พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ :ปีทองของอาชีวะ ควบรวมสถานศึกษาภาครัฐ-เอกชน
“อุตส่าห์ขอความกรุณา คสช.ให้ออกคำสั่งมาตรา 44 ดังนั้นการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน ต้องดีขึ้นไม่มากก็น้อย”
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในการประชุมสัมมนาผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน ถึงนโยบายการบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 8/2559 เรื่องการบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน นั้น ไม่ได้ลงนามกันง่ายๆ
“หากไม่สำคัญจริง ไม่ดีจริง เชื่อว่า จะไม่ออกมา เพราะเรื่องต้องผ่านกระบวนการประชุมหารือระดับกระทรวง นำไปยกร่าง ส่งไปที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และเข้าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนถึงมือนายกรัฐมนตรี สุดท้ายเมื่อทุกคนเห็นพ้องต้องกันถึงสิ่งดีๆ ของการรวมกัน จึงมีคำสั่ง คสช.ออกมา อุตส่าห์ขอความกรุณา คสช.ให้ออกคำสั่งมาตรา 44 ดังนั้นการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน ผมว่า ต้องดีขึ้นไม่มากก็น้อย”
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวถึงสถาบันการศึกษาอาชีวะ ไม่ว่าภาครัฐ หรือเอกชน มีปัญหาร่วมกันอยู่ 3 ข้อ คือ
1. เรื่องค่านิยมเด็กไทย และผู้ปกครองที่มองการเรียนอาชีวะแง่ลบลงไปเรื่อยๆ ทำให้อัตราส่วนเด็กเข้ามาเรียนน้อยเมื่อเทียบกับสายสามัญ
2.ปัญหาการทะเลาะวิวาท
และ 3.การขาดแคลนครู ซึ่งคาดหวังว่า เมื่อรวมกันแล้วจะแบ่งปัน หมุนเวียนครูกันได้
“เราต้อง Rebranding อาชีวศึกษาทั้งของภาครัฐและเอกชน และทำอาชีวะให้เป็นเลิศให้ได้ ซึ่งในพื้นที่ ในจังหวัดเดียวกันต้องพูดคุยกำหนดจะเป็นเลิศด้านไหน”
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวถึงการบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน สิ่งที่สถาบันอาชีวศึกษาภาคเอกชน เสียเปรียบสถาบันอาชีวศึกษาของภาครัฐ คือเรื่องงบประมาณที่จำกัดกว่ารัฐ โดยเฉพาะช่วงนี้ภาครัฐต้องการให้มีการผลิตอาชีวะมากๆ ไม่อั้น 1-2 ปีนี้จึงเป็นปีทองของอาชีวะ
ทั้งนี้ รมว.ศธ. มองว่า สิ่งที่สถาบันอาชีวศึกษาเอกชนเสียเปรียบ คือ ไม่มีทุนการศึกษาให้เด็กๆ ต้องให้เด็กกู้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แตกต่างจากสถาบันอาชีวศึกษาภาครัฐมีทุนให้เปล่า ดังนั้นนี่คืออีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ไม่มีแรงดึงดูดให้คนเข้ามาเรียน
ส่วนคุณภาพการศึกษาทราบว่าขณะนี้อาชีวศึกษาเอกชน ประมาณกว่า 100 แห่ง ไม่ผ่านการประเมิน จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) อาชีวศึกษาภาคเอกชนมีบ้างที่เสียเปรียบภาครัฐ และก็มีที่ภาครัฐตามไม่ทันอาชีวะเอกชนก็มี ดังนั้นช่วงนี้ถือเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านของการรวมกันเป็นเนื้อเดียว
“ธงของผม ทำอย่างไรให้สถาบันอาชีวศึกษาเอกชนแข็งแรง จะวางกี่เฟส ถ้าจะใช้เงินก็ขอมา แต่รัฐบาลชุดนี้การใช้เงินต้องมีเหตุมีผลจริงๆ ซึ่งก็ไม่ได้ปิดกั้น โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา”