมืองชั้นผู้น้อย ถูกลืม-คิดถึงเป็นลำดับสุดท้าย
คกก.ประชารัฐเพื่อสังคม หนุนเอกชนจ้างงานคนพิการครบหมื่นตำแหน่งในปี 60
“ภาครัฐ -เอกชน-สังคม” ผนึกกำลังตั้งเป้าจ้างคนพิการทำงาน 1 หมื่นอัตรา ภายในสิ้นปีนี้