สนข.เลือกสะพานมหาเจษฎาบดินฯ -พระราม 5 นำร่องสร้างถนนเลียบเจ้าพระยา
สนข.สรุปผลลงพื้นที่รับฟังความเห็น 6 ครั้ง เลือกพท.สะพานพระราม5-สะพานนนทบุรี นำร่องสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ยันออกแบบสอดคล้องตามหลักภูมิสถาปัตย์ เชื่อประชาชนไม่สับสนกับโครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยากทม. เหตุลงพื้นที่-จัดสัมมนาให้ข้อมูลประชาชนตลอด
ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีโครงการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม ถนนถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ตั้งแต่บริเวณสะพานปทุมธานี 1 จังหวัดปทุมธานี ไปจนถึงสุดเขตบางกะเจ้า อ.พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นระยะทาง 140 กิโลเมตร โดยจะแบ่งเป็น 8 พื้นที่โครงการ (Project)
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการ สนข. กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงความคืบหน้าการว่างจ้างที่ปรึกษาดำเนินงานทบทวน รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ สำรวจ ศึกษาความเหมาะสม ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ออกแบบทางสัญจรเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา และงานการมีส่วนร่วมของประชาชน และการประชาสัมพันธ์ ว่า การดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียและเกี่ยวข้องกับโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่ลงพื้นที่ไปทั้งหมด 6 ครั้งนั้น เสร็จสิ้นแล้วตามกระบวนการเดือนธันวาคม โดยได้ข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะเลือกมานำร่องโครงการก่อนคือ โครงการ 5 (Project5) ช่วงสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ (สะพานนนทบุรี 1) - สะพานพระราม 5 เหมาะสมเพื่อการออกแบบเบื้องต้น
ทั้งนี้แม้โครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยาระยะทาง 14 กิโลเมตรจะเป็นหนึ่งในโครงการที่อยู่ในแผนของสนข.ด้วยก็ตาม แต่บริเวณดังกล่าว เป็นหน้าที่ที่กทม.รับผิดชอบ ซึ่งสนข.จะดูแลเฉพาะพื้นที่นอกเขตกทม.เท่านั้น
"แม้โครงการของกทม.จะมีเสียงคัดค้านจากประชาชน แต่เชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อโครงการของสนข.อย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่และจัดสัมมนามาโดยตลอด"
ด้านนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และอดีตผู้อำนวยการสนข. กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงโครงการนี้ สนข.ได้ทำการศึกษาตั้งแต่จังหวัดปทุมธานียาวไปจนถึงจังหวัดสมุทรปราการ ฝั่งละ 70 กิโลเมตร 2 ฝั่งยาวรวมกัน 140 กิโลเมตร เป็นการออกแบบลงพื้นที่แล้วนำไปสู่การออกแบบที่ละเอียดอีกครั้งหนึ่งหลังจากมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
"จากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเลือกมาหนึ่งพื้นที่ ซึ่งเป็นคนละพื้นที่กับที่กรุงเทพมหานครกำลังจะเริ่มดำเนินการ โดยโครงการที่สนข.รับผิดชอบนั้น กรอบการศึกษาจะเป็นการออกแบบเบื้องต้นว่า รูปแบบทางเดินควรเป็นแบบไหน ช่วงใดที่จะทำเป็นพื้นที่พักผ่อน เมื่อออกแบบเบื้องต้นแล้วก็มาทำการรับฟังความเห็น นำมาปรับปรุงแบบแล้วเลือกพื้นที่จาก 8 ส่วนในโครงการมาพัฒนา"
นายพีระพล กล่าวถึงแผนการจัดทำของสนข.ที่ผ่านมา เรารับฟังความเห็นของชาวบ้านมาโดยตลอดว่า ตรงไหนบ้างที่ชาวบ้านมีข้อกังวล แล้วก็นำสิ่งนั้นมาปรับปรุงและแก้ไข ซึ่งแตกต่างจากถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 14 กิโลเมตรของกทม. ความต่างคือ กทม.ยังไม่ได้ทำการศึกษา แต่มีรูปแบบแล้วว่าจะมีแบบเป็นแบบไหน จะทำเป็นถนน ซึ่งทางเรามองเห็นตั้งแต่แรกแล้วว่า ระยะทางตรงพื้นที่นั้น 14 กิโลเมตรทำตามแบบไม่ได้
สำหรับ 8 โครงการในแผนของถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาของสนข.ครอบคลุมพื้นที่ดังนี้
โครงการ 1 เมืองปทุมธานี (สะพานปทุมธานี-สะพานนนทบุรี)
(3 พื้นที่) 1) พื้นที่สองฝั่งแม่น้ำจากสะพานปทุมธานี 1– วัดโพธาราม 2) ฝั่งตะวันตก วัดโสภาราม-วัดตลาดใต้ และ 3) ชุมชนอุตสาหกรรมบางกะดี-สุดเขตปทุมธานี
โครงการ 2 บางคูวัดและบางพูด (สะพานนนทุบรี-สะพานพระราม4)
(3 พื้นที่) 1) ฝั่งตะวันตก วัดตลาดใต้-สุดเขตปทุมธานี 2) ฝั่งตะวันออก นนทบุรี–แนวเดียวกับเขตปทุมธานี ฝั่งตะวันตก และ 3) ทั้งสองฝั่งแนวเดียวกับปทุมธานี–สะพานพระราม 4
โครงการ 3 ปากเกร็ด (สะพานพระราม 4-กรมชลประทาน)
(1 พื้นที่) ทั้งสองฝั่งทั้งเกาะเกร็ดและปากเกร็ด
โครงการ 4 สะพานสมเด็จพระนั่งเกล้า (กรมชลประทาน-สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์)
(2 พื้นที่) 1) ฝั่งตะวันตกจากคลองเกร็ดน้อย–สะพานนนทบุรี 1 และ2) ฝั่งตะวันออก กรมชลประทาน–สะพานนนทบุรี 1
โครงการ 5 ท่าน้ำนนท์ (สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์-สะพานพระราม5)
(2 พื้นที่) 1) ฝั่งตะวันตก สะพานนนทบุรี 1–สะพานพระราม 5 และ 2) ฝั่งตะวันออก สะพานนนทบุรี 1–สะพานพระราม 5
โครงการ 6 สะพานพระราม 7 (สะพานพระราม 5-สะพานพระราม 6)
(2 พื้นที่) 1) ฝั่งตะวันตก สะพานพระราม 5–สะพานพระราม 7 และ2) ฝั่งตะวันออก สะพานพระราม 5–รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
โครงการ 7 กรุงเทพมหานคร (สะพานพระราม 6 - สุดเขตกทม.)
(2 พื้นที่) 1) ทั้งสองฝั่งของกรุงเทพมหานคร 2) ทั้งสองฝั่งสุดเขตกรุงเทพมหานคร–คลองลัดโพธิ์
โครงการ 8 บางกะเจ้า เป็นการพัฒนาพื้นที่ของบางกะเจ้า