กป.อพช.ใต้แถลง 'หยุดจำกัดเสรีภาพของนักวิชาการเพื่อสังคม'
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ เห็นว่า ทหารในพื้นที่คือองค์ประกอบสำคัญที่จะส่งเสริมให้บรรยากาศทางสังคมภาคใต้ให้สุขสงบได้ในขณะนี้ และอยากเห็นการวางตนอย่างเหมาะสม เพื่อให้เป็นที่ไว้วางใจของประชาชนในพื้นที่ได้
สืบเนื่องจากกรณีที่ พลตรีวิรัชช์ กมลศิลป์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 ได้ออกหนังสือ กห 0484.63/1113 ลงวันที่ 21 เมษายน 2559 ที่ส่งถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อขอความร่วมมือในการทำความเข้าใจกับบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่เคลื่อนไหวและต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น (อ่านประกอบ:ทหารให้อธิการ มอ.เคลียร์ อจ.ต้านโรงไฟฟ้า นักวิชาการแนะรัฐเปิดเวที ดีกว่าปิดกั้น)
วันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ทางคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ หรือ กป.อพช.ใต้ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (ngo.)ที่ทำงานด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และสิทธิชุมชนในพื้นที่ภาคใต้กว่า 20 องค์กร ออกแถลงการณ์ร่วมระบุว่า
1. การทำหน้าที่ของนักวิชาการที่พยายามนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงต่อสังคม อย่างมีเหตุมีผล และมีรูปธรรมที่พิสูจน์ได้ ถือเป็นบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งที่สังคมในขณะนี้ โดยเฉพาะกรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ และจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนอย่างรุนแรงในอนาคตด้วยแล้ว จึงถือเป็นความกล้าหาญของนักวิชาการที่แสดงเหตุผลอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เป็นทางเลือกของฝ่ายต่างๆได้
2. การทำหน้าที่ของนักวิชาการดังกล่าวนี้ เป็นความพยายามที่จะปกป้องฐานทรัพยากร และวิถีชีวิตของชุมชนในท้องถิ่นอย่างเปิดเผย มิได้เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่อย่างใด
3. การกระทำของฝ่ายทหารถือเป็นการปิดกั้นการแสดงออกทางวิชาการ ที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะลักษณะการออกหนังสือเพื่อขอความร่วมมือดังกล่าว ส่อเจตนาที่จะใช้อำนาจเกินขอบเขตของตนเองเพื่อให้มีการยับยั้งการแสดงออก หรือการจำดัดเสรีภาพทางวิชาการเพื่อสังคมโดยรวม
4. การก่อสร้างโรงไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงถ่านหิน มีข้อมูลเป็นที่ประจักษ์ว่า มีความเสี่ยงและอันตรายกับประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ ซึ่งเห็นได้จากความพยายามของหลายประเทศที่ต้องการยกเลิก หรือลดการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม และการที่นักวิชาการ หรือประชาชนในพื้นที่พยายามเสนอข้อมูล และเหตุผลต่างๆนั้น ในสถานการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ทหารในพื้นที่ก็ควรใช้โอกาสนี้ทำหน้าที่รวมรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงจากนักวิชาการเหล่านี้ เพื่อนำเสนอให้รัฐส่วนกลางได้ประกอบตัดสินใจการดำเนินการทางนโยบายอย่างรอบคอบยิ่งขึ้น ซึ่งจะเหมาะสมยิ่งกว่าการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแบบขาดเหตุผล และขาดข้อมูลอย่างรอบด้านเช่นนี้
ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงขอเสนอเพื่อให้ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 ดำเนินการดังนี้
1. ขอให้ถอนหนังสือ ฉบับที่ กห 0484.63/1113 ลงวันที่ 21 เมษายน 2551 ที่ส่งถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้นักวิชาการได้ทำหน้าที่ในบทบาทของตนเองเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในการปกป้องฐานทรัพยากร ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชนท้องถิ่น ซึ่งไม่ใช่เหตุผลทางการเมือง
2. ทหารในพื้นที่ ต้องวางตนให้เป็นกลางที่สุด ต่อเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน และควรสร้างบรรยากาศทางสังคม บ้านเมืองให้สุขสงบ และดำรงอยู่อย่างปกติที่สุด และควรเป็นหน่วยที่ต้องช่วยการสร้างทางออกที่ดีของสังคมในสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน มิใช่มาวางตนเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง
3. ทหารจะต้องทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง และต้องเปิดพื้นที่การสื่อสารเพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้รับรู้และเข้าใจถึงผลดี และผลเสียของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรงในระยะยาว ทั้งนี้เพื่อให้คนในพื้นที่ได้มีสิทธิที่จะเลือกอนาคตของตนเองอย่างมีเหตุผลมากขึ้น
4. ทหารในพื้นที่ รวมรวมรวมข้อมูลทางวิชาการที่มีอยู่ และรับฟังความเห็นของประชาชนทั้งหมด เพื่อนำเสนอให้กับผู้บังคับบัญชาส่วนกลางทราบ เพื่อรายงานให้กับรัฐบาลต่อไป
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ เห็นว่าทหารในพื้นที่คือองค์ประกอบสำคัญที่จะส่งเสริมให้บรรยากาศทางสังคมภาคใต้ให้สุขสงบได้ในขณะนี้ และอยากเห็นการวางตนอย่างเหมาะสม เพื่อให้เป็นที่ไว้วางใจของประชาชนในพื้นที่ได้
ทั้งนี้ได้เห็นถึงความสำคัญ และความจำเป็นของการทำหน้าที่ของนักวิชาการของทุกมหาวิทยาลัย ที่ได้ออกมายืนยันถึงบทบาทของตนเองอย่างตรงไปตรงมาเพื่อร่วมกันปกป้องฐานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่นทั้งภาคใต้โดยรวม และยืนยันว่าจะเดินหน้าร่วมกับภาคี เครือข่ายภาคประชาชนอื่นๆเพื่อการปกป้องการทำบทบาทหน้าที่นี้อย่างถึงที่สุดต่อไป.
ขอบคุณภาพประกอบจาก:https://sidoxia.files.wordpress.com/2010/03/hand.jpg