วงวิชาการเสนอแยกกระท่อม-กัญชาออกมาเป็นกม.เฉพาะ ให้เป็นพืชยา ไม่ใช่ยาเสพติด
นักกฎหมายสุขภาพ มธ. ชี้ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ให้ความสำคัญกับเมทแอมเฟตามีนมาก จนละเลยกัญชา-กระท่อม หวั่นเป็นอุปสรรคนำไปใช้เรื่องของสุขภาพและงานวิจัย ด้านผศ.ภก.สำลี ใจดี เสนอให้แยกกระท่อม-กัญชาออกมาเป็นกฎหมายเฉพาะ เป็นอิสระ ให้เป็นพืชยา ไม่ใช่ยาเสพติด
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานวิชาการ กองทุนศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ประจำปี 2560 ในหัวเรื่อง “กระท่อม กัญชา คือพืชยา ไม่ควรเป็นยาเสพติด” ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT.1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
ช่วงหนึ่งในเวที นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงพืชกระท่อมและกัญชา ปัจจุบันยังถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อยู่ แต่หากไปดูสถิติคดีความของสำนักงานศาลยุติธรรมปี 2558 พบว่า คดีเมทแอมเฟตามีนจะมีเยอะที่สุดกว่า 1.9 แสนคดี ส่วนกระท่อมประมาณ 5.5 หมื่นคดี และกัญชา 2 หมื่นคดี ซึ่งหากเราดูสัดส่วนคดีของกระท่อมและกัญชา รวมกันจะพบว่ามีสัดส่วนมิใช่น้อย
"ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับยาบ้า เมทแอมเฟตามีนมากเกินไป และละเลยตัวกระท่อมและกัญชา จนกลายเป็นคดีรกศาล ที่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการครอบครอง เป็นเรื่องของการเสพของเด็กและเยาวชน หรือชาวบ้านที่ใช้กระท่อม โดยศาลก็ไม่ได้ตัดสินลงโทษจำคุก"
นายไพศาล กล่าวว่า ผลกระทบของคดีความ ผลกระทบจากการใช้ทรัพยากรของรัฐ ครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม เรื่องเหล่านี้เราต้องคิดถึงต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ด้วยว่า เราสูญเสียไปเท่าไหร่
สำหรับพืชกระท่อม ในทางกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ นายไพศาล กล่าวว่า ไม่ถือเป็นยาเสพติด แต่กฎหมายไทยบัญญัติให้กระท่อมเป็นยาเสพติดจึงไม่สอดคล้องกับกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ และยังพบอีกว่า มีไม่ถึง 10 ประเทศที่ให้กระท่อมเป็นยาเสพติด เช่น สหรัฐ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และมาเลเซีย เป็นต้น
"ประเทศมาเลเซีย ไม่ถือว่า กระท่อมเป็นยาเสพติดร้ายแรง แต่ให้เป็นวัตถุมีพิษ คนปลูกระท่อมไม่มีความผิด ไม่เหมือนเมืองไทย แต่จะควบคุมเรื่องการผลิต นำเข้า ส่งออก และการครอบครอง มีใบอนุญาตจำหน่ายเพื่อทางการแพทย์ ขณะที่นิวซีแลนด์ก็ไม่ถือว่ากระท่อมเป็นยาเสพติด แต่ใช้กฎหมายยาในการควบคุม ให้พืชกระท่อมต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์"
นายไพศาล กล่าวถึงการที่ประเทศไทยบัญญัติให้กระท่อมเป็นยาเสพติดได้กลายเป็นอุปสรรคต่อการวิจัยและพัฒนา และทำลายภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยด้วย ไม่สามารถนำพืชกระท่อมมาใช้ในตำรับยาได้ สิ้นเปลืองงบประมาณ เสียกำลังพลโดยเปล่าประโยชน์ และดำเนินคดีอาญาโดยไม่จำเป็น แถมยังสร้างตราบาปให้กับผู้ถูกดำเนินคดีอีกด้วย
ส่วนกัญชา นักวิชาการจากศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาก เพราะถือเป็นยาเสพติดในทางกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ ซึ่งจากการค้นประวัติศาสตร์ความเป็นมา พบว่า การนำกัญชาบรรจุให้เป็นยาเสพติด ปี 1925 เกิดจากความไม่รู้ของคนสมัยก่อน และขาดความรู้ทางวิชาการ ขณะที่องค์การอนามัยโลกก็ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับกัญชามากเท่าไหร่ ยังเชื่อว่า กัญชาเป็นสิ่งเลวร้าย เมื่อปี 1950 นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการบัญญัติกัญชาเป็นยาเสพติด
"ในต่างประเทศจะกำหนดอายุของผู้ครอบครองกัญชาได้ โดยใช้เกณฑ์อายุเดียวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บางประเทศ 18 ปี บางประเทศ 21 ปี โดยมีข้อมูลทางวิชาการระบุชัดว่า การเสพกัญชาจะมีผลต่อสมองส่วนหน้า อีกทั้งบางประเทศมีการอนุญาตให้ปลูกในบ้านไม่เกิน 4-5 ต้น และกำหนดปริมาณในการครอบครอง"
นายไพศาล กล่าวถึงร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ปัจจุบันยังมีการกำหนดให้กัญชาและกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษอยู่ และยังให้ความสำคัญกับเรื่องเมทแอมเฟตามีน และยาเสพติดประเภท 1 2 3 4 มาก แต่กลับละเลยกัญชาและกระท่อม ขณะที่มาตรการควบคุมก็เป็นอุปสรรคในการนำไปใช้เรื่องของสุขภาพและงานวิจัย ซึ่งพืชเสพติดต้องมีมาตรการควบคุมแตกต่างจากยาเสพติด ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์
ทั้งนี้ นายไพศาล กล่าวด้วยว่า วันนี้เราอาจมีทางเลือกใหม่ คือ การออกพระราชบัญญัติพืชกระท่อมและกัญชา โดยให้เรื่องของการควบคุมที่อาจอ่อนกว่ายาเสพติดให้โทษ เน้นส่งเสริมและสนับสนุนให้นำพืชกระท่อม กัญชา รวมถึงกัญชงมาใช้ในเรื่องของสุขภาพ ศึกษา วิจัย และใช้ในเชิงวัฒนธรรม รวมถึงมาตรการป้องกัน ลดอันตรายกระท่อม กัญชา กัญชงที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้และบุคคลอื่น รวมถึงการใช้ในทางที่ผิดต่างๆ ด้วย
สอดคล้องกับ ผศ.ภก.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (มสพ.) กล่าวถึงกระท่อมและกัญชา ทางฝั่งวิชาการที่ทำอยู่พยายามขับเคลื่อนสังคมให้รู้ และเข้าใจ รวมถึงให้มีการแก้ไขกฎหมายเชิญกระท่อมและกัญชาออกมาจากโซ่ตรวนที่มีโทษทางอาญา กลับมาสู่มิติทางสุขภาพ ใช้ด้านการแพทย์ เราจึงเสนอให้แยกกระท่อมและกัญชาออกมาเป็นกฎหมายเฉพาะ เป็นอิสระ ให้เป็นพืชยา หาใช่ยาเสพติดไม่