นักประวัติศาสตร์ ชี้ไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ทำลายโบราณคดีมีชีวิต
มหากาพย์รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ยืดเยื้อ ชาวบ้านยันคุยมาแล้ว 7 ผู้ว่าฯ เสนอ 'มหากาฬโมเดล' เป็นรูปแบบสุดท้าย ย้ำชัดหากกทม.ต้องการเอาที่ดินคืน จะนั่งกับพื้นรอบประตูทั้ง 4 บานให้เดินเหยียบ
เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ลานกลาง ชุมชนป้อมมหากาฬ มีการจัดกิจกรรมชมนาฏศิลป์เลื่องชื่อ ละครชาตรี คณะครูกัญญา นางเลิ้ง ต่อจากนั้นมีงานเสวนาเรื่อง รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ คือ การทำลายประวัติศาสตร์กรุงเทพ โดย ผศ. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ผศ. พิพัฒน์ กล่าวว่า การนิยามโบราณสถานของบ้านเรา เป็นการนิยามแบบเก่าชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้ แต่เรากลับถูกสอนว่าโบราณสถานอยู่ร่วมกับชุมชนไม่ได้ การไม่รื้อชุมชนนั้นสามารถศึกษาทางโบราณคดี มีตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น กรุงโรม ประเทศอิตาลี และลอนดอน ประเทศอังกฤษ รวมถึงชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งในเมืองเทาส์ ในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการดำเนินการทางโบราณคดีแนวใหม่ให้เป็นโบราณคดีชุมชนที่ให้อำนาจชาวบ้านในการจัดการโดยชุมชนเพื่อชุมชน
โดยเลือกขุดค้นที่บ้านของนางตาโฟยา ทายาทของครอบครัวที่ต้นตระกูลอาศัยในพื้นที่มานาน 350 ปี พบทั้งโบราณวัตถุเก่าแก่ราวพันปี ไปจนถึง “ขยะสมัยใหม่” เช่น กระเบื้องยาง และเศษแก้ว ซึ่งนักโบราณคดีหัวหน้าคณะทำงานไม่ทิ้งขว้างไป แต่กลับเก็บไว้แล้วให้นางตาโฟยาอธิบายขยะดังกล่าวคืออะไร จากวัตถุดังกล่าว สามารถเล่าเรื่องราวย้อนไปได้เกือบ 100 ปี สะท้อนให้เห็น หากพบแต่วัตถุโดยไม่มีคนอธิบายก็เปล่าประโยชน์ การศึกษาในลักษณะนี้ เรียกว่า “โบราณคดีในครัวเรือน” เพราะนักโบราณคดี ไม่ได้ศึกษาเฉพาะโบราณสถาน แต่สนใจวิถีชีวิตทุกแง่มุมของคน
ส่วนการรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ผศ. พิพัฒน์ กล่าวว่า จะเป็นความสูญเสียโบราณคดีที่มีชีวิต ทางออกชุมชนต้องมีกระบวนการจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่การถูกรื้อถอน ควรจัดทำข้อมูลความรู้ ทำป้ายข้อมูล ชุมชนต้องปรับตัวไปพร้อมความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกเช่นกัน ในเชิงการท่องเที่ยวชุมชนนี้เหมาะมาก เพราะใกล้สถานที่สำคัญมากมาย ทั้งวัด วัง คูคลอง จึงสงสัยว่า ทำไมต้องรื้อ ทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นเมือง
ด้านผศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าวว่า ชานพระนครกรุงเทพ เป็นพื้นที่กันชนระหว่างเขตเมืองซึ่งมีกำแพงล้อมรอบกับย่านนอกเมือง กิจกรรมแลกเปลี่ยนซื้อขายสรรพสินค้าและย่านการผลิตบางอย่างก็อยู่ในชุมชนชานพระนคร แต่ชุมชนลักษณะนี้หลายแห่งหายไป เนื่องจากการรื้อกำแพงกรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา แต่ยังมีบางส่วนที่ยังถูกเก็บรักษาไว้จึงกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ก็คือ ชุมชนป้อมมหากาฬ ดังนั้น หากป้อมและกำแพงเมืองยังถูกรักษาไว้เพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ชุมชนชานพระนครที่อยู่คู่กันก็ควรต้องคงไว้ เพื่อเป็นมรดกที่มีชีวิตของกรุงเทพฯ ที่สืบมาด้วยเช่นกัน โดยหากย้อนไปในสมัยทวารวดี เมื่อกว่าพันปีที่ผ่านมา ได้มีการพบเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดิน มีชุมชนอยู่อาศัย ซึ่งมีพัฒนาการต่อมา เมื่อเป็นเมืองก็มีกำแพงและคูเมือง ที่มีผู้คนตั้งรกราก เช่นเดียวกับชุมชนป้อมมหากาฬ
