ตรวจสอบ สสส. ฟังคำต่อคำ "พิศิษฐ์ VS นพ.วิชัย"
ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวคราวการตรวจสอบ การทำงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดูจะเป็นหนึ่งในข่าวที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งจากประชาชนและสื่อมวลชน โดยวันที่ 26 ตุลาคม 2558 ภายหลังจากการเข้ารายงานผลดำเนินงานของ สสส. ต่อพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานการประชุมศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ทางพล.อ.ไพบูลย์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในเบิ้องต้นว่า การตรวจสอบในครั้งนี้ไม่ได้ดูเรื่องทุจริต ซึ่งภายหลังจากการเข้าประชุม ปรับความเข้าใจทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดคาวมเข้าใจที่ตรงกัน ก็พบว่า พ.ร.บ.สสส. นั้นมีเนื้อหาที่ครอบคลุมกว้าง อย่างเช่น มาตรา 3 และมาตรา 10 เป็นต้น
ในรายการ 'คม ชัด ลึก’ ดำเนินรายการโดยนางสาวจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์
ออกอากาศเมื่อวันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม 2558 เวลา 20.00-21.00 น. ทาง Nation TV มีการเชิญนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และนายแพทย์ วิชัย โชควิวัฒน รองประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้าร่วมถกในประเด็น การบริหารงบประมาณของ สสส. เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ และกรณีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
สำนักข่าวอิศรา ถอดความมาถ่ายทอดอีกครั้ง
งบประมาณของ สสส. ถูกใช้จ่ายตรงตามกฎหมายหรือไม่
นายพิศิษฐ์ ชี้แจงว่า สตง.ไม่ได้เข้าไปตรวจสอบในเรื่องของการทำทุจริต เพียงแต่เรียกดูบัญชีการใช้เงินว่าเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้หรือไม่ เพราะก่อนหน้านั้นได้รับเรื่องร้องเรียนมากมาย ให้เข้าไปตรวจสอบการทำงานของ สสส. ว่าเข้าข่ายในเรื่องสุขภาวะจริงหรือไม่อย่างไร
ยกตัวอย่าง การจัดรำลึกถึงผู้หลักผู้ใหญ่บางท่าน เป็นต้น ซึ่งทาง สตง.เคยทำหนังสือแนะนำไปให้ สสส. ตั้งแต่ปี 2556 แล้ว และเมื่อเราตรวจสอบพบว่า มีช่องโหว่ในเชิงกฎหมายทำให้มีผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ทับซ้อน มีคนใน สสส. ไปนั่งตำแหน่งประธานมูลนิธิต่างๆ แล้ว ทำเรื่องทำโครงการเข้ามาของบ ซึ่งก็พบว่าหลายโครงการไม่ได้เข้าข่ายในเรื่องสุขภาวะเลย สิ่งเหล่านี้ สตง.ก็เห็นว่าถึงเวลาที่เราต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง
จากการตรวจสอบโดยสรุปมีสองข้อ คือ 1. เรื่องการใช้งบประมาณที่ไม่เข้าข่ายเรื่องสุขภาวะ 2. จริยธรรมของผู้บริหาร ผลประโยชน์ทับซ้อน
ด้าน นพ.วิชัย กล่าวชี้แจงว่า ทั้งหมด ทุกโครงการที่ สสส. ดำเนินการนั้นไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย แต่คิดว่าท่านเองยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ เลยเกิดเป็นปัญหา เพราะต้องกลับไปดูใน มาตรา 3 ก็จะพบว่า ทุกโครงการที่ได้ชี้แจงในทาง สตง.ทราบนั้น อยู่ในข่ายตาม กฏหมายทั้งหมด
ส่วนวิธีการทำงานก็ตรงตามวัตถุประสงค์ 6 ข้อในมาตรา 5 และข้อสงสัยอย่างหนึ่งคือ ขั้นตอนในการตรวจสอบของ สตง. นั้นดูแล้วจะลัดขั้นตอนไป เพราะท่านผู้ว่าฯ ยื่นเรื่องไปยังนายกฯ เลย ทั้งๆ ที่มีขั้นตอนอื่นอยู่ก่อน
"ผมต้องเรียนให้ทุกท่านทราบก่อนว่า ผมไม่ใช่คนร่างกฎหมายฉบับนี้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านรัฐสภา ผ่าน ส.ส. ส.ว.ซึ่งมีความพยายามกว่า 10 ปีในการร่าง พ.ร.บ.ตัวนี้ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และหลักการทำงานยังยึดกฎบัตรตามองค์การอนามัยโลกอีกด้วย
การที่โครงการต่างๆ จะผ่านออกมาได้ มีกระบวนในการตีความจากคณะกรรมการซึ่งมี นายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่งและมีคณะกรรมการจาก ทบวง กรมต่าง รวมไปถึงผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ อีกด้วย ดังนั้นก่อนที่โครงการต่างๆ จะผ่านออกมา นั้นแสดงว่า ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแล้วทั้งสิ้น หากโครงการไม่เข้าข่ายจริง ต้องไม่ผ่านมาตั้งแต่ต้น
ยกตัวอย่างกรณีที่ถูกพูดถึงมากที่สุด อย่าง สวดมนต์ข้ามปี เริ่มจากการที่ทุกๆ สิ้นปี ไทยก็มักจะเกิดปัญหาอุบัติเหตุ ซึ่งนำมาสู้ความสูญเสียหลายอย่าง หรือค่านิยมในการนับถอยหลัง (Countdown) ก็มีการจัดปาร์ตี้ ดื่มเหล้า ซึ่งในที่สุด สสส. ก็ปรึกษากันร่วมกับภาคีเครือข่าย จึงเกิดเป็นโครงการ สวดมนต์ข้ามปี และร่วมจัดกับทางคณะสงฆ์โดยในช่วงแรกมีวัดที่เข้าร่วมถึง 200 แห่ง ปรากฏว่าโครงการนี้มีความนิยมสูงมากทุกๆ ปี จนกระทั่งทาง เถรสมาคมได้กำหนดให้ทุกวันจัดกิจกรรมนี้ทั่วประเทศ คนก็หันมาร่วมกิจกรรมากขึ้นเรื่อยๆ อุบัติเหตุลดลง คนไปกินเหล้าเมายาก็น้อยลง แล้วแบบนี้มันเกี่ยวกับสุขภาวะไหม" นพ.วิชัยตั้งคำถาม
ส่วนผู้ว่า สตง. โต้แย้งในประเด็นการดื่มเหล้าว่า ไม่ได้มีแค่วันปีใหม่เท่านั้น ถ้า สสส. จะจัดกิจกรรมแบบนี้ในช่วงอื่นๆ อีก เช่น สงกรานต์ เป็นต้น เราต้องใช้งบอีกเท่าไร เพราะแค่โครงการสวดมนต์ข้ามปี โครงการเดียวใช้งบกว่า 20 ล้าน โดยเฉพาะงบในการประชาสัมพันธ์โครงการที่สูงมาก
"เราไม่ปฏิเสธว่าสวดมนต์ไม่ดี มันดี มันทำจิตใจของคนนั้นสงบ แต่ปัญหาคือการใช้งบมันเยอะไป"นายพิศิษฐ์ กล่าว และว่า หลังจากการส่งเรื่องการตรวจสอบ เราก็พบข้อสังเกตหลายอย่าง เช่นการจัดการำลึกต่าง ซึ่งมองๆ ดูเเล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับสุขภาพ หากจะมีบ้างก็ในเรืองอาหารการกิน น้ำดื่มต่างๆ และในเรื่องการยื่นเรื่องในท่านนายกฯ โดยตรง ก็เป็นเรื่องถูกต้องแล้วไม่ใช่หรือ เพราะในเมื่อท่านเองบอกว่า นายกฯ คือประธาน ก็ต้องส่งเรื่องในท่านทราบเพราะท่านเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ เราต้องชี้แจง
ขณะที่นพ.วิชัย ชี้แจงต่อว่า การจัดงานที่นายพิศิษฐ์ กล่าวถึง หากไม่เกี่ยวแล้วทำไมถึงผ่านคณะกรรมการ
"ที่ผมอธิบายไปข้างต้น หากไม่เกี่ยวจริงต้องไม่ผ่านแต่แรก และคิดว่าท่านผู้ว่า ตีความเกินกว่ากฎหมายกำหนดไว้เเล้ว เพราะในมาตรา 18 วรรคสุดท้ายก็ได้เขียนชัดเจนว่า ผู้ใดที่ไม่ได้กระทำการเพื่อแสวงหาผลกำไร ซึ่งในเรื่องนี้ก็ชัดเจน นั้นก็หมายความว่า หากโครงการใดที่ผู้ยื่นโครงการไม่ได้จัดทำเพื่อผลกำไร ก็เป็นที่อนุมัติ และถ้าเราให้ราชการจัดการ จะจัดการในเวลาของราชการ แต่ปัญหาบางปัญหาต้องจัดการในเวลาขอราษฎร์ เช่นเรื่องเอดส์ ในสมัยที่ผมเป็น อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เราจะรณรงค์ได้ต้องรณรงค์ในเวลาของประชาชนไม่ใช่เวลาราชการ อย่างนั้นหากต้องเพิ่งภาครัฐก็เชื่อว่าหลายๆ อย่างก็ล่าช้า"
จริยธรรมของผู้บริหารและผลประโยชน์ทับซ้อน
ผู้ว่า สตง. ย้ำว่า ไม่ได้เข้าตรวจสอบเรื่องการทำทุจริต แต่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะถึงเวลาเเล้วที่เราจะต้องปฏิรูป ยกตัวอย่างเช่น มูลนิธิโกมลคีมทอง มูลนิธิ 14 ตุลา เป็นต้น
"เราพบว่า มูลนิธิโกมลคีมทอง ซึ่งได้งบ สสส.กว่า 40 ล้านบาท ขณะเดียวกันมูลนิธิเด็กได้เพียง 1.9 ล้านบาทเท่านั้นเอง ถึงเวลาแล้วที่เราต้องชี้แจงในประชาชนได้รับทราบ เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆ ต้องกำจัดออกไป ไม่ใช่ว่าหมวกหนึ่งอยู่ใน สสส. อีกหมวกหนึ่งก็เป็นประธานมูลนิธิที่เข้ามารับเงิน สสส.อีกที อย่างการรับเงินของมูลนิธิต่างๆ มีเพียงใบโอนเงินใบเดียว แล้วให้มูลนิธิเปิดบัญชีขึ้นมาเพื่อเอาเงินไปใส่ ซึ่งกระบวนเหล่านี้ไม่รัดกุม เราก็ต้องไปติดตามตรวจสอบต่อไป ต้องกลับไปดูกระบวนการดำเนินงานและผลการดำเนินงาน แก้กฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนของคนใน สสส."
