สพฉ. เปิดสถิติ 10 อันดับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินในเด็ก
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ รวบรวมสถิติข้อมูลเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุเด็กอายุระหว่าง 1 -15 ปี ตลอดปี 2559 พบ มีเด็กเจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งสิ้น 156,525 คน เป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินเกี่ยวกับกุมารเวชกรรมมากสุด 56,101 คน อันดับ 2 คือ อุบัติเหตุยานยนต์ 36,203 คน อันดับ 3 พลัดตกหกล้ม 15,245 คน
ในสัปดาห์ที่สอง ของเดือนมกราคมทุก ๆ ปี ถูกจัดให้เป็นวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองสร้างความสนุกสนานให้กับเด็กๆ แต่หลายๆ ครั้งก็ทำให้เด็ก ต้องประสบกับภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จึงได้รวบรวมสถิติข้อมูลเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ ของเด็กๆ อายุระหว่าง 1 -15 ปี ตลอดปี พ.ศ. 2559 พบว่า มีเด็ก เจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งสิ้น 156,525 คน เป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินเกี่ยวกับกุมารเวชกรรม มากที่สุด คือ 56,101 คน อันดับ 2 คือ อุบัติเหตุยานยนต์ 36,203 คน อันดับ 3 พลัดตกหกล้ม 15,245 คน
อันดับ 4 ปวดท้อง ปวดหลัง เชิงกราน ขาหนีบ 14,113 คน อันดับ 5 ป่วย อ่อนเพลีย อัมพาตเรื้อรัง 12,659 อันดับ 6 หัวใจหยุดเต้น 5,642 คน อันดับ 7 สัตว์กัด 3,141คน อันดับ 8 ชัก 2,617 คน อันดับ 9 ปวดศีรษะ ภาวะผิดปกติทางตา หู คอ จมูก 1,599 คน และ อันดับ 10 แพ้ยา แพ้อาหาร 1,579 คน
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า จากสถิติดังกล่าว จะพบว่าเรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ อุบัติเหตุเกี่ยวกับยานยนต์ และการพลัดตกหกล้ม เพราะเมื่อประสบอุบัติเหตุแนวโน้มในการเสียชีวิตจะมีมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะร่างกายของเด็กยังอ่อนแอและบอบบาง ดังนั้นทางที่ดีผู้ปกครองควรระมัดระวังให้ดี
"หากผู้ปกครองจะพาบุตรหลานออกนอกบ้าน ควรดูแลเรื่องความปลอดภัย คือ หากเด็กนั่งรถยนต์ควรให้เด็กนั่งที่เบาะหลังและคาดเข็มขัดนิรภัย หรือเด็กเล็กควรนั่งคาร์ซีท จะช่วยลดความรุนแรงหากเกิดอุบัติเหตุได้" นพ.อนุชา กล่าว และว่า ส่วนเด็กที่นั่งรถจักรยานยนต์ ให้เด็กสวมหมวกนิรภัยขนาดที่เหมาะสมกับเด็ก เพื่อป้องกันไม่ให้ศีรษะได้รับการกระแทก เพราะสิ่งที่น่ากังวลสำหรับเด็กที่ได้รับอุบัติเหตุคือการกระทบกระเทือนทางศีรษะ เพราะเด็กอาจเสียชีวิตได้โดยง่าย
ส่วนการพาบุตรหลานไปเล่นตามเครื่องเล่นต่างๆ หรือตามสนามเด็กเล่น ควรดูแลการพลัดตกหกล้มให้ดี ก่อนอื่นต้องดูที่ความแข็งแรงของเครื่องเล่น ไม่ชำรุดเสียหาย อุปกรณ์ทุกชิ้นต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน มีความแข็งแรง และถ้าเครื่องเล่นที่มีความสูง ต้องมีราวกันตกหรือผนังกันตก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการตก และก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรง
แต่ทั้งนี้เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บ เช่น หัวกระแทกโดยตกจากที่สูง มากกว่าความสูงของเด็ก หรือกระแทกกับพื้นที่มีความแข็ง ผู้ปกครองควรสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด หากมีอาการสลบ ไม่รู้สึกตัว ชัก ปวดศีรษะหรืออาเจียนมาก ก็ควรรีบไปพบแพทย์ หรือโทรแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1669 แต่หากเด็กประสบอุบัติเหตุรุนแรงก็ไม่ควรเคลื่อนย้าย เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น ควรรอทีมผู้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินที่เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือ
“ไม่ว่าจะวันเด็กปีไหน ๆ เราก็อยากเห็นเด็กๆ ทุกคนได้ร่วมเฉลิมฉลองวันแห่งความสุขมากกว่าการที่จะต้องมาเจ็บป่วย ดังนั้นผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด และสิ่งสำคัญต้องคอยสอนให้เด็กๆ สามารถดูแลตนเองได้เมื่อต้องพบเจอกับการเจ็บป่วยฉุกเฉิน และจดจำสายด่วน 1669 เรียกใช้ทันทีเมื่อพบเหตุบาดเจ็บป่วยฉุกเฉิน” นพ.อนุชากล่าว