นักวิชาการ ยันร่างพ.ร.บ.สารกำจัดศัตรูพืชฉบับใหม่ คุมเข้มโฆษณา ลด แลก แจก แถม
สภาเกษตรกรย้ำกม.ต้องบทลงโทษที่ชัดเจน ด้านกรมวิชาการเกษตรเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.สารกำจัดศัตรูพืชตัวใหม่หวังแก้วิกฤตสารเคมีในการเกษตร ส่วนศูนย์พัฒนานโยบายแห่งชาติด้านสารเคมีชี้พ.ร.บ.ฉบับเก่าตีความแบบกว้างทำให้มีช่องว่างในการนำเข้าสารเคมี
วันที่ 9 พฤศจิกายน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) จัดการประชุมวิชาการเพื่อเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปี 2559 โดยงานวันที่ 2 มีการอภิปรายเรื่อง พ.ร.บ. สารกำจัดศัตรูพืช การจัดการสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งระบบ ณ ศูนย์ประชุม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพฯ
ดร.ศราภา ศุทรินทร์ วิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.สารกำจัดศัตรูพืชฉบับนี้ มีการทำงานของคณะกรรมการสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)ใช้ระยะเวลาถึง 2 ปี จึงได้ร่างพ.ร.บ.พ.ร.บ.สารกำจัดศัตรูพืช ฉบับใหม่ และข้อมูลจากทั้งหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลเกี่ยวกับสารเคมีที่ใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืช รวมถึงภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ผู้นำเข้า ผลิต ผู้ขาย รวมถึงเกษตรกรและผู้บริโภค
สำหรับสาระสำคัญของพ.ร.บ.ความปลอดภัยจากการใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช และที่ร่างใหม่เพื่อต้องการให้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีทางการเกษตร แยกเฉพาะออกมาจากพ.ร.บ.วัตถุอันตราย ที่เป็นกฎหมายควบคุมและจำกัดดูแลสารหลายประเภท
"สารเคมีทุกชนิดที่ใช้อยู่ ไม่ว่าจะทางเกษตรหรืออุตสาหกรรมจะอยู่ภายใต้การดูแลของพ.ร.บ.ฉบับเดิม ซึ่งมีหลักการที่กว้างการนำเข้าสารเคมี เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้คือต้องการคุ้มครองเกษตรกร คุ้มครองประชาชนผู้บริโภคให้ได้รับอาหารที่ปลอดภัยและอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของภาครัฐที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างชัดเจน มีบทกำหนดโทษทางแพ่งและอาญา"
ดร.ศราภา กล่าวว่า ที่ต้องออกพ.ร.บ.สารกำจัดศัตรูพืช ฉบับใหม่ เพราะพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ใช้ครอบคลุมมาก ทำให้กฎระเบียบที่ออกมาเป็นควบคุมอย่างกว้าง ไม่ได้เฉพาะเจาะจงไปในเรื่องของสารเคมีที่ใช้ในทางเกษตรโดยตรง การแยกกฎหมายออกมาทำให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็อุดช่องว่าง
ดร.ศราภา กล่าวถึงหลักเกณฑ์ที่สำคัญของพ.ร.บ.สารกำจัดศัตรูพืช ฉบับใหม่ คือ การประกาศชนิดสารป้องกันศัตรูพืช โดยใช้หลักการป้องกันล่วงหน้า และเกณฑ์ขั้นต่ำในการใช้สารเคมีที่ชัดเจน ซึ่งเป็นไปตามกฎระเบียนกติการะหว่างประเทศ และจะการควบคุมเรื่องการโฆษณาและการส่งเสริมการขายยึดหลักกติการะหว่างประเทศ อีกทั้งการกำกับเรื่องโฆษณาจะรัดกุมมากขึ้น จะห้ามไม่ให้มีการส่งเสริมการขายใด ๆทั้งสิ้น
"ส่วนหลักเกณฑ์ในการควบคุมฉลากได้กำหนดขึ้นมาใหม่โดยของเดิมไม่ได้มีรายละเอียดชัดเจน ที่สำคัญที่สุดคือหลักการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนทุกกระบวนการ ตั้งแต่การกำหนดประเภทการขึ้นทะเบียน การกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้าง อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้แสดงข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณและเส้นทางของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตั้งแต่การนำเข้าการกระจายสินค้าตลอดทั้งกระบวนการ หลักเกณฑ์ในการเฝ้าระวังโดยยึดหลักความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้"
ขณะที่นายธีระ วงษ์เจริญ สภาเกษตรกร กล่าวว่า เกษตรกรเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกับกฎหมาย พ.ร.บ. วัตถุอันตราย ตั้งแต่ปี 2535 ในกฎหมายจะเห็นภาพว่า ชนชั้นใดออกกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น ในยุคสมัยก่อนประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียไม่ค่อยได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม สุดท้ายผลกรรมก็ตกอยู่กับพี่น้องเกษตรกร
