กสทช.ข้างน้อย ชี้กุญแจถูกถอด SLC ซื้อหุ้นเนชั่น หวั่นเปิดช่องครอบงำสื่อสิ้นเชิง
นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จับมือเครือข่าย จัดเวทีเสวนาสาธารณะ "สิทธิประชาชนอยู่ไหน ในยุคสื่อควบรวมและเหมาโหล" นักนิเทศฯ หวั่นกรณีเนชั่นเป็นเกมกำจัดจุดอ่อนทางการเมือง ไม่ฟันธงสื่อทีวีอยู่ยาก เหตุใดทุนการเมืองถึงอยากเข้ามาเทคโอเวอร์
วันที่ 24 มีนาคม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ และสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) จัดเวทีเสวนาสาธารณะ เกาะติดทิศทางการปฎิรูปสื่อ ครั้งที่ 2 เรื่อง "สิทธิประชาชนอยู่ไหน ในยุคสื่อควบรวมและเหมาโหล" ณ อาคารมกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์จุฬาฯ
ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ลงมติการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC เป็นผู้มีอำนาจควบคุมช่องข่าวสปริงนิวส์ เข้าซื้อหุ้นของ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในบริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์วิชั่น จำกัด (NNV) ซึ่งได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลในบริษัท ช่องข่าวเนชั่น ในสัดส่วนที่ถือว่าเข้าข่ายผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นการถือครองใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอลในหมวดหมู่เดียวกัน เกินสัดส่วน ร้อยละ 10 ตามที่ประกาศกำหนดไว้ก่อนการประมูล
โดยที่ประชุมฯ ได้มีมติ 3 ต่อ 2 เสียงเห็นว่า SLC ไม่เป็นผู้มีอำนาจควบคุม NMG เนื่องจากถือหุ้นใน NMG เพียง 12.27% ไม่เกินกว่า 25% และไม่ปรากฏว่ากระทำการขัดต่อเงื่อนไขการมีผลประโยชน์ร่วมกัน จึงไม่ขัดต่อประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ ในกิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ พ.ศ.2556
ผศ.ดร.ธวัชชัย ในฐานะกสท.เสียงข้างน้อย กล่าวถึงกรณีดังกล่าว แม้หลายคนมองว่า เป็นกรณีเล็กๆ แต่สำคัญในแง่สัญลักษณ์ที่จะเปิดประตูไปสู่สิ่งที่น่ากลัวในอนาคต
"แม้ผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ขัดกฎหมาย ยังไม่รวมการถือหุ้นแบบนอมินีก็ตาม กรณีนี้จะเปิดโอกาสให้มีการถือหุ้นคุมอยู่ข้างหลัง การควบรวมทำได้แต่ไม่ควรมากเกินไปหรือถือหุ้นเกินโควต้า" กสท.เสียงข้างน้อย กล่าว ดังนั้นในอนาคตไม่รู้จะป้องกันอย่างไร เพราะกุญแจถูกถอดแล้ว
สำหรับการตัดสินของกสทช.กับผลกระทบต่อการบริโภคข้อมูลข่าวสาร ผศ.ดร.ธวัชชัย หวั่นว่า ในอนาคตข่าวสารก่อนเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนจะถูกกลั่นกรองก่อน และบางข่าวสื่ออาจไม่ให้ความสำคัญหลบๆ แล้วสังคมจะยอมได้หรือไม่
ด้านนางสาวสุวรรณา จิตประภัสสร์ ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงการปฎิรูปสื่อ ไม่ใช่เรื่องของสื่ออย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับประชาชนด้วย พร้อมแสดงความเป็นห่วง หากมีการควบรวมสื่อ ครอบงำสื่อ ผู้บริโภคจะรับข้อมูลข่าวสารฝั่งเดียว และไม่รอบด้าน โดยเฉพาะการควบคุมความคิดทางการเมือง
ส่วนผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงสื่อทีวีมีบทบาทมากในสังคมไทย แม้จะมีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า คนไทยส่วนใหญ่อันดับหนึ่งดูละคร แต่อันดับ 2 คนไทยยังบริโภคข่าวสาร รองมาจากละคร
"ทีวี วิทยุ เนื้อหากระทบต่อวิธีคิดของคน อุดมการณ์ และความเชื่อ ดังนั้น สื่อจึงไม่ใช่สินค้าปกติทั่วไป จำเป็นต้องมีองค์การกลางขึ้นมากำกับดูแล เช่น กสทช.เพื่อให้พื้นที่สื่อนี้กลายเป็นตลาดทางความคิดที่หลากหลาย" ผศ.พิจิตรา กล่าว และว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับเนชั่น เป็นปรากฎการณ์ที่สังคมต้องจับตามองหรือไม่ เพราะกรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งกับมติชน และบางกอกโพสต์ พร้อมกับฝากให้สังคมคิดต่อว่า ทุนการเมืองเห็นช่องทาง สื่อมีอิทธิพลต่อความคิดคน ทำทีวี ก็รู้ๆกันอยู่ว่าขาดทุน อยู่ยากในปัจจุบันแต่ทำไมทุนการเมืองจึงอยากเข้ามาคุม หรือเทคโอเวอร์อุตสาหกรรมนี้
ผศ.พิจิตรา กล่าวด้วยว่า กรณีเนชั่นอาจมองได้ว่า เป็นเกมกำจัดจุดอ่อนอะไรบางอย่างหรือไม่ เพราะสื่อทีวีมีอิทธิพลมากต่อสังคมไทย รวมถึงเคเบิ้ล ดาวเทียม ก็มีการเล่นเกมกำจัดจุดอ่อนอยู่
"การรับรู้ข่าวสารที่ผ่านมากรณีเจ้าของเป็นทุนการเมือง อยากถามสังคมไทยว่า ได้เข้ามาแทรกมาล้วงลูกในเชิงเนื้อหาหรือไม่"