อดีตสปช.หวั่นเขื่อนแม่วงก์เข้าข่าย70โครงการรัฐได้ประโยชน์จากคำสั่งคสช.9/2559
อดีตสปช.หวั่นเขื่อนแม่วงก์เข้าข่ายโครงการตามคำสั่งคสช.ที่9/2559 อนุโลมดำเนินโครงการได้ก่อนผลการศึกษาอีไอเอออก
ภายหลังจากมีคำสั่งคสช.ที่ 9/2559 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2559 โดยให้อำนาจส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งรับผิดชอบโครงการหรือกิจการที่อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาอีไอเอสามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินโครงการไปพลางก่อนได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดําเนินการ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้นั้นไม่ได้นั้น
จากกรณีดังกล่าวส่งผลให้ภาคประชาชนมีความกังวลว่าจะสร้างผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสร้างความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนมากขึ้น
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ปัญหาหลักของการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอนั้น มีปัญหาอยู่ที่ความล่าช้า และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นหลักธรรมาภิบาล ในการที่ภาครัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมาบางโครงการไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งจากคำสั่งคสช.ที่ 9/2559 ที่ประกาศใช้ม.44เข้ามาอนุมัติดำเนินโครงการที่รอผลการพิจารณาจากอีไอเอไปก่อนได้นั้นเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยังไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด เนื่องจากคำสั่งได้กล่าวปลดล็อคเฉพาะในส่วนของความล่าช้าแต่ไม่ได้แก้ไขในเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งความจริงควรจะต้องทำควบคู่กันไปด้วย
อดีตสปช. กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมานั้นทางสปช.ได้เคยเสนอให้รัฐบาลยกเครื่องและปฏิรูปเรื่องอีไอเอทั้งในส่วนการแก้ไขปัญหาความล่าช้าให้มีกรอบระยะเวลาในการศึกษาให้ชัดเจน และกรณีหลักธรรมาภิบาลในการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน แม้คำสั่งของคสช.ที่นำมาประกาศใช้นั้นจะแก้ปัญหาให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินโครงการ แต่ก็ค่อนข้างเอียงไปให้กับเอกชนที่จะเข้ามารับงาน ซึ่งภายใต้กระบวนการคิดดังกล่าวเท่ากับทำให้เอกชนดำเนินงานไปพร้อมกับการรอผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการรับโครงการ ออกแบบ คำนวณต้นทุนและตัดสินใจดำเนินโครงการ ซึ่งหากว่าอีไอเอออกมาในรูปแบบที่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมาก ต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูป ที่ตั้ง และใช้ต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น ถามว่าเอกชนจะยอมเปลี่ยนหรือไม่ หากไม่ยอมเปลี่ยน ก็เท่ากับการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่มีความสำคัญ โครงการผ่านได้โดยผลการศึกษาไม่ได้นำมาถูกใช้งานจริง
“หรือหากอีไอเอออกมาคู่กันเห็นจริงว่าโครงการมีผลกระทบมากและต้องยกเลิก ไม่ควรมีการสร้าง เอกชนจะมีปัญหาหรือไม่ นี่คือสิ่งที่น่ากังวลจากการประกาศใช้คำสั่ง”
เมื่อถามว่าใน 70 โครงการดังกล่าว หลายคนหวั่นว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์อาจจะกลับมาอีกครั้ง ดร.บัณฑูร กล่าวว่า ก็จะต้องไปดูว่าเขื่อนแม่วงก์อยู่ในส่วนไหน 70 โครงการมีเรื่องชลประทานหรือไม่ ซึ่งเมื่อมีเรื่องชลประทานก็อาจจะเป็นไปได้ว่าจะอยู่ในโครงการที่ต้องใช้ม.44