ชักดาบเงินกู้ กยศ.ปธ.บัณฑิตไทยไม่โกงชี้อย่าโทษระบบ
ประธานทปอ.เชื่อนศ.ไม่มีเจตนาเบี้ยวคืนหนี้ โทษระบบการกู้ยืม-ชำระคืน ไม่ชัด ด้านประธานโครงการบัณฑิตไทยไม่โกง เห็นต่าง ชี้มีจิตสำนึก-รับผิดชอบระบบแย่ ใช่ปัญหา
ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรากรณีนักเรียนและนักศึกษาที่กู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หลังจากสำเร็จการศึกษาไปแล้ว เมื่อครบกำหนดก็ไม่ชำระหนี้ หรือเบี้ยวหนี้จำนวนมากถึง 50% ว่า โดยส่วนตัวไม่คิดว่า เด็กจะไม่มีเงินจ่าย รวมทั้งไม่คิดว่า เด็กจะตั้งใจโกงอะไร เพราะการชำระคืนแต่ละครั้งจำนวนเงินไม่เยอะแค่ 200-300 บาท
"ผมมองว่า ไม่ได้เป็นวัฒนธรรมการโกงอะไร ปัญหาจริงๆ อยู่ที่ระบบ ถ้าจะแก้กันจริงๆ ต้องดูที่ระบบของการกู้ยืม ดูระบบของการคืนเงินของกยศ.ว่า มีความเป็นระบบมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งวิธีการชำระคืนทำอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องแจ้งเด็กตั้งแต่ขั้นตอนของการกู้ ถ้าระบบชัดเจนจริงๆ เงินแค่นี้ คิดว่าไม่มีใครที่จะไม่คืนเพราะจำนวนเงินที่ต้องชำระคืนในแต่ละครั้งนับว่า น้อยมาก"
ส่วนกรณีที่ กยศ.พยายามฟ้องร้องนักศึกษาที่ไม่ชำระเงินคืนเพื่อให้คืนเงิน บางทีตามได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะมีการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลที่อยู่นั้น ประธานทปอ. กล่าวว่า เนื่องจากกยศ.มีข้อมูลไม่ครบเหมือนในระบบทะเบียนราษฎร์ ซึ่งความจริงแล้วน่าจะให้องค์กรที่มีข้อมูลในระบบที่ชัดเจนดูแลเรื่องการชำระเงินคืน อาจจะให้ "กรมสรรพากร" มาดูแลในส่วนนี้แทน
"ถ้าแก้ระบบดีๆ เชื่อว่า อย่างไรเสียเด็กก็ชำระคืน แต่ขณะนี้เด็กไม่รู้ว่าชำระคืนต้องทำอย่างไรไปติดต่อที่ไหนได้บ้าง” ประธานทปอ.กล่าว
ขณะที่ผศ.ทพ.บัณฑิต จิรจริยเวช ประธานโครงการบัณฑิตไทยไม่โกง และรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและกิจกรรมพิเศษ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีนี้เช่นกัน โดยแยกมองความรับผิดชอบในหลายภาคส่วน หลังจากจบไปกองทุนให้โอกาสนักศึกษาในการชำระคืน ถ้าจิตสำนึก คือ ไม่คืน รุ่นน้องๆ ก็จะไม่มีโอกาสต่อ ส่วนปัญหาเรื่องการคืนหรือไม่คืนต้องไปดูระบบอีกที
ปธ.โครงการบัณฑิตไทยไม่โกง กล่าวถึงเรื่องความรับผิดชอบของการชำระเงินคืนว่า ระบบต้องช่วยกันมอนิเตอร์เรื่องความรับผิดชอบ ถ้าทุกคนมีความรับผิดชอบในตัวเอง ไม่ว่าจะมีเหตุผลอย่างไรก็ต้องชำระคืน ทุกคนไม่ต้องรอระบบ ความรับผิดชอบต้องเริ่มต้นที่ตัวบัณฑิตที่จบไป เพราะสังคมคงไม่มองคนที่เบี้ยวหนี้เป็นฮีโร่
“ดังนั้นเราต้องสร้างความรับผิดชอบและจิตสำนึกให้เกิดขึ้นกับตัวเองก่อนให้ได้ ะบบการจัดการทุกอย่างคนเป็นคนจัดการ ถ้ามีจิตสำนึกที่ดีคงไม่จัดการให้มันแย่ แต่ถ้าทุกคนเพิกเฉยจะปล่อยให้การจัดการระบบมันแย่ สุดท้ายแล้วจริงๆก็ไม่ใช่” ผศ.ทพ.บัณฑิต กล่าว
ทั้งนี้ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและกิจกรรมพิเศษ ม.มหิดล กล่าวด้วยว่า คนในสังคมต้องช่วยกันแก้ไข ต้องไม่ยอมรับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ความจริงกับสิ่งที่ไม่จริงต้องแสดงให้ได้ต้องแยกให้ออก ครอบครัวต้องสอนและปลูกฝั่งจิตสำนึกให้ลูก เรื่องง่ายๆ เช่น การแซงคิว แล้วเด็กจะซึมซับเอง
"ทปอ.เองก็มีหน้าที่ที่จะผลิตบัณฑิตไทยให้มีความรับผิดชอบและจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม ซึ่งโครงการบัณฑิตไทยไม่โกงจะเป็นตัวช่วยหนึ่งที่จะคอยเตือนให้เขารู้ว่า หน้าที่ของเราคืออะไร ถ้าเราไม่เริ่มทำอะไรเลยเท่ากับเราไม่ยอมช่วยเหลือสังคม"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
วัฒนธรรมชักดาบเงินกู้กยศ. สะเทือนแรง!! คุณธรรมความรับผิดชอบเด็กไทย
มจธ.เดินหน้า 'บัณฑิตไทยไม่โกง' ปลูกฝังค่านิยมไม่รับคนทุจริต
ทปอ.ผนึกกำลังนศ. 27 สถาบันลงนาม “บัณฑิตไทยไม่โกง" ต้านทุจริตทุกรูปแบบ