ม. 33 ให้สิทธิในการจ้างงานคนพิการแค่ไหน ?
"เป็นหน้าที่ของรัฐต้องไปจัดการตนเอง คุณได้จ้างงานคนพิการตามกฎหมายหรือยัง ทั้งอบต สาธารณสุข รพ.สต. กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงต่างๆ เมื่อคุณยังไม่ทำ แล้วจะไปอะไรหนักหนากับภาคธุรกิจที่จะหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อให้คนพิการมีงานทำ”
มาตรการที่เพิ่มโอกาสการประกอบอาชีพ การทำงานให้แก่คนพิการ ถูกระบุไว้ใน ตามมาตรา 33 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550
“การจ้างงานคนพิการเข้าทำงาน “ ถึงวันนี้คนพิการไทยได้ประโยชน์จากมาตรา 33 มากน้อยแค่ไหน คนพิการได้รับการปฏิบัติเหมือนบุคคลทั่วไปแล้วหรือยัง!
ย้อนกลับไป หลังจากมีการตรากฎหมายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฯ ขึ้นมา ปี 2550 เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ถัดจากนั้น 4 ปี กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงในปี 2554 กำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจะรับเข้าทำงาน รวมถึงจำนวนเงินที่นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคนพิการ
กฎกระทรวงข้อ 3 ระบุ
“ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ ซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป รับคนพิการที่สามารถทำงานได้ ไม่ว่าอยู่ตำแหน่งใดในอัตราส่วนลูกจ้างที่มิใช่คนพิการทุก 100 คนต่อคนพิการ 1 คน เศษของ 100 คน ถ้าเกิน 50 คน ต้องรับคนพิการเพิ่มอีก 1 คน”
หน่วยงานของรัฐ ก็ไม่เว้น ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน ซึ่งแต่เดิมกฎหมายเดิมนั้นไม่ได้ใช้บังคับกับภาครัฐ
ส่วนกฎกระทรวง ข้อ 5 ระบุ
“นายจ้างหรือสถานประกอบการผู้ใดที่มิได้รับคนพิการเข้าทำงานตามที่กำหนดในข้อ 3 และมิได้ดำเนินการตามมาตรา 35 ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคนพิการเป็นรายปี โดยคำนวณจากอัตราต่ำสุดของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ที่บังคับใช้ครั้งหลังสุด ในปีก่อนปีที่มีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุน คูณด้วย 365 และคูณด้วยจำนวนคนพิการที่ไม่ได้รับเข้าทำงาน”
“บุญธาตุ โสภา” ตัวแทนจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ข้อมูลไว้บนเวทีสาธารณะ เรื่อง “ม. 33 ให้สิทธิในการจ้างงานคนพิการแค่ไหน” จัดโดยคณะอนุกรรมการสื่อสารสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อเร็วๆ นี้ ถึงสถานประกอบการเอกชน ที่มีศักยภาพเข้าเกณฑ์สามารถจ้างคนพิการเข้าทำงานได้ ขณะนี้มีไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นแห่ง
ส่วนตัวเลขจำนวนคนพิการทั้งประเทศกว่า 1.7 ล้านคน แบ่งเป็นคนพิการที่อยู่ในวัยแรงงานจำนวนกว่า 7.6 แสนคน พบว่า มีคนพิการที่ได้ทำงานเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ยังมีคนพิการที่มีศักยภาพแต่ยังไม่ได้ทำงานมากถึง 3.5 แสนคน
ตั้งแต่มีกฎหมายบังคับใช้ ปี 2555 มีคนพิการได้รับการจ้างงาน ตามมาตรา 33 ของพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฯ เพียง 1.6 หมื่นคน จากนั้นก็เพิ่มขึ้นกระปริบกระปรอย ปีละประมาณแค่ 3 พันคน มาเพิ่มขึ้นปี 2558 มีคนพิการได้รับการจ้างงาน ตามมาตรา 33 จำนวน 2.8 หมื่นคน
เช่นเดียวกับการจ้างงาน ตามมาตรา 35 ของพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฯ ที่ระบุว่า
