เจ้าของสวนละไม ชี้ 'ล้งจีน' เหมาสวนทุเรียน ให้ราคาดี เชื่อเกษตรกรดีใจไม่เกิน 3 ปี
ผู้ประกอบการ SMEs ภาคการเกษตร ในโครงการ 1 ตำบล 1 SME เกษตร ห่วงชาวสวนทุเรียน หลังพบ “ล้งจีน” กว้านซื้อทุเรียน -ผลไม้อีกหลายชนิด แบบยกสวน ชี้วันนี้ให้ราคาดี แต่อนาคตหวั่นผูกขาดตลาดผลไม้ ฮั้วกันทุ่มตลาด กดราคารับซื้อในที่สุด
นายไพโรจน์ ปิติพันธรัตน์ เจ้าของสวนละไม อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ผู้ประกอบการ SMEs ภาคการเกษตร ในโครงการ 1 ตำบล 1 SME เกษตร ที่สนับสนุนโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อย (บสย.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงกรณีที่พ่อค้าชาวจีนเข้ามาตั้งโรงคัดบรรจุผลไม้ หรือที่เรียกกันว่า “ล้งจีน” ทำสัญญารับซื้อทุเรียน และผลไม้อีกหลายชนิด แบบเหมาสวนจากเกษตรกรล่วงหน้า โดยให้ราคาดี พร้อมกับเงินมัดว่า ขณะนี้ล้งจีนแพร่ระบาดที่จังหวัดจันทบุรี และระยองเริ่มเข้ามาแล้ว เชื่อว่า ภาพรวมเกษตรกรไทยจะดีใจไม่เกิน 3 ปี เนื่องจากการซื้อยกสวน ลูกขนาดเล็กใหญ่ไม่เกี่ยงโดยตีราคาให้ 100 บาทเท่ากันหมด หากทำแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ และมีการผูกขาดตลาดผลไม้เมืองไทย และในที่สุดล้งจีนก็จะกดราคาลง ฮั้วกันทุ่มตลาด
“เกษตรกรไทยปลูกเก่ง แต่ค้าขายไม่เก่ง ทำตลาดไม่เป็น ดังนั้นอยากให้สวนผลไม้ เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ผลิตเองขายเอง ทำให้ครบวงจร ส่วนตลาดส่งออกก็รวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ หรือชมรม เป็นต้น” เจ้าของสวนละไม กล่าว พร้อมแสดงความเป็นห่วงอนาคตเกษตรกรชาวสวน โดยเห็นว่า ผลไม้แตกต่างจากธุรกิจก่อสร้าง ทุเรียนวางไว้ 3 วันก็สุก เละ เสียหาย หากเกษตรกรไม่คิดอนาคตจะลำบาก ถูกล้งชาวจีนผูกขาดตลาด ฉะนั้น การทำตลาดแบบตอบสนองนักท่องเที่ยว เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนเต็มตัวกว่านี้ และมีการเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างระยอง จันทบุรี ตราด เชื่อว่า ปริมาณผลไม้ผลิตเท่าไหร่ก็ไม่พอจำหน่าย เพราะผลไม้เมืองไทยอร่อยที่สุดในโลก มีการปรับปรุงพันธุ์ทำสวนในเชิงใหม่
นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า การที่ล้งจีนกว้านซื้อผลไม้ยกสวน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสวนละไม เพราะมีการสร้างเครือข่ายเกษตรกร ผ่านการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อยชาวสวนทุเรียน และผลไม้ชนิดอื่นๆ ในพื้นที่อำเภอต่างๆ ของจังหวัดระยองจำนวน 53 ราย มารวบรวมและแปรรูปสินค้า โดยสวนละไมจะรับซื้อทุเรียนและผลไม้จากเกษตรกรในพื้นที่ผ่านผู้รวบรวมหลัก 4 ราย ในปริมาณ 170 ตัน ต่อฤดูกาล มูลค่ารวม 11 ล้านบาท รองรับนักท่องเที่ยวกว่า 6 หมื่นคนต่อปี โดยเฉพาะช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้ สวนละไมก่อให้เกิดการจ้างงานแรงงานในพื้นที่ กระจายรายได้สู่ชุมชน
"ปีนี้ ทุเรียนมีราคาแพงสุดในรอบ 5ปี ผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ทำให้ติดลูกน้อย ผลผลิตหายไป 20-25% และเชื่อว่าราคาทุเรียนจะแพงแบบนี้ไปอีกไม่ต่ำกว่า 3 ปี ในอนาคตชาวสวนจำเป็นต้องเตรียมการเรื่องแหล่งน้ำด้วย"