แนวคิดจังหวัดจัดการตนเองคืบ! 20 แห่ง เล็งเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
ไพโรจน์ พลเพชร เปิด “ร่องรอย จังหวัดปกครองตนเอง ยันภาคประชาชนขับเคลื่อนมานานแล้ว แถมรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 นั้น ก็ตอกย้ำ แต่ก็ไม่มีใครปฏิบัติตามให้เกิดขึ้นจริงในโลกการเมืองการปกครองไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวในเวทีเสวนาปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 1 จัดโดยธรรมศาสตร์อภิวัฒน์ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ ชั้น 2 ตึกโดม มธ.ท่าพระจันทร์ ถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อให้ชุมชนจัดการตนเองว่า เป็นประเด็นใหญ่ของสังคมไทย และถือเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยก้าวสำคัญก้าวหนึ่ง แต่ในอดีตที่ผ่านมาเรื่องนี้ได้ถูกกลบด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างข้างบนตลอดเวลา ด้วยคิดว่า การพัฒนาประชาธิปไตย คือการเปลี่ยนโครงสร้างข้างบนเสมอๆ
สำหรับแนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจนั้น นายไพโรจน์ กล่าวว่า เป็นผลพวงของการเคลื่อนไหวจากภาคประชาชน มีการเคลื่อนไหวการปกครองตนเองระดับจังหวัด หรือจังหวัดจัดการตนเอง โดยมีการเสนอเรื่องมาที่ คปก. กว่า 2 ปีแล้ว จากนั้นไปศึกษาแนวคิดนี้
“ปัจจุบันแม้จะมีการกระจายอำนาจในรูปแบบต่างๆ มานานแล้ว มีเทศบาล มีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แต่อำนาจการรวมศูนย์ที่ส่วนกลางก็ยังดำรงอยู่ การตัดสินใจเรื่องทรัพยากร งบประมาณ ภาษี รวมไปถึงการวางแผนพัฒนาในทุกๆ เรื่อง ยังอยู่กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ว่าจะกระจายอำนาจไปในรูปแบบใดก็ตาม ก็ยังไม่ถึงมือท้องถิ่นจริงๆ”
กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวถึงรัฐธรรมนูญปี 2540 มีการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับชุมชน ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามากำหนดชะตากรรมของตนเองในหลายรูปแบบ ไม่ว่า มีการมีส่วนในการจัดการทรัพยากร จนเกิดการเคลื่อนไหวขนานใหญ่ในรอบ 15 ปีที่ผ่าน ที่ชุมชนต่างๆ แข็งขืนต่ออำนาจรัฐ ไม่ยอมโครงการต่างๆ มีการตรวจสอบทุกระดับ ขอจัดความสัมพันธ์กับรัฐใหม่ ขอมีส่วนร่วมในจัดการ รู้เห็น และตัดสินใจ ฉะนั้นแนวคิดการจัดการตนเอง จึงไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แต่มีการพัฒนามาเป็นระยะๆ เป็นผลผลิตของการต่อสู้ในแต่ละจุด
ส่วน “ร่องรอย" จังหวัดปกครองตนเองนั้น นายไพโรจน์ กล่าวว่า มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ตอกย้ำเรื่องนี้อีก อยู่ในมาตรา 78 หมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ก็พูดชัดว่า จังหวัดไหนจะปกครองตนเองสามารถทำได้ แต่ก็ไม่มีใครปฏิบัติตามให้เกิดขึ้นจริงในโลกการเมืองการปกครองไทย ทั้งๆที่แท้จริงแล้วรัฐธรรมนูญรองรับการเกิดขึ้นของจังหวัดปกครองตนเอง มาเกือบ 18 ปีแล้ว
นายไพโรจน์ กล่าวถึงการออกแบบจังหวัดขนาดใหญ่ปกครองดูแลตนเองนั้น จะมีการกล่าวถึงเรื่องอำนาจหน้าที่ รัฐส่วนกลางทำแค่ 4 เรื่องพอ 1.การป้องกันประเทศ 2.การเงินการคลัง 3.ศาล และ 4.ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นอกนั้นชุมชนท้องถิ่นต้องดูแลตนเองได้ รวมไปถึงจะมีการออกแบบจังหวัดขนาดใหญ่ปกครองดูแลตนเอง ต้องมาดูเรื่องการเงินการคลัง ภาษี และรายได้สู่ท้องถิ่น มีพื้นที่สภาพลเมือง ทำหน้าที่กำกับทิศทางของจังหวัด ขณะเดียวกันใช้ “ประชามติ” เพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่ตัดสินใจในโครงการสำคัญๆ เป็นต้น
กรณีมีคนถามว่า แล้วราชการส่วนภูมิภาคยังอยู่หรือไม่ นายไพโรจน์ กล่าวว่า ตอบตามตรง ก็ต้องไม่อยู่ ขณะเดียวกัน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยังอยู่ต่อไป ไม่ใช่อย่างที่กระทรวงมหาดไทย ไปยุหรือบอกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในเวลานี้
นายไพโรจน์ กล่าวถึงความคืบหน้าแนวคิดจังหวัดปกครองตนเอง ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นกฎหมายแล้ว โดยมีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายประชาชนเพื่อขับเคลื่อนจังหวัดปกครองตนเอง ประมาณ 20 จังหวัดทั่วประเทศ เข้าชื่อเสนอกฎหมายเดินหน้ารณรงค์ทั่วประเทศ
“เมื่อมีกฎหมายออกมาแล้ว ไม่ใช่ทุกจังหวัดเป็นจังหวัดปกครองตนเองได้ทันที แต่จะต้องมีการพิสูจน์ตัวเอง ลงประชามติ ตามเจตนารมณ์ของคนในจังหวัดนั้นๆ ว่า อยากจะเป็นจังหวัดจัดการตนเองหรือไม่ ฉะนั้นจึงไม่มีทางเป็นจังหวัดจัดการตนเองได้พร้อมกันทั่วประเทศ จังหวัดจัดการตนเอง เราไม่อยากทำทีเดียวเต็มพื้นที่ เหมือนที่ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส. ) เสนอให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทันที ผมว่า เป็นปัญหา เพราะจิตสำนึก ความตื่นตัวของผู้คนต่างหาก คือ ตัวชี้ขาดความเป็นประชาธิปไตย”
กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่มีการพูดถึงปฏิรูปประเทศไทยอย่างกว้างขวางนั้น จะเป็นการเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้เร็วขึ้น
“ ผมเชื่อว่า หากประชาธิปไตยลงข้างล่างมากขึ้น การใช้อำนาจในโครงสร้างข้างบนจะลดน้อยถอยลง การแย่งชิงอำนาจข้างบนจะน้อยลง ประชาธิปไตยจะไปถึงประชาชนอย่างแท้จริง”