“กรณีที่หน่วยงานของรัฐ “ไม่ประสงค์” จะรับคนพิการเข้าทำงาน ตามมาตรา 33 หรือนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบการไม่รับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุน ตามมาตรา 34 หน่วยงานรัฐหรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้นอาจให้สัมปทานจัดสถานที่จำหน่ายสินค้า หรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วง หรือจ้างเหมาบริการวิธีพิเศษ”
จ้างงานคนพิการมาตรา 35 พบว่า ปี 2555 มีการจ้างงานคนพิการแค่ 1 พันกว่าสัญญา ล่าสุดปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 6 พันกว่าสัญญา
การจ้างงานคนพิการที่เพิ่มขึ้นจำนวนไม่มาก ปัจจัยหลักๆ มาจาก
1.คนพิการไม่ได้พร้อมกระโจนเข้าสู่ตลาดแรงงานเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เนื่องด้วยการศึกษา
การศึกษาของคนพิการ ตัวเลข ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2558 จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พบว่า คนพิการที่ไม่ได้รับการศึกษา แบ่งเป็นไม่ได้เรียนร้อยละ 48.66 หรือ 829,875 คน และอายุไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเรียน ร้อยละ 1.20 หรือ 20,429 คน
คนพิการมีการศึกษา พบว่า มีการศึกษาในระดับประถมศึกษามากที่สุดถึงร้อนละ 42.55 หรือ 725,626 คน รองลงมา คือระดับมัธยมศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพ ระดับอนุปริญญา ตามลำดับ
และพบว่า คนพิการได้รับการศึกษาระดับปริญญาตรีร้อยละ 0.82 หรือ 13,977 คน น้อยที่สุดคือการศึกษาในระดับสูงกว่าปริญญาตรีมีแต่ร้อยละ 0.07 หรือเพียง 2,246 คน
และ 2.ข้อจำกัดของนายจ้าง เจตคติของนายจ้างที่คิดว่าคนพิการทำงานไม่ได้ จึงยอมจ่ายเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปี เรียกว่า ผู้ประกอบการยอมโดนเสียค่าปรับ
แต่เป็นที่น่าชื่นใจยังมีตัวอย่างองค์กรนำร่องจ้างคนพิการทำงานทำงานในชุมชนกว่า 20 บริษัทชั้นนำ “รุ่งโรจน์ ตันติเวชอภิกุล” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เครือเบทาโกร ยอมรับว่า ตั้งแต่กฎหมายบังคับใช้ เครือเบทาโกรจ้างคนพิการตามมาตรา 33 ได้เพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งใช้วิธีเลือกส่งเงินเข้ากองทุนฯ
แต่เมื่อมีการจ้างงานแบบใหม่ เช่น สามารถจ้างคนพิการทำงานเพื่อชุมชน ภายใต้การดูแลบริษัทได้ ก็ทำให้บริษัทมีโอกาสเสนองานให้คนพิการได้หลากหลายมากขึ้น ชนิดความพิการที่เหมาะกับงานก็เปิดกว้าง จากที่จำกัดด้วยลักษณะของงานที่อยู่แต่ในกิจการของบริษัทเท่านั้น
ทุกวันนี้เครือเบทาโกรสามารถจ้างคนพิการทำงานได้ถึง 282 คน และเป็นการจ้างงานทางเลือกใหม่ 71 คน
“การจ้างงานรูปแบบใหม่ หรือการจ้างงานเพื่อสังคม ถือเป็นมิติใหม่การจ้างงานคนพิการ เป็นการส่งเสริมให้คนพิการได้มีโอกาสทำงานสาธารณสุขในชุมชนที่ตนเองพักอาศัย สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนพิการ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร ระบุ และชี้ว่า กฎหมายการจ้างงานคนพิการ มีทั้งทางเลือกทั้งมาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 35 หลายๆ สถานประกอบการก็พยายามไป มาตรา 34 คือ ไม่รับคนพิการเข้าทำงาน แต่ส่งเงินเข้ากองทุนฯ แทน ซึ่งอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับผู้พิการในประเทศไทย
สำหรับผู้ที่คลุกคลีทำงานกับคนพิการมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี “กรรณิการ์ สรวยสุวรรณ์” ผู้อำนวยการมูลนิธิพิทักษ์ดวงตาลำปาง กล่าวชื่นชมเครือเบทาโกรที่กล้าหาญ รับคนพิการเข้าทำงาน เมื่อวันนี้บริษัทเอกชนเริ่มทำกันแล้ว ภาครัฐคุณทำหรือยัง ?