ด้าน นพ.วิชัย ชี้แจงว่า มูลนิธิโกมลคีมทอง ซึ่งตนนั่งเป็นประธานมูลนิธิอยู่นั้น ทางมูลนิธิดูแลในเรื่องการออกค่ายอาสาพัฒนาต่างๆ มูลนิธิเป็นองค์กรตัวกลางในการประสานงาน ในเรื่องของจิตอาสา ถามว่า การทำให้คนเกิดจิตอาสาไม่เกี่ยวกับสุขภาวะตรงไหน
"กลับไปที่เรื่องของสวดมนต์ข้ามปี จะบอกตลอดปีที่ผ่านมามีโครงการที่ดำเนินไปกว่า 200 โครงการ เช่นในเรื่องการรับน้องปลอดเหล้า หรืองานบุญปลอดเหล้า เป็นต้น งานมูลนิธิเป็นงานที่ไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเลย แถมยังเป็นภาระเสียอีก มูลนิธิโกมลคีมทองประชุมปีละครึ่งเท่านั้นเอง อย่างมูลนิธิ 14 ตุลา ซึ่งก็จัดทอดผ้าป่า หาเงินมาบริหารจัดการมูลนิธิทุกปี และการที่ 14 ตุลามาของงบ สสส. เพื่อนำไปใช้ในโครงการทางวิชาการ ไม่ใช้การจัดการในมูลนิธิ"
งานรำลึก100 ปี ชาติกาล อ.ป๋วย เป็นงานที่ไม่ได้เกี่ยวกับการรับงบการ สสส.ของ มูลนิธิ 14 ตุลา เพราะงบนั้นนำไปใช้กับโครงการวิชาการไม่ใช่เรื่องงานรำลึก เป็นเรื่องของการศึกษาในประเด็น civic education เพื่อให้พลเมืองเกิดสำนึกในประชาธิปไตย
จากนั้น นายพิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่สตง.ทำคือตรวจสอบดูว่า สุดท้ายปลายทางของแต่ละโครงการอยู่ตรงไหน อย่างเช่น มูลนิธิ 14 ตุลา ขอจัดงานรำลึก อยากถามว่า เกี่ยวกับสุขภาวะตรงไหน หรืออาจมีเกี่ยวบ้างก็เรื่อง อาหารหรือน้ำดื่มให้ผู้ร่วมงาน ส่วนอย่างอื่นไม่เข้าใกล้เลย
" งบประมาณจากภาษีบาปเหล่านี้ เราอยากให้เกิดประโยชน์กับประชาชนให้มากที่สุด ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น อย่างที่เสนอให้เอาเงินกลับเข้าคลัง แล้วนำเอาโครงการที่จะทำมาสกรีนผ่านคณะรัฐมนตรี อย่างงบที่เหลืออยู่ตอนนี้ ท่านวิชัยบอกว่าต้องรีบใช้ให้หมด ภายในปี 60 แบบนี้แสดงว่า ใครมีโครงการอะไรก็รีบมาของบไปใช้ แล้วสุดท้ายก็ไม่ได้เกิดผลต่อคนทั้งประเทศ ซึ่งไม่ได้"
สำหรับปลายทางการตรวจสอบนั้น ผู้ว่า สตง. กล่าวด้วยว่า ต้องเป็นไปตามที่รมว. ยุติธรรมได้ชี้แจงไป ว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขในข้อกฎหมายอย่างไร ด้านสตง.เองไม่ได้เข้าไปตรวจสอบในเรื่องของการทุจริต อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจผิด
เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร ต้องรอดูกันต่อไป