"ตอนนี้มีผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อายุน้อยมาก และเด็กเล็กก็ป่วยเป็นมะเร็งที่เกิดจากสารอาหารที่เป็นพิษ แต่วันนี้กำลังจะมีพ.ร.บ.ของเกษตรกรเอง ที่เกษตรกรมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น โดยการที่จะออกกฎหมายก็ควรจะออกให้เข้มข้นให้มีบทลงโทษที่ชัดเจน ถ้ากฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้ ผู้รักษากฎหมายนั้นต้องมีความผิด ยิ่งเป็นข้าราชการต้องมีความผิดที่หนัก เพราะนี่คือเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม มีผลกระทบเกี่ยวกับเรื่องค่ารักษาเยียวยาคนเจ็บคนป่วยปีละเป็นแสนล้านบาท"
นายธีระ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาภาครัฐไม่มีมาตรการในการดูแลเรื่องการโฆษณาของบริษัทขายสารเคมี ปล่อยให้มีการโฆษณา ลด แลก แจก แถม ขายกันอย่างกับขนม และก็ไม่รู้ว่าที่โฆษณานี้จริงหรือเท็จ อยากจะเสนอว่าให้รัฐบาลออกมาตรการห้ามมีการโฆษณาขายสารเคมีเหล่านี้เหมือนกับกรณีของเหล้าและบุหรี่
"อยากให้มีมาตรการให้เหมือนกับร้านขายยาที่ไม่ได้จะขายให้คนทั่วไปง่ายๆ "
ส่วนนายศรัณย์ วัธนธาดา กรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงการร่างพ.ร.บ.ใหม่สักฉบับ เหตุผลเพราะกฎหมายที่ใช้อยู่มีข้อบกพร่องมาก เหตุหลักที่อยากจะแก้กฎหมายเพราะกรมวิชาเกษตรเป็นหน่วยงานภายในกำกับดูแล แต่ไม่มีอำนาจโดยตรงในการสั่งการ ต้องไปทำเรื่องผ่านทางกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งสิ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมทำกับสิ่งที่กรมวิชาเกษตรทำ ความคาดหวังในผลลัพธ์ต่างกัน
"เท่าที่ได้อ่านร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ใช้คำว่าชอบ โดยในส่วนหมวดที่ 3 ของพ.ร.บ.นี้ที่ว่าด้วยเรื่องอำนาจของหน่วยงานที่เกี่ยวกับข้อง ตรงนี้ก็เป็นปัญหาในพ.ร.บ.ฉบับเก่า คือรู้ว่า มีปัญหาแต่ไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนที่รับผิดชอบ บางครั้งหน่วยงานเกี่ยวกับการเกษตรมีจำนวนบุคลากรที่น้อย ก็อยากแนะนำให้เขียนให้อำนาจลงไปว่าใครสามารถที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ได้บ้าง เพราะบางครั้งบางหน่วยงานไม่ได้มีอำนาจในพ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับหน่วยงานก็ไม่กล้าที่จะลงมาช่วย"
ขณะที่นางอมรรัตน์ ลีนะนิธิกุล ศูนย์พัฒนานโยบายแห่งชาติด้านสารเคมี กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาของวัตถุอันตรายทางการเกษตร คือตัวพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มีการใช้งานในหลายกระทรวงทำให้ต้องออกแบบกว้างๆ เหตุนี้ทำให้เกิดข้อขัดแย่งระหว่างสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร กับสารเคมีที่ใช้อุตสาหกรรม จึงมองว่าควรมีพ.ร.บ.ทางด้านสารเคมีทางการเกษตรแยกออกมาต่างหาก ซึ่งก็จะไปอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ที่จะมีการปรับแก้กฎหมายให้ทันกับสถานการณ์ของประเทศ
"ในส่วนของวัตถุอันตรายทางการเกษตร วัตถุอันตรายในอุตสาหกรรม บางสารเคมีใช้ได้หลายวัตถุประสงค์ บางสารระดับของการควบคุมไม่เท่ากัน ทำให้มีช่องว่างให้ผู้ประกอบการนำเข้าสาเคมีที่ประกาศห้ามใช้ในการเกษตร แต่อุตสาหกรรมให้ใช้ นำเข้ามาผ่านช่องว่างนำเข้ามาใช้ในการเกษตร ถ้ามีพ.ร.บ.สารเคมีทางการเกษตรแยกออกมาต่างหากก็จะสามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้"
นางอมรรัตน์ กล่าวด้วยว่า อีกปัญหาที่พบคือการควบคุมการโฆษณา การจำหน่าย การส่งเสริมการขาย ที่ยังมีช่องว่างอยู่ รวมทั้งคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีคนของหลายกระทรวงเข้าไปนั่ง แต่ไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านสารเคมีทางการเกษตรที่เพียงพอ ทำให้การเสนอขอยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรทำได้ช้า
"คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ควรมีพ.ร.บ.วัตถุอันตรายทางการเกษตร โดยในเรื่องของข้อมูลสารเคมีประเทศไทย ไม่เคยมีธรรมเนียบรวบรวมรายชื่อสารเคมีที่มีอยู่ในประเทศไทยว่า มีกี่ชนิดมากน้อยขนาดไหน แต่ละหน่วยงานก็จะตอบได้แค่ขอบเขตของตัวเอง ซึ่งตอนนี้เลขาฯของคณะกรรมการแห่งชาติกำลังเริ่มดำเนินการในส่วนนี้อยู่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561 โดยใช้ฐานข้อมูลสารเคมีของปี2559 ซึ่งตรงนี้จะเป็นประโยชน์ต่อพ.ร.บ.สารเคมีทางการเกษตรในอนาคต"
อ่านประกอบ : กรมวิชาการเกษตร เปิดตัวเลขไทยนำเข้ายาฆ่าหญ้า-แมลง กว่า 9 หมื่นตัน/ปี
: ศรีลังกา เลิกนำเข้ายาฆ่าหญ้า กลุ่มไกลโฟเสท พบสาเหตุตายไตเรื้อรังกว่า 2 หมื่น