- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- สาธารณสุขและสุขภาพ
- อสส.ฟ้อง ‘ฟิลลิป มอร์ริส’ ศาลนัดพร้อม25เม.ย.-ผิดจริงปรับ 8 หมื่นล.
อสส.ฟ้อง ‘ฟิลลิป มอร์ริส’ ศาลนัดพร้อม25เม.ย.-ผิดจริงปรับ 8 หมื่นล.
พนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ยื่นฟ้อง บ.ฟิลลิป มอร์ริส กับชาวไทย 7 คน ฐานเลี่ยงภาษีบุหรี่ พบกระทำผิดมีโทษปรับสูง 8 หมื่นล้านบาท ศาลอาญานัดพร้อม 25 เม.ย.59 จำเลยทุกคนเเถลงพร้อมสู้คดี
วันที่ 19 มกราคม 2559 สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) แถลงข่าวคดี ‘ฟิลลิป มอร์ริส เลี่ยงภาษี’ โดยมีเรือโทสมนึก เสียงก้อง อธิบดีอัยการ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด, นายชาติพงษ์ จีระพันธุ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ และนายประยุทธ์ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมแถลง ณ ห้องประชุม 303 สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ
เรือโทสมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559 เวลา 10.00 น. พนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นิติบุคคล ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด โดยนายทรอย เจ ม้อดลิน (MR.TROY J MODLIN) กับพวกรวม 8 คนเป็นจำเลยต่อศาลอาญา ฐานความผิด ร่วมกันเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร โดยเจตนาที่จะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27,115 จัตวา พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2490 มาตรา 3 พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2543 มาตรา 10 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 อันมีอัตราโทษตามกฎหมายศุลกากรให้ปรับเป็นเงิน 4 เท่าราคาของรวมค่าอากรหรือจำคุกไม่เกินสิบปีหรือทั้งปรับทั้งจำ
โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงคำฟ้องสรุปว่า นิติบุคคลดังกล่าวกับพวกได้ร่วมกันนำเข้าในราชอาณาจักรไทยและสำแดงราคาสินค้าประเภทบุหรี่ ยี่ห้อมาร์ลโบโร (Marnboro) และยี่ห้อ แอลแอนด์เอ็ม (L&M) อันเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร เหตุเกิดระหว่าง เดือนกรกฎาคม 2546 ถึงเดือนมิถุนายน 2549 โดยมีความผิดทั้งสิ้น 272 กรรม รวมราคาสินค้า (บุหรี่) บวกราคาอากรที่หลีกเลี่ยงเป็นเงินทั้งสิ้น 20,210,209,582.50 บาท (สองหมื่นสองร้อยสิบล้านสองแสน เก้าพันห้าร้อยแปดสิบสองบาทห้าสิบสตางค์)
อีกทั้งศาลอาญามีคำสั่งประทับรับฟ้องและนัดพร้อม วันที่ 25 เมษายน 2559 เวลา 09.00 น. โดยจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลศาลให้ทราบนัด ส่วนจำเลยที่ 2-8 ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีประกัน จำเลยทุกคนแถลงศาลประสงค์จะต่อสู้คดี แต่จะยื่นคำให้การในคราวหน้า
“คดีนี้ เดิมพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ได้นัดผู้ต้องหาทั้ง 8 คน มาฟ้องคดี ในวันที่ 19 มกราคม 2559 แต่ได้เลื่อนการฟ้องคดีนี้เป็นวันที่ 18 มกราคม 2559 เพราะผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีความพร้อมตรงกัน” เรือโทสมนึก กล่าว
ด้านนายชาติพงษ์ จีระพันธุ์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ต้องหาในคดีมีทั้งสิ้น 14 คน โดยบุคคลที่ถูกฟ้อง เป็นนิติบุคคล 1 คน และชาวไทย 7 คน เป็นพนักงาน ขณะที่ชาวไทยอีก 2 คน มีคนหนึ่งเสียชีวิต และอีกคนหนึ่งคดีหมดอายุความ ส่วนชาวต่างชาติอีก 4 คน ที่หลบหนี มีการออกหมายจับ หากได้ตัวมาก็จะฟ้องตามอายุความ
