Friends of The River จี้ สจล.แจงรับเป็นที่ปรึกษาแลนด์มาร์กเจ้าพระยา
Friends of The River หวั่น สจล.ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างแลนด์มาร์กเจ้าพระยา เหตุรับเป็นที่ปรึกษาทีโออาร์ ระบุศึกษาโครงการภายใต้ระยะเวลา 7 เดือนเท่ากับตัดกระบวนการรับฟังความเห็น เทียบโครงการยานนาวา 2 ก.ม. ใช้เวลาศึกษากว่า 6 เดือน
หลังจากที่กรุงเทพมหานครเตรียมลงนามสัญญา 120 ล้านบาท จ้างสถาบันเทคโนโลยีพระเจ้าเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) เป็นที่ปรึกษาโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (โครงการแลนด์มาร์คเจ้าพระยา) ภายในเดือนมกราคม 2559 เพื่อนำมาประกอบการพิจารณากำหนดรูปแบบ รายละเอียด และงบประมาณของโครงการให้ชัดเจน โดยในสัญญาได้กำหนดเวลาให้ที่ปรึกษาทำการศึกษาในระยะเวลา 7 เดือน
นายยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก ตัวแทนจากกลุ่มFriends of the River ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงกรณีดังกล่าวว่า จากการกำหนดกรอบระยะเวลาในการศึกษาโครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยา 7 เดือนนั้น เท่ากับว่า ทีโออาร์ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งที่ผ่านมาทั้งภาควิชาชีพและวิชาการในส่วนสถาปัตยกรรมได้ท้วงติงไปหลายครั้งว่า การศึกษาจะเร่งทำไม่ได้ หากเร่งทำแสดงว่าได้ตัดกระบวนการแบบมีส่วนร่วม หรือหากมีการรับฟังความคิดเห็นก็น้อยมาก เพราะหากเทียบกับโครงการพัฒนาริมฝั่งยานนาวาในระยะทาง 2 กิโลเมตรนั้น ใช้กระบวนการศึกษานานถึง 6 เดือน ฉะนั้นโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 14 กิโลเมตรของกทม.ต้องใช้เวลากี่เท่าของยานนาวา
นายยศพล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางกทม.พยายามหาผู้ที่จะมาเป็นที่ปรึกษาโครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยาหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยก็มีการยื่นข้อเสนอว่าจะต้องมีการแก้ไขทีโออาร์ ดังนั้นการที่สจล.รับเป็นที่ปรึกษา ไม่แน่ใจว่า มีการยื่นข้อเสนอหรือขอปรับเปลี่ยนทีโออาร์หรือไม่ โดยเฉพาะการกำหนดระยะเวลาเพียง 7 เดือน สุดท้ายจะทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ต่างจากเอกชนประมูลไปทำ
“สิ่งที่กังวลตอนนี้คือสจล.ได้มีการยื่นข้อเสนอกลับไปบ้างหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาภาคประชาชนพยายามทวงการเรื่องการปรับแก้ทีโออาร์ตลอด จึงอยากรู้ว่า ในฐานะที่สจล.เองสามารถยื่นข้อเสนอกลับไปกับทางกทม.ได้เขาได้ทำอะไรหรือไม่ หรือว่าทำได้แต่ไม่ทำอะไรเลย สจล.เองอาจจะมั่นใจว่าในระยะเวลา 7 เดือน สามารถที่จะศึกษาโครงการได้เป็นอย่างดีจึงรับมา แต่พวกเราคิดว่าผลการศึกษาที่มีเสียงของภาคประชาชนเข้าไปร่วมจัดการนั้นระยะเวลา 7 เดือน ไม่สามารถที่จะทำออกมาให้ดีได้”
ตัวแทนจากกลุ่ม Friends of the River กล่าวว่า ดังนั้นจึงอยากให้ทางสจล.ออกมาชี้แจงว่าไปพูดคุยอะไรหรือมีข้อเสนออะไรให้กทม.ไปแล้วบ้างเรื่องทีโออาร์ เพราะตอนนี้บอกได้เลยว่าสจล.ตกอยู่ในที่นั่งลำบากเนื่องจากภาควิชาชีพ ภาคประชาชนท้วงติงทีโออาร์โครงการนี้มาโดยตลอด และในฐานสจล.ที่เป็นภาคการศึกษาจะตกเป็นเครื่องมือเพื่อออกหน้าทำโครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้สิ่งที่น่ากังวลคืออาจจะมีทีมที่ปรึกษาของเอกชนมาอยู่ในทีมของสจล. โดยกทม.อาจจะเอาหัวสถาบันการศึกษาเป็นหลัก แล้วให้ภาคเอกชนเข้ามารวม การประชาพิจารณ์ก็ทำเหมือนเดิมคืออย่างน้อย 2 ครั้งตามกฎหมาย หากเป็นลักษณะนี้ก็อยากได้ความชัดเจนจากสจล.ว่ายอมถูกใช้เป็นเครื่องมือ และจะยอมให้มหาวิทยาลัยเสียหายกับการลงมาทำโครงการนี้ใช่หรือไม่”
“คณะสถาปัตยกรรมของสจล.เองเคยออกมาชี้แจงกับดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. แล้วว่า เสนอไม่ให้เข้าร่วม เนื่องจากผลการศึกษามีข้อท้วงติง แต่สุดท้ายอธิการบดีก็ตัดสินใจทำ เพราะมองในมุมวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งงานออกแบบพื้นที่สาธารณะไม่ใช่เรื่องของวิศวกรรมเท่านั้น เคยคุยกับดร.สุชัชวีร์ในรายการทีวีรายการหนึ่ง อาจารย์มีความคิดที่ต่างจากเราพอสมควรแต่เขาก็เห็นด้วยกับข้อมูลของภาคประชาชน แต่สุดท้ายก็ไม่ลงไปในรายละเอียด”
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ ดร.สุชัชวีร์ ในประเด็นดังกล่าว แต่ไม่สามารถติดต่อได้ เนื่องจากเดินทางไปต่างประเทศ และจะเดินทางกลับวันที่ 14 มกราคมนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
มท.1 ยันทางเลียบเจ้าพระยา งบฯ ไม่ถึง 1.4 หมื่นล้าน โครงสร้างสูงน้อยกว่าเขื่อนริมฝั่ง
ผู้เชี่ยวชาญด้านกม.สิ่งแวดล้อม ยันชัดโครงการริมน้ำเจ้าพระยาขัดต่อกม.แพ่งและพาณิชย์ ม.1304