ขณะที่ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ กล่าวถึงป้อมมหากาฬเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์กรุงเทพ เนื่องจากเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างกำแพงพระนครและป้อมปืนใหญ่ เพื่อป้องกันข้าศึก ปัจจุบันเหลือเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ ป้อมพระสุเมรุและป้อมมหากาฬ โดยกรณีป้อมมหากาฬนั้น เป็นจุดบรรจบของคลองมหานาคกับคูรอบพระนคร การไล่ชุมชนป้อมมหากาฬ นอกจากเป็นเรื่องน่าอดสูของประวัติศาสตร์กรุงเทพแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นอีกว่า การอ้างเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์แท้จริงเป็นเพียงฉากหน้า ป้อมมหากาฬและชุมชนชานพระนครที่อยู่อาศัยในบริเวณนี้ เป็นจุดยุทธศาสตร์ใหญ่ ทำให้เป็นป้อมขนาดใหญ่ซึ่งมีชุมชนเป็นแนวยาวตลอดตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ จนถึงคูคลองวัดเทพธิดาราม ตลอดช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ คนในชุมชนมีทั้งที่มีการสืบเชื้อสายมาหลายชั่วอายุคน และที่ย้ายเข้ามาใหม่ จึงมีทั้งอาคารเก่าและใหม่ที่บอกเล่าเรื่องราวพัฒนาการของชุมชนตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน ซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ในฐานะประวัติศาสตร์กรุงเทพฯที่มีชีวิต
“ถ้าคิดว่าโบราณสถานอยู่กับชุมชนไม่ได้ คนทั้งกรุงเทพ ต้องย้ายออกหมด เพราะโบราณสถานมีเต็มกรุงเทพ แม้แต่ที่ตั้งของกระทรวง ทบวง กรม หลายแห่ง ก็เป็นอาคารโบราณสถาน ดังนั้น กทม. ต้องวางแผนเพื่อให้โบราณสถานและชุมชนอยู่ร่วมกันได้ต่างหากอันนั้นคือสิ่งที่ถูกต้อง ” ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าว
สุดท้าย นายพรเทพ บูรณบุรีเดช รองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวถึงมหากาฬโมเดลเกิดขึ้นจากความตั้งใจของชุมชนป้อมมหากาฬที่ต้องการนำเสนอแนวทางการอยู่ร่วมกันของคนเมืองผ่านพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งมีทำเลที่ตั้งและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยได้มีการทำแผนแม่บทเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาชุมชนบ้านไม้โบราณ ป้อมมหากาฬ ทางชุมชนจะคืนที่ดินให้กับทางกรุงเทพฯประมาณ 3 ไร่ กับ 3 งาน และจะขอ1 ไร่ 1 งาน 47 ตารางวา เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชน โดยจะมีผู้อยู่อาศัยในมหากาฬโมเดลกว่า 30 ครัวเรือน ร่วม 218 ชีวิต โดยได้มีการนำเสนอกับทางกรุงเทพฯแล้วแต่ก็ได้รับคำยืนยันว่า โบราณสถานต้องไม่มีคนอยู่ วันนี้เราจึงจัดเวทีขึ้นมาเพื่อตอบทางกรุงเพทฯว่า โบราณสถานจะอยู่ร่วมกับคนได้อย่างไร
“เราไม่ได้คุยแค่ครั้งนี้แค่ครั้งเดียว เราคุยมา 7 ผู้ว่าแล้ว มหากาฬโมเดลเป็นรูปแบบสุดท้าย ซึ่งเราคงจะไม่ต่อสู้ หากกทม.ต้องการเอาที่ดินจริงๆ แต่คนในชุมชนป้อมมหกาฬจะนั่งกับพื้นรอบประตูทั้ง 4 บานให้เขาเดินเหยียบเรา แล้วเข้าไปรื้อบ้านของเรา”รองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าว