คนซอยร่วมฤดีร้องเขตปทุมวันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลเหตุรื้อถอนรร.ดิเอทัส
คนซอยร่วมฤดีร้องสื่อ เขตปทุมวันปฏิบัติไม่ตรงกับคำพิพากษา เปิดช่องให้รร.ดิเอทัส ประวิงการบังคับคดี
ตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 กรณีสร้างอาคารสูงเกิน 23 เมตรในซอยร่วมฤดี กรุงเทพมหานคร โดยมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตปทุมวันและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครปฏิบัติตามมาตรา 40,41,42 และ 43 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้สำนักงานเขตปทุมวัน (ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ) และ กรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องที่ 2) ให้เร่งรื้อถอนหรือลดความสูงอาคารไม่ให้เกิน 10,000 เมตร ภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
ล่าสุด นายเฉลิมพงษ์ กลับดี ทนายความผู้รับมอบคดี กล่าวว่า การที่สำนักงานเขตปทุมวันรังวัดที่ดินใหม่และยังออกคำสั่งตามมาตรา 40 แห่งพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร นั้น คือ1.ให้เจ้าของอาคารระงับการก่อสร้างดัดแปลงอาคาร 2. ให้เจ้าของอาคารแก้ไขปรับปรุงอาคารให้ถูกต้อง ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 3.ห้ามมิให้บุคคลใดๆ เข้าใช้อาคารดังกล่าวอย่างเด็ดขาด ซึ่งตามกฎหมายต้องมีการออกคำสั่ง และจะต้องออกคำสั่งตามข้อ 1 และข้อ 3 ก่อน จึงจะพิจารณามีคำสั่งตามมาตรา 41 หรือมาตรา 42 แล้วแต่กรณี ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้มีคำสั่งตามข้อ1
“การกระทำดังกล่าวไม่ตรงตามกฎหมาย ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสอุทธรณ์คำสั่ง และยืดระยะการปฏิบัติตามคำสั่งออกอีก เพราะผู้ได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน เป็นเหตุให้การแก้ไขปัญหายืดเยื้อยาวนาน ดังนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะดำเนินการอย่างไรกับผู้มีอำนาจออกหนังสือในการตรวจสอบความกว้างของซอยร่วมฤดี ในปี 2548 เพราะทำให้สำนักงานเขตปทุมวันและกรุงเทพมหานครเสียหาย”
นายเฉลิมพงษ์ กล่าวถึงการแจ้งรังวัดที่ดินใหม่ของสำนักงานเขตปทุมวันและสำนักงานที่ดินนั้นไม่ทราบเจตนาที่แท้จริง และกลุ่มผู้ฟ้องคดีไม่เข้าใจถึงเหตุผลที่มาทำการรังวัดซ้ำในครั้งนี้ว่า ทำเพื่อจุดประสงค์อะไร เป็นการผิดระเบียบของทางราชการหรือไม่ เพราะว่าหนังสือที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงวันที่ 16 กันยายน 2551 ได้แจ้งเรื่องหลักฐานการรังวัดตรวจสอบ โดยสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครทั้ง 2 ครั้ง ใช้เป็นหลักฐานทางราชการได้
"เหตุที่สำนักงานเขตปทุมวันอ้างว่า ในฐานะผู้ที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล เพื่อพิสูจน์ทราบให้ชัดเจนถึงขอบเขตทางที่มีความกว้างดังกล่าวนั้นเกี่ยวข้องอย่างไรกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครอง"
ด้านนายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ ผู้ฟ้องคดี กล่าวถึงเอกสารที่เคยทำรังวัดก่อนขึ้นศาล มีการเซ็นรับรองจากทุกฝ่ายแล้ว จึงถือว่า เป็นเอกสารทางราชการ แต่ต่อมากลับมีการนัดรังวัดที่ดินใหม่ ในฐานะที่เป็นผู้ฟ้องคดีจึงได้ทักท้วงไปยังสำนักงานเขตปทุมวัน และทำให้ทราบว่า ได้ยกเลิกการรังวัดแล้ว แต่สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ที่ดินกลับพบว่า ยังไม่มีคำสั่งดังกล่าวออกมา ซึ่งถือว่าผิดปกติและกลุ่มผู้ฟ้องเห็นว่าผู้อำนวยการสำนักงานเขตปทุมวันน่าจะปฏิบัติไม่ตรงตามคำพิพากษาของศาลปกครอง โดยมีคำสั่งเกินเลยไปจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมอาคารชุด พ.ศ. 2522 เปิดช่องให้มีการอุทธรณ์เพื่อประวิงการบังคับคดีได้