“สุรินทร์” นั่งประธาน ส.ออกแบบอนาคตไทย เตรียมร่างพิมพ์เขียวประเทศ
มูลนิธิควง อภัยวงศ์ ตั้งสถาบันออกแบบอนาคตไทย ดึง “สุรินทร์” นั่งเก้าอี้ประธาน ร่างพิมพ์เขียวอนาคตประเทศ เน้นศก.-การศึกษา-ธรรมาภิบาล แจงไม่ขอเงินเดือน พร้อมร่วมกับทุกองค์กร
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ มูลนิธิควง อภัยวงศ์ แถลงข่าวเปิดตัว โครงการพิมพ์เขียวประเทศไทย (Thailand Blueprint Initiative) และ สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย (Future innovative Thailand : FIT) ซึ่งมี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เป็นประธานสถาบันเพื่อออกแบบอนาคตประเทศไทย ณ ชั้น 34 อาคารอินเตอร์เชนจ์ทาวเวอร์ อโศก
ภายในงานมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรรมการมูลนิธิฯ ร่วมด้วย ดร.สังศีต พิริยะรังสรรค์ ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี คุณหญิงสุพัตรา มาศดิกถ์ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประเด็นต่างๆ ร่วมระดมความเห็น วิเคราะห์ และเสวนาเพื่อเป็นกรอบการพัฒนาพิมพ์เขียวประเทศไทย โดยมุ่งเน้น 3 มิติสำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจ การศึกษาและธรรมาภิบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บทสรุปเบื้องต้นในการระดมความเห็นในมิติด้านเศรษฐกิจยั่งยืน มองเห็นความเหลื่อมล้ำ จึงมีแนวคิดปรับนโยบายภาษี เช่น ภาษีที่ดิน มีมาตรการเชิงนโยบายที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ในการลดความเหลื่อมล้ำ เช่น การเปิดเผยการถือครองที่ดิน จัดโซนนิ่งที่ดินภาคการเกษตรและภาคอื่นๆ และความเหลื่อมล้ำในแง่ที่เพิ่มรายได้ของคน เอาเงินจากคนรวยบางส่วนมาเพิ่มรายได้ให้คนจน เพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจ ทั้งสร้างเทคโนโลยี เพิ่มทักษะแรงงานและสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง เพื่อการลงทุนที่ยั่งยืนในอนาคต
ในมิติด้านการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ เป้าหมายที่อยากจะเห็นในปี 2020 ได้แก่ 1.โอกาสด้านการศึกษาครบ 100% เริ่มตั้งแต่ 2 ขวบถึงระบบการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ มีทักษะชีวิต วินัยและศีลธรรมอันดีที่จะเป็นบุคลากรของชาติ มีหลายลู่วิ่งในการศึกษา และ 0% ในการหลุดออกนอกระบบ 2.คุณภาพการศึกษาได้รับการยอมรับในสากล 3.มีบุคลากรที่มีคุณภาพ ฝึกฝนการศึกษาเพื่อสนองความต้องการทางเศรษฐกิจ
ในมิติด้านธรรมาภิบาล บริบทคอรัปชั่นในไทยแตกต่างจากประเทศอื่นๆ จึงต้องเจาะลึกในด้านต่างๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง สินบนในภาคราชการ และหาสาเหตุของคอร์รัปชั่นรวมถึงแนวทางแก้ไข สื่อถึงประชาชนด้วยตัวชี้วัดที่ชัดเจนให้เกิดการตื่นตัวและร่วมกันแก้ไข
จากนั้นนายอภิสิทธิ์ ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ “ภาพรวมการพัฒนาและอนาคตประเทศไทย : ทางเลือกที่เราออกแบบร่วมกันได้ (Thailand Outlook and Thailand 2020)” ตอนหนึ่งว่า 30 ปีที่ผ่านมา รายได้ต่อหัวจากค่าครองชีพ เพิ่มขึ้น 8 เท่า เหมือนจะยกระดับความเป็นอยู่ได้ แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลกกลับต่ำกว่า เช่นเดียวกับกระบวนการพัฒนาและความก้าวหน้าของประเทศกำลังก้าวตามหลังประเทศอื่นเรื่อยๆ 10 ปีที่ผ่านมา รายได้เฉลี่ยของคนที่รวยที่สุดเพิ่มขึ้นมาก แต่คนที่จนที่สุดไม่ขยับขึ้นเลย สะท้อนชัดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงศักยภาพทางการแข่งขัน โดยเฉพาะภาคเกษตรว่าไทยใช้พื้นที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว แต่สร้างรายได้ลดลงเหลือเพียง 10% จาก 30% ที่เคยทำได้ เท่ากับว่าใช้ทรัพยากรมาก แต่สร้างรายได้ไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็น ในทางสังคม การใช้จ่ายทางการศึกษาของไทยลงทุนต่อหัวสูงกว่าประเทศอื่นๆ แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา วัดโดยปิซ่าไทยอยู่อันดับที่ 49 ขณะที่สิงคโปร์อยู่ที่ 4 ของโลก เช่นเดียวกับการลงทุนด้านสุขภาพ
“ทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และธรรมาภิบาล โดยเฉพาะเรื่องคอร์รัปชั่น ชี้ชัดว่าเราจำเป็นต้องแก้ไข ต้องเลือกอนาคตที่ไม่เป็นแบบเดิม มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ระบบและวิธีคิดของทุกฝ่ายในสังคม ทั้งภาคการเมือง ภาควิชาการและภาคประชาชน โดยตั้งเป้าหมายที่ชัด ทั้ง 3 เรื่อง ให้เป็นเสาหลักในการสร้างอนาคตของประเทศ และมุ่งหวังจะเห็นสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทยเป็นองค์กรที่อิสระทางความคิดและการตัดสินใจ เน้นผลลัพธ์จากข้อเสนอไปสู่การปฏิบัติและผลักดันนโยบายอย่างแท้จริง
ขณะที่ดร.สุรินทร์ กล่าวถึงโครงการพิมพ์เขียวประเทศไทยและการเกิดขึ้นของสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทยว่า ตนออกไปทำงานต่างประเทศมา 5 ปี ในฐานะผู้กุมบังเหียนการสร้างประชาคมอาเซียน แต่เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย บทสรุปที่ชัดเจน คือ คนไทยยังขาดภาพที่ชัดเจน ที่ตัวเองมีส่วนร่วมกำหนด เป็นเจ้าของและนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งสำคัญ ผมมองอย่างเต็มไปด้วยความเป็นห่วง แต่ก็ยังมีความหวัง
“กระแสการสร้างวิสัยทัศน์เพื่อพัฒนาประเทศ หลายประเทศเพื่อนบ้านเราเดินหน้าไปไกลแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่จำเป็นและต้องรีบเร่งที่สุด คือ สร้างความตระหนักรู้ให้คนไทย สถาบันนี้ทำแยกส่วนจากการเมืองของพรรค ทำอย่างมีเหตุผล มีข้อมูล มีกรอบความคิดที่ชัดเจน แล้วกลั่นออกมาเป็นนโยบาย ที่นำไปสู่การทดลองในห้องทดลอง นั่นคือ ชนบท หมู่บ้าน โดยจะมีการเข้าค่ายนโยบาย ในระหว่างวันที 18-21 มีนาคม 2556 ที่มีประชาชนมีส่วนร่วมในการคิดและปฏิบัติอย่างกว้างขวาง คล้ายๆ ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่เพิ่มให้ประชาชนมีส่วนในการตั้งประเด็นชี้ปัญหา หาทางออก ออกแบบ ทดลองและนำไปสู่การปฏิบัติ”
ดร.สุรินทร์ กล่าวต่อว่า หลายประเทศเดินหน้าไปก่อนแล้ว ขณะที่ไทยมีปัญหาทั้งภายนอกและภายในประเทศรุมเร้าอยู่ สังคมคนสูงอายุเพิ่มมากขึ้น แรงงานลดลง ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ความไม่ต่อเนื่องทางการเมืองและปัญหาคอร์รัปชั่นซึ่งส่งผลต่อการภาคลงทุน จึงต้องสปีดมากขึ้น โดยเริ่มต้น ต้องทำให้สังคมไทยรู้ว่าขณะนี้เป็นภาวะวิกฤต ร่วมกันตั้งคำถามหนักๆ ใช้ความรู้ ข้อมูลและตัวเลขมาใช้ และคิดอย่างเป็นระบบเชื่อมโยงกัน คาดหวังกระบวนการนี้เกิดขึ้นทุกปี และใช้เวลา 3 ปี จะเกิดพิมพ์เขียวออกมา ในระยะเวลานี้จะมีโครงการที่ต่อเนื่องไปสู่การปฏิบัติ เช่น กับ อปท. รัฐบาลหรือภาคเอกชน แต่จะต้องมีการประเมินทุกปีและมีการขยายผลต่อเนื่อง
“หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของประชาชน คือ ตอบคำถามและตั้งคำถามกับตนเองและรัฐบาลว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้เพื่อประเทศไทยแล้วหรือไม่ ต้องร่วมกำหนดเองและเป็นเจ้าของ ถึงจะเป็นประชาธิปไตยที่ร่วมกันไตร่ตรองทุกขั้นตอน ใครที่เสนอตัวขึ้นมาเป็นผู้นำต้องตอบคำถามกับกระบวนการนี้ให้ได้”
ดร.สุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ผมมาโดยไม่ได้ขอเงินเดือน ใครชวนมาทำเรื่องนี้ผมก็ไปทั้งนั้น ผมพร้อมที่จะไปร่วมกับทุกองค์กร หน่วยงานหรือสถาบันใดก็ตามที่จะทำเรื่องนี้ขึ้น ไม่ใช่เฉพาะคุณอภิสิทธิ์ ชวนมาทำ และเท่าที่ทราบมีอีกหลายองค์กร ที่มีความคิดและกำลังจัดทำตามแนวคิดนี้อย่างแพร่หลาย เพื่อให้เกิดภาพการเมืองแบบใหม่ ที่ใครก็ตามที่คิดเรื่องเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องไปเสนอรัฐบาล ของดีไมจำเป็นต้องเป็นของใคร หากเป็นของดีต้องรีบเร่งกันไปปฏิบัติ
“หวังว่าทุกคนจะถึงซึ่งปัญญาว่าจะต้องนำไปปฏิบัติเอง ให้เป็นเรื่องที่เหนือการเมืองและนอกการเมือง’