อังคณา ชี้การต่อสู้ปกป้องมนุษยชน ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญ กลับถูกสังคมเลือกปฏิบัติ
8 มีนาฯ วันสตรีสากล "อังคณา" ชี้การต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ประชาธิปไตย ปกป้องมนุษยชน ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญ แต่ยังเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติ ด้านทิชา ณ นคร ห่วงนักรบเพื่อระบบนิเวศ ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาไม่มีอาวุธ ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว จี้กรรมการสิทธิ์โดดเข้ามาปกป้อง
วันที่ 6 มี.ค. 2560 คณะอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) จัดงานเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และพิธีมอบเกียรติบัตร เนื่องในวันสตรีสากล 2560 เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ และสร้างขวัญกำลังใจในการเสียสละ อุทิศตน ในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แก่ "ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน" ณ ห้องคอนเวนชั่น ซี ชั้น 1 โรงแรม แอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี กล่าวว่า ปัจจุบันแม้ผู้หญิงจะได้รับการยอมรับในสังคม และมีพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น แต่ทัศนคติของคนส่วนใหญ่ในสังคม เชื่อว่าผู้หญิงมีบทบาทเฉพาะในบ้าน นอกบ้าน และบทบาททางการเมือง สังคมควรจะเป็นของผู้ชาย โลกของผู้หญิงจึงมักถูกจำกัดให้อยู่ในพื้นที่ส่วนตัวมากกว่าพื้นที่สาธารณะ
“แม้พื้นที่สาธารณะและบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงจะถูกจำกัด แต่ในความจริงพบว่า การต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ประชาธิปไตย และการปกป้องมนุษยชน ผู้หญิงคือผู้มีบทบาทเข้มแข็ง และอยู่แถวหน้ามาโดยตลอด การตอบรับความไม่เป็นธรรมของผู้หญิง นอกจากเพื่อปกป้องในครอบครัวของพวกเขาแล้ว ยังสะท้อนวิถีแห่งการมีส่วนร่วมในการสร้าง ธรรมาภิบาล และประกาศความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม”
นางอังคณา กล่าวอีกว่า ในขณะที่ผู้หญิงทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นประชาธิปไตย ความเป็นธรรมและปกป้องมนุษย์ชน ผู้หญิงจะต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติซ้ำซ้อนทางสังคมและวัฒนธรรม และกระบวนการต่อสู้ด้วยกันเอง ลดศักดิ์ศรีการเป็นผู้หญิง ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญที่เสียงของผู้หญิงมักไม่ได้ยิน
ทั้งนี้ กรรมการสิทธิฯ ได้ส่งสารไปยังรัฐบาลขอให้รีบดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชนทุกคน โดยเฉพาะปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง จะต้องไม่ให้มีการฟ้องร้อง ดำเนินคดีกับนักปกป้องมนุษยชนหญิง เพื่อให้หยุดพูดหรือหยุดการเคลื่อนไหวในการตรวจสอบ การละเมิดสิทธิ์ และเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคน มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและชุมชน อีกทั้งรัฐต้องให้ความสำคัญในการสอบสวน ต้องเข้าร่วมการสังเกตการณ์ และพยายามทุกวิธีทางให้มีการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย
นางอังคณา กล่าวด้วยว่า การสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในคุณค่าของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จะเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมกันบันทึกประวัติศาสตร์ การต่อสู้ของผู้หญิงในฐานะผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลง ปกป้องประชาธิปไตย เพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศชาติ ไปสู่การอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของความเคารพในสิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างเท่าเทียมกันต่อไป
ด้านนางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวถึงวันสตรีสากล 8 มีนาคม เกิดขึ้นเพื่อเชิดชูการต่อสู้อย่างกล้าหาญของกรรมกรหญิง หากดูภาพรวมตั้งแต่ร้อยกว่าปี จนถึงวันนี้จะพบว่า ภาพการต่อสู้เพื่อคุณภาพชีวิต เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อสิทธิมนุษยชนของมนุษยชาติก็ยังคงเกิดขึ้นต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด เรียกได้ว่า เป็นงานที่ไม่รู้จบ และนอกจากนี้ยังมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น อาจจะเป็นเพราะบริบทความเป็นมนุษย์นั้นมีสเกลที่กว้าง ทำให้สิทธิมนุษยชนลื่นไหลไปเรื่อยๆตามสภาวะใหม่ๆของสังคม ทั้งในภาพกว้างและในภาพลึก ดังนั้นต่อให้มีกฎหมายเขียนขึ้นมา หรือมีการปรับแก้ไข สิ่งเหล่านี้ก็ถูกคิดแค่ในห้องประชุมที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้
นางทิชา กล่าวถึงการทำหน้าที่ปกป้องมนุษยชน ไม่ว่าจะทำในนามของเพศใด มีความสุ่มเสี่ยง ทั้งถูกกลั่นแกล้ง ถูกข่มขู่ คุกคาม และจนถึงขั้นเอาชีวิต ซึ่งมีนักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนเสียชีวิตไปแล้วมากมายในประเทศไทย ดังนั้นการทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงทั้งในเชิงปัจเจกและเชิงกลุ่มก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าในฐานะของผู้หญิงอาจจะมีรูปแบบการคุกคามที่แตกต่างการออกไปจากผู้ชาย ซึ่งผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ในเส้นทางสายนี้ จะถูกกีดกัน การลำเอียง การไม่ยอมรับ การดูหมิ่น การเลือกปฏิบัติ และอาจจะไปถึงการล่วงละเมิดทางเพศ
นางทิชา แสดงความหวังว่า องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะทำหน้าที่ ทั้งในมิติของการปกป้องสิทธิมนุษยชน และต้องทำหน้าที่ปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย เพื่อให้นักต่อสู้ที่ไร้อาวุธ นักรบเพื่อระบบนิเวศในประเทศนี้ ซึ่งกำลังมีมากมาย เพราะว่าการคุกคาม แม่น้ำ ภูเขา ทะเล เหมือง พลังงาน จะเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ
“นักรบเพื่อระบบนิเวศอาจจะเป็นชาวบ้านธรรมดาที่ไม่มีอาวุธแม้แต่น้อย แต่เป็นเจ้าของพื้นที่ เป็นลูกหลานและเด็กๆที่กำลังเติบโต ซึ่งหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาจจะต้องทำทั้ง 2 ระดับ อย่างแข่งขันด้วยซ้ำไป เพื่อให้นักต่อสู้เหล่านี้ได้ขับเคลื่อนภารกิจที่หนักขึ้นอย่างไม่โดดเดี่ยว และพวกเขาทุกคนต้องปลอดภัย เพราะสิ่งที่ทำนั้นไม่ใช่เพื่อตัวเองแต่เพื่อที่จะให้มรดกทั้งหมดนี้ส่งต่อไปถึงลูกหลาน”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันเดียวกันได้มีพิธีมอบเกียรติบัตร เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สร้างขวัญ และกำลังใจในการขับเคลื่อนสังคมไทย จำนวน 8 ท่านประกอบไปด้วย
1. ภิกษุณีธัมมนันทา
2. กลุ่มสตรีเครือข่ายฅนรักษ์เมืองเทพา จังหวัดสงขลา
3. กลุ่มรักษ์บ้านแหง จังหวัดลำปาง
4. พนา เจริญสุข
5. มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน
6. คะติมะ หลีจ๊ะ
7. ณัฐพร อาจหาญ
และ 8. เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จังหวัดกระบี่