เธอเห็นว่า คนพิการมี 7 ประเภทความพิการ แต่สำหรับคนพิการที่บกพร่องทางด้านการเรียนรู้ หรือออทิสติก เขาเหล่านี้แทบไม่มีโอกาสที่จะมีโอกาสเข้าไปทำงานเลย แต่เราสามารถฝึกคนพิการที่บกพร่องทางด้านการเรียนรู้ให้ไปทำงานในโรงเรียน ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เช่น การรับโทรศัพท์ แจกใบปลิว จ้างคนพิการเหล่านี้ที่มีความสามารถน้อย ทำงานได้
“ปัญหาที่เราเจอในชนบท บริษัทต่างๆ ที่จ้างงานคนพิการได้ปฏิบัติตามกฎหมายหมดไปแล้ว เช่นที่จังหวัดลำปางมี 62 บริษัทจ้างคนพิการทำงานครบหมดแล้ว ฉะนั้นการจ้างงานคนพิการในชุมชน ไม่รู้ผิดกฎหมายแรงงานหรือไม่ แต่อยากให้นักกฎหมายมองในแง่ของโอกาส และคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เปิดโอกาสให้คนพิการสามารถทำงานอยู่ในพื้นที่ของตนเอง ไม่ต้องดั้นด้นไปทำงานถึงบริษัท หรือเข้ามาทำงานในกรุงเทพ”
“กรรณิการ์” แสดงความเห็นด้วยว่า คนพิการต้องมีงานทำตามความพร้อมของร่างกาย ความรู้ความสามารถ เป็นหน้าที่ของรัฐต้องไปจัดการตนเอง “คุณได้จ้างงานคนพิการตามกฎหมายหรือยัง ทั้งอบต สาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงต่างๆ เมื่อคุณยังไม่ทำ แล้วจะไปอะไรหนักหนากับภาคธุรกิจที่จะหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อให้คนพิการมีงานทำ”
ผู้อำนวยการมูลนิธิพิทักษ์ดวงตาลำปาง กล่าวอย่างมั่นใจว่า การที่ผู้ประกอบการเอกชนจ้างงานคนพิการให้ทำงานในชุมชน ในพื้นที่ สำหรับคนพิการที่ด้อยโอกาสจริงๆ จะมีโอกาสเกิดขึ้นอย่างล้นเหลือ
ด้านตัวแทนเครือข่ายคนพิการ “ภัทรพันธุ์ กฤษณา” เลขานุการคณะกรรมการบริหารสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย จัดประเภทร่างกายบนรถเข็นวีลแชร์ของตัวเองว่า เป็นคนพิการประเภทรุนแรง เพราะเขาช่วยเหลือตัวเองแทบไม่ได้
ภัทรพันธุ์ บอกว่า การทำงานของคนพิการมีอุปสรรคสำคัญ คือ เรื่องของการเดินทาง ซึ่งตราบใดที่ขนส่งมวลชนยังไม่เอื้อแก่คนพิการอย่างทุกวันนี้ การหวังจะให้คนพิการเข้าไปทำงานในระบบ จึงเป็นเรื่องค่อนข้างยาก
“แม้หลายๆ บริษัทจะรับคนพิการเข้าไปทำงาน แต่เมื่อคนพิการไม่มีสตางค์มากเพียงพอ ไม่มีคนคอยช่วยเหลือ คนพิการแทบไม่สามารถเข้าสู่ระบบการทำงานได้เลย”
ส่วน “อัจฉราภรณ์ จันทร์ทองอ่อน” ลูกจ้างสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เธอพิการทางสายตา โดยเฉพาะตาขวาบอดสนิท และข้างซ้ายกำลังจะบอด ด้วยโรควุ้นตาเสื่อมในไม่ช้า
อัจฉราภรณ์ เคยทำงานเป็นธุรการ แต่เมื่อต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์ แสงจากจอคอมพิวเตอร์มีผลให้ตาซ้ายเสี่ยงอาจจะบอดสนิทในอนาคตได้ เธอจึงเลือกลาออกจากงานธุรการ เพื่อไปมาหางานทำใหม่ แต่ไปที่ไหนก็ไม่มีใครรับเข้าทำงาน เพราะติดปัญหาไม่มีบัตรคนพิการ หน่วยงานภาครัฐไม่ชัดเจน คนตาบอดข้างเดียว จัดเป็นคนพิการหรือไม่
คนพิการมีงานทำ การจ้างคนพิการทำงานในชุมชน จัดเป็นความท้าทายใหม่ แต่จากการดำเนินงานตามมาตรา 33 ให้สิทธิในการจ้างคนพิการทำงาน ผ่านมาแล้ว 8 ปี ยังพบอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความไม่สัมพันธ์ระหว่างสถานที่ตั้งของสถานประกอบการ กับภูมิลำเนาของคนพิการที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทาง อุปสรรคเรื่องความรู้ความสามารถของคนพิการไม่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ
ที่สำคัญยังพบอุปสรรค ความเห็นต่างของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินงานตามมาตรา 33 ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน บางหน่วยงานรัฐ เห็นว่า การจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 ลูกจ้างไม่จำเป็นต้องทำงานในสถานประกอบการของนายจ้าง และสามารถทำงานอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับลักษณะงานของสถานประกอบการได้ ตราบเท่าที่งานนั้นก่อให้เกิดประโยชน์แก่นายจ้าง
แต่ผู้ปฏิบัติงานอีกส่วนหนึ่งกลับเห็นว่า ลักษณะการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 ต้องเป็นการจ้างงานบุคคลเข้ามาทำงานในกิจการของสถานประกอบการ และไม่ใช่การจ้างงานอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับลักษณะงานของสถานประกอบการ
ความลักลั่นของการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่ไม่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันนี้เอง ส่งผลเสียต่อสิทธิประโยชน์คนพิการ ทั้งๆ ที่กฎหมายออกมาหวังป้องกันและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความพิการ เอาไว้แล้ว