นักวิชาการด้านผังเมืองจี้รัฐทบทวน "รูปแบบ" โครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา
สถาบันการศึกษาด้านการผังเมืองร่วมกับภาคีพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาค้านรูปแบบโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะที่ 1 ขอรัฐทบทวนศึกษารายละเอียดให้รอบคอบก่อนดำเนินการ ระบุหากเร่งดำเนินการจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ-วิถีชีวิตชุมชน
21 พฤษภาคม 2558 ภาคีพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (พพพ.) ประกอบด้วย สถาบันการศึกษาด้านการผังเมือง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเครือข่ายสถาปนิก นักสิ่งแวดล้อม และชุมชน ได้แก่ มูลนิธิโลกสีเขียว สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมอิโคโมสไทย เครือข่ายศิลปวัฒนธรรมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ธนบุรี และเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะที่ 1 ระยะทาง 14 กิโลเมตร ณ ร้านคาเฟ่ บาย ไลบรารี่ พหลโยธิน กรุงเทพฯ
ผศ.ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ภาคีไม่ได้คัดค้านโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพียงแต่คัดค้านรูปแบบของโครงการที่เห็นว่าจะต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ โดยไม่อยากให้มีการเร่งรีบทำโครงการจนเกินไป ซึ่งการออกแถลงการณ์ครั้งนี้ไม่ได้ต้องการจะสื่อไปถึงรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้สาธารณชนได้รับทราบเกี่ยวกับโครงการที่เกิดขึ้น เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาคือมรดกของคนไทยทุกคน
ผศ.ดร.ไขศรี กล่าวถึงหลักการเบื้องต้นในการวางผังและออกแบบพื้นที่สาธารณะริมน้ำของเมืองที่มีคุณภาพ ต้องคำนึงดังนี้
1.Senstive to Environmental Impact: สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดประสิทธิภาพของการระบายน้ำในแม่น้ำลำคลองน้อยที่สุด สัณฐานของโครงสร้างต้องมีความเหมาะสม ไม่ใหญ่มากเกินไป มีระบบระบายน้ำและระบบดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพ
2.The “Three Mixes” : มีความเป็นอเนกประโยชน์ คือคนทุกกลุ่มสามารถเข้าไปใช้ได้ทุกกิจกรรมและทุกเวลา และการพัฒนาพื้นที่ต้องควบคู่ไปกับแผนการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ต่อเนื่องทั้งระบบการเข้าถึงและกิจกรรมเพื่อป้องกันการตัดขาดของพื้นที่สาธารณะริมน้ำและพื้นที่เมือง
3.Eyes on Spaces: มีสายตาเฝ้าระวังพื้นที่เพื่อความปลอดภัย คือชุมชนมีส่วนร่วม รู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ การออกแบบพื้นที่ต้องสอดคล้องกับความต้องการอันหลากหลายของเจ้าของพื้นที่ที่ต่อเนื่องด้านใน ไม่ควรใช้แบบมาตรฐานกับทุกบริบทพื้นที่
และ 4. Tropical Public Spaces: เป็นพื้นที่สาธารณะแบบเมืองร้อน คือทางเดิน ทางจักรยาน พื้นที่พักผ่อนริมน้ำ ต้องสอดคล้องไปกับบริบทอันหลากหลายของการให้ร่มเงาหลีกเลี่ยงการเป็นที่โล่งกว้าง
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา ว่า จะเป็นการเพิ่มพื้นที่สาธารณะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจริมแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้เกิดทัศนียภาพงดงามและจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนพื้นที่สาธารณะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจในเขต บางซื่อ เขตดุสิต และเขตบางพลัด รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มเส้นทางการสัญจรทางเท้าและทางจักรยานทำให้การสัญจรมีความสะดวก ปลอดภัย
ส่วนผลเสียที่จะเกิดขึ้นนั้น ดร.พนิต กล่าวว่า จะเกิดผลกระทบต่อชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างปัญหากีดขวางการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและผลต่อปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ตอนบน สิ้นเปลืองงบประมาณการพัฒนาด้านการคมนาคมขนส่งของกทม. เนื่องจากทางเลียบทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีแนวขนานกับสายทางระบบขนส่งกับสายทางระบบขนส่งมวลชนทางรางสายสีน้ำเงิน ซึ่งอยู่ในระหว่างก่อสร้าง ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจึงมีแนวทางที่ซ้ำซ้อน และไม่สามารถใช้เป็นระบบเสริมให้แก่ระบบขนส่งมวลชนได้ อีกทั้งเป็นการสิ้นเปลืองบุคลากรและงบประมาณในการดูแลและบำรุงรักษา ที่สำคัญคือสูญเสียทัศนียภาพการตั้งถิ่นฐานและชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
สำหรับข้อเสนอต่อรัฐบาลให้ทบทวนโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาระยะที่หนึ่ง 14 กิโลเมตรนั้น มีสาระสำคัญดังนี้
ภาคีฯ มีความยินดีที่คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร รวมถึงต้องการให้โครงการดังกล่าว เป็นภูมิสัญลักษณ์แห่งใหม่ของประเทศโดยภาคีฯ ขอแสดงความคัดค้านรูปแบบโครงการ ด้วยเหตุผลดังนี้
1.โครงสร้างมีขนาดกว้างถึง 19.50 เมตร และเป็นพื้นที่ดาดแข็งขนาดใหญ่ จะสร้างผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยา อุทกศาสตร์ของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งภูมิทัศน์วัฒนธรรมของพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างแน่นอน และไม่สามารถหวนคืนได้
2.มีรูปแบบมาตรฐานเป็นรูปแบบเดียว ตลอดความยาวสองฝั่งในบริเวณที่จะทำการก่อสร้างทั้งหมด 14 กิโลเมตร ขาดความเชื่อมโยงต่อภูมิสัณฐานของตลิ่ง โครงข่ายการสัญจรของเมือง รวมทั้งรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ริมแม่น้ำที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะบางบริเวณเป็นวัดและชุมชนเก่าแก่ที่มีเอกลักษณ์
3.ขาดการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ และการวิเคราะห์งบประมาณอย่างเหมาะสม
4.ขาดกระบวนการการสำรวจความคิดเห็น การมีส่วนร่วมของประชาชน และการสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะ ที่จะนำไปสู่การสร้างข้อเสนอรูปแบบของโครงการ ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ ทั้งในระดับพื้นที่โดยรอบและในระดับเมืองอย่างแท้จริง ที่จะสามารถสร้างความหวงแหน และเป็นเจ้าของพื้นที่สาธารณะริมน้ำของโครงการในระยะยาวได้
ทั้งนี้ ภาคีจึงขอเสนอให้รัฐบาลทบทวนรายละเอียดโครงการ โดยเฉพาะเรื่องรูปแบบอย่างละเอียดรอบคอบตามข้อเสนอภาคี รวมทั้งกำหนดกระบวนการการทำงาน ตลอดจนการศึกษาผลกระทบของโครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในด้านต่างๆ อย่างชัดเจน ทั้งก่อนและระหว่างการทำแบบ