ชาวบ้านแม่เมาะร้องนายกฯ ลงพื้นที่ หลังกฟผ.ส่อละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล
ใกล้ครบกำหนด 90 วัน คดีแม่เมาะ ศาลปกครองสั่ง กฟผ.แก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งติดตั้งม่านน้ำ อพยพคนออกจากพื้นที่นอกรัศมีผลกระทบ ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิม ปลูกป่าทดแทนสนามกอล์ฟ ชาวบ้าน- เครือข่ายภาคปชช.หวั่นกฟผ.ไม่ปฏิบัติตาม
วันที่ 6 เมษายน คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม (Thai Climate Justice), กลุ่มจับตาพลังงาน (Energy Watch), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW), และ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม (ThaiSEJ) จัดเวทีการนำเสนอ (Press Briefing) ภายใต้หัวข้อ “สังคมไทยควรเรียนรู้อะไรจากกรณีแม่เมาะ” ณ ห้องประชุม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม โดยมีการอธิบายคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีแม่เมาะ ที่ตัดสินเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ในมุมนักกฎหมายสิ่งแวดล้อม การขยายตัวของเหมืองและโรงฟ้าแม่เมาะ และผลเชิงสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับการปฎิบัติตามคำพิพากษา ของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ว่า ศาลมีคำพิพากษาให้ กฟผ. ดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ครบถ้วนนั้น ใกล้ครบกำหนด 90 วันแล้ว ขณะนี้คาดว่า กฟผ.กำลังดำเนินเรื่อง ให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เห็นชอบ ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) เห็นชอบมาก่อนหน้านี้
“คำพิพากษามีวรรคที่ห้อยท้าย เรื่องกรณีมาตรการฯ รายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อม (Environmental Audit) นั้น กฟผ.ได้จัดทำรายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อม (Environmental Audit) เสนอต่อ สผ.แล้ว จึงไม่จำต้องออกคำบังคับให้ กฟผ. ดำเนินการตามมาตรการข้อนี้ และศาลได้พิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนแปลงวิธีการและมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมเดิม แม้การดำเนินการดังกล่าว จะได้รับความเห็นชอบจาก สผ. แล้ว แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจาก กพร.” นายเลิศศักดิ์ กล่าว และว่า คาดว่า ภายใน 90 วันนี้ กฟผ.กำลังดำเนินเรื่องเพื่อให้ กพร.เห็นชอบตามที่ สผ.เห็นชอบมา ทำให้สิ่งที่ศาลปกครองฯ พิพากษาทั้งหมด กฟผ.ไม่ต้องปฏิบัติตาม
นายเลิศศักดิ์ กล่าวอีกว่า มีรายงานข่าวว่า มีการนัดชาวบ้านที่ถูกตัดสินคดีไปเจรจา นัดหารือที่ กพร.เพื่อบอกว่า พื้นที่ตรงสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ ไม่อยู่ในพื้นที่ที่ขอประทานบัตร หมายความว่า กฟผ.จะไม่ถมดินให้พื้นที่สวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ กลับสู่สภาพเดิม
“ดังนั้นวันนี้ต้องวัดใจอธิบดีกพร. ซึ่งจะเกษียณ อายุเดือนกันยายน 2558 คาดว่า 9 พ.ค.2558 กพร.จะมีหนังสือออกมาเห็นชอบ ตามมาตรการที่ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลง เพื่อละเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาทั้งหมด กฟผ.ไม่คิดฟื้นฟูที่ดินบริเวณดังกล่าวกลับสู่สภาพเดิม แต่สิ่งที่กฟผ.กำลังทำอยู่ คือ การปรับภูมิทัศน์เท่านั้น ไม่ใช่การฟื้นฟูเหมือง”
ขณะที่นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงบทเรียนคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีแม่เมาะ เป็นคดีมหากาพย์ และมีความซับซ้อน โดยเฉพาะเรื่องมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วยการให้มีการรายงาน EIA แม้ภาพสวยหรูให้มีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่ปัญหาในคำพิพากษา กฟผ.มีการของแก้ไข EIA และสผ.เห็นชอบ ในเวลาต่อมา โดยชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วม ซึ่งกลายเป็นว่า EIA สามารถแก้ได้ แต่ชุมชนไม่มีส่วนรับรู้ว่า แก้ไขแล้วมีประโยชน์ หรือมีผลกระทบหรือไม่ อย่างไร
“รวมถึงการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม EIA คนฝ่าฝืนไม่ต้องรับผิดอะไร เพราะไม่มีโทษ ทั้งๆ ที่ EIA สำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่การละเลยไม่ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติแร่ มาตรา 138 ก็มีโทษ ปรับแค่ 2 หมื่นบาท นี่จึงเป็นปัญหา EIA ไร้น้ำยาโดยสิ้นเชิง ต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้ชุมชนได้ระผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”
ด้านนายนิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ กล่าวถึงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของกฟผ.ตามคำพิพากษา คณะทำงานของสภาทนายความกำลังสรุปผลกระทบของคำพิพากษาคดีแม่เมาะออกมา เช่น อะไรบังคับได้ บังคับไม่ได้กรณีไหนบ้าง
“หากถึง 90 วันกฟผ.ยังไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา หน่วยงานทางปกครองต้องไปยื่นคำร้องที่ศาลปกครอง ขอให้ศาลปกครองออกคำสั่ง หากไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา จากนั้นส่งเรื่องไปที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อไป”
ส่วนตัวแทนชาวบ้านแม่เมาะ ระบุว่า ชุมชนแม่เมาะยังมีปัญหาอยู่ หลังคำพิพากษาศาลปกครองฯ ให้ กฟผ.ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิม แต่พบว่า กฟผ.ยังไม่มีการดำเนินการตามคำพิพากษาแต่อย่างใด โดยเฉพาะการอพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร พร้อมกับเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่แม่เมาะ เพื่อรู้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน
"หลังคำพิพากษา ไม่มีตัวแทนจากกฟผ.เข้ามาหาชาวบ้านแม้แต่คนเดียว หน่วยงานรัฐไม่ต้องพูดถึง เหมือนเราถูกปล่อยในป่า ไม่รู้จะทำอย่างไร"ตัวแทนชาวบ้านแม่เมาะ ที่เดินทางเข้าร่วมในเวทีกล่าวปิดท้าย
|
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ศาลปค.สูงสุดให้กฟผ. ติดตั้งม่านน้ำ อพยพคนพ้นรัศมีโรงไฟฟ้าแม่เมาะภายใน 3 เดือน
กฟผ. เชื่อแก้สิ่งแวดล้อมรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ปลูกรักษาแนวไม้ กันฝุ่นกว่าติดตั้งม่านน้ำ