เมื่อถามว่า มีโอกาสประสานงานส่งผู้ต้องหาชาวต่างชาติผ่านวิธีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน รองอธิบดีอัยการ ระบุว่า การส่งผู้ร้ายข้ามแดนมีหลักเกณฑ์ที่ซับซ้อน และละเอียด ฉะนั้นหากใช้ช่องทางดังกล่าวต้องดำเนินการตรวจสอบความเป็นไปได้อีกครั้ง พร้อมกับยืนยันว่า คำฟ้องกับผู้กระทำผิดมีความเชื่อมโยงกัน แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด เนื่องจากมีผลต่อรูปคดี
ทั้งนี้ หากกระทำผิดจริงตามกฎหมายศุลกากรจะปรับเป็นเงิน 4 เท่า ราคาของรวมค่าอากร ซึ่งไม่ใช่ 6.8 หมื่นล้านบาท ตามที่มีการเผยแพร่ในสื่อมวลชน เพราะขั้นตอนสุดท้ายที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องนั้น มีฐานที่เปลี่ยนแปลงขึ้น ฉะนั้นยอดปรับจะอยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559 บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ออกแถลงการณ์ โดยยืนยันว่าข้อกล่าวหาที่อัยการได้ยื่นฟ้องบริษัทเกี่ยวกับคดีเลี่ยงภาษีศุลกากรนั้นเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง ไม่ยุติธรรม อีกทั้งยังละเมิดต่อพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อองค์การการค้าโลกในการปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากร
ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นผลมาจากการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ดำเนินมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยดีเอสไอได้กล่าวหาว่าบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) ลิมิเต็ด สำแดงราคานำเข้าบุหรี่จากฟิลิปปินส์ต่ำกว่าความเป็นจริงในช่วงระหว่างปี 2546-2550
นายทรอย ม้อดลิน ผู้จัดการสาขาบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) ลิมิเต็ด กล่าวว่า บริษัทไม่ได้กระทำผิดแต่อย่างใด ไม่เพียงแต่ข้อกล่าวหาทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ปราศจากมูลความจริง และเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีของประเทศไทยในการปฏิรูปตามหลักความตกลงว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากรขององค์การการค้าโลก แต่ยังทำให้เกิดการตั้งคำถามกับประเทศไทยในเรื่องหลักการความยุติธรรม ความโปร่งใส และความเคารพหลักนิติธรรม
“การดำเนินคดีนี้ทำลายความพยายามของประเทศไทยในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีประชาคมโลก และความพยายามทำให้ประเทศเป็นตลาดที่เปิดกว้างและเป็นมิตรกับนักลงทุน” ผู้จัดการสาขาบริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ กล่าว
บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทยไทย) ลิมิเต็ด ได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่ดีเอสไอได้เริ่มดำเนินการสอบสวนตั้งแต่ปี 2549 ทั้งนี้ บริษัทยืนยันที่จะต่อสู้กับข้อกล่าวหาที่ปราศจากมูลความจริงนี้อย่างถึงที่สุดและพร้อมที่จะแสดงให้เห็นว่า บริษัทยึดถือปฏิบัติตามหลักกฎหมายไทยและมาตรฐานปฏิบัติสากลในเรื่องว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากรมาโดยตลอด .
อ่านประกอบ:ย้อนไทม์ไลน์ 9 ปี มหากาพย์ ‘คดีฟิลลิป มอร์ริส’ เลี่ยงภาษีบุหรี่
ฟิลลิป มอร์ริส' รายงานตัว อสส.-วอน รบ.ให้ความเป็นธรรม คดีเลี่ยงภาษีบุหรี่
พท.จี้ 'บิ๊กตู่' เร่งคดีฟิลลิปมอร์ริสเลี่ยงภาษี
ผลงานชิ้นโบว์แดง สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทยจี้บิ๊กตู่จัดการบ.บุหรี่นอก เลี่ยงภาษี 6.8 หมื่นล.