บ.อัคราฯ เล็งยื่น กพร. ขอต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ก่อนถูกปิดสิ้นปี
ก่อนถูกปิดเหมืองทองสิ้นปี! บ.อัคราฯ เล็งยื่น กพร. ขอต่อใบอุนญาตประกอบโลหกรรมภายในสัปดาห์นี้ พร้อมโชว์ผลสำรวจ 88% พอใจให้เหมืองฯอยู่ร่วมกับชุมชน
วันที่ 26 ตุลาคม 2559 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายประสานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีภาครัฐมีคำสั่งยุติการอนุญาตการสำรวจ ทำเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ รวมถึงต่อใบอนุญาตโรงงานประกอบโลหกรรมของเหมืองแร่ทองคำชาตรี ภายใต้ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ถึงแค่สิ้นปี 2559 ทั้งที่บริษัทฯ มีประทานบัตรถึงปี 2571 ว่า ขณะนี้ทางบริษัทฯ กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการขอต่อใบอนุญาตโรงงานประกอบโลหกรรมฯ ตามกำหนดต้องยื่นเรื่อง 60 วันก่อนที่ใบอนุญาตเดิมจะหมดอายุ คือในสิ้นปีนี้
นายเชิดศักดิ์ กล่าวถึงเหตุผลที่ภาครัฐสั่งยุติการทำเหมือง เพราะเกิดจากปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ และแนะนำให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ควรได้รับการสนับสนุนจากชุมชนในการดำเนินกิจการ (Social License to Operate) บริษัทฯ จึงได้ลงพื้นที่สำรวจความพึงพอใจชาวบ้าน จำนวน 1,789 ครัวเรือน 17 หมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลกล่าสุด พบว่า ชาวบ้านร้อยละ 93.6 หรือ 1,675 ครัวเรือน ระบุว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง ขณะที่ร้อยละ 5.1 หรือ 92 ครัวเรือนระบุว่า ได้รับผลกระทบ ส่วนที่เหลือร้อยละ 1.2 หรือ 22 ครัวเรือน ไม่ตอบคำถามในประเด็นดังกล่าว
นายเชิดศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัท อัคราฯ ได้รับประทานบัตรจำนวน 14 แปลง โดยในพื้นที่โครงการชาตรีเหนือ มีอายุถึงปี 2571 นับตั้งแต่บริษัทฯ เริ่มทำเหมืองในปี 2544 ถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 15 ปี ได้ผลิตแร่ไปแล้วประมาณ 50 ตัน และในพื้นที่ยังมีปริมาณแร่สำรองคงเหลือประมาณ 30 ตัน ซึ่งหากคำนวณจากกำลังการผลิตในปัจจุบันที่ประมาณ 6.2 ล้านตันต่อปี บริษัทฯ จะสามารถทำเหมืองได้อีก 7 ปี
“ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน บริษัท อัคราฯ ได้ลงทุนทำเหมืองไปแล้วเกือบ 40,000 ล้านบาท โดยเม็ดเงินเหล่านี้กระจายรายได้ภายในประเทศ ทั้งค่าภาคหลวงที่ชำระแล้วกว่า 4,299 ล้านบาท ตั้งแต่เริ่มกิจการถึงเดือนกันยายน 2559, ภาษีเงินได้ที่ชำระแล้ว 1,145 ล้านบาท, ค่าจ้างพนักงาน รวมถึงนำเงินไปสนับสนุนกิจกรรมของชุมชน ซึ่งหากทางบริษัทไม่ได้รับการต่ออายุฯ มีการประเมินกันว่า ในจังหวัดพิจิตรเม็ดเงินจะหายไปจากระบบประมาณ 500 ล้านบาทต่อเดือน และยังเป็นแหล่งจ้างงานใหญ่ที่สุดในพื้นที่ ”
นายเชิดศักดิ์ กล่าวถึงผลประกอบการล่าสุดของบริษัท อัคราฯ ปี 2556 ผลิตทองได้ 133,681 ออนซ์ กำไร 1,790 ล้านบาท ปี 2557 ผลิตทองได้ 134,547 ออนซ์ กำไร 1,043 ล้านบาท ขณะที่ปี 2558 ผลิตทองได้ 125,094 ออนซ์ ขาดทุน 2,112 ล้านบาท
ส่วนประเด็นด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่หลายฝ่ายกังวลกันมาก นายเชิดศักดิ์ กล่าวยืนยันว่า ในพื้นที่ทำเหมืองมีการควบคุมปริมาณฝุ่น เสียง และควบคุมของเหลวอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะสารเคมีที่ใช้ในการสกัดแร่ทองคำ เช่น ไซยาไนด์หรือสารหนู อีกทั้งข้อมูลการตรวจสอบของภาครัฐ บ่งชี้ว่า ไม่พบสารหนูเกินเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนแมงกานีส เก็บได้ในแหล่งประปาบางจุด ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของแหล่งน้ำบาดาลในประเทศไทย ทั้งนี้จะมีการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดส่งไปยังกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เพื่อพิจารณา ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ได้มีการส่งข้อมูลไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้พิจารณาอีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม นายเชิดศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หลังจากทางที่บริษัทฯ ได้ทำหนังสืออุทธรณ์ไปยัง กพร. ทาง กพร.ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ ซึ่งมีข้อแจงตอบกลับมายังบริษัท โดยประเด็นหนึ่งที่ทางบริษัทเห็นว่า มีข้อมูลที่ต่างออกไป และสามารถยืนยันได้คือ เรื่องปริมาณแร่สำรองที่ยังมีพอดำเนินการต่อไปได้อีก 7 ปีไม่ใช่อย่างที่ กพร. ระบุว่า จะหมดในสิ้นปีนี้
"ขณะนี้ทางบริษัทจะเตรียมข้อเข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดี กพร. เพื่อชี้แจงข้อมูลต่อไป"
ด้านนายสิโรจ ประเสริฐผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินของบริษัทเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจาต่อรองกับทางราชการ โดยเฉพาะในจุดที่มีความกังวล เพื่อบริษัทจะได้ดำเนินการฯ ให้ภาครัฐคลายกังวล เช่น กรณีความขัดแย้งในพื้นที่ ประเด็นเรื่องสุขภาพได้มีการทำสำรวจทำข้อมูลชี้แจง ทั้งนี้ หากบริษัทฯ ต้องปิดตัว จะส่งผลให้ประเทศเสียรายได้จำนวนมาก
ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องปริมาณแร่สำรอง นายสิโรจ กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมฯ เพราะหากไม่มีแร่อยู่จริง บริษัทย่อมไม่สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว อีกทั้งทุกปีทางบริษัทจะต้องมีนักธรณีวิทยาเข้ามาสำรวจว่า มีปริมาณแร่สำรองอยู่เท่าไหร่ เพื่อเป็นข้อมูลให้บริษัทวางแผนการลงทุนในอนาคตได้