- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- นักวิชาการ ค้านขึ้นบัญชี (ไม้) แนบท้าย-บทลงโทษ ในพ.ร.บ.สวนป่าฯ
นักวิชาการ ค้านขึ้นบัญชี (ไม้) แนบท้าย-บทลงโทษ ในพ.ร.บ.สวนป่าฯ
ไม่เห็นด้วย!! ขึ้นบัญชีต้นไม้แนบท้าย ‘พ.ร.บ.สวนป่า’ นักวิชาการ มก. หวั่นกระทบ ปชช. ระบุหากจำเป็น ควรแยกบัญชีไม้หวงห้าม-ไม้นอกบัญชีหวงห้าม เสียดายไม่ตั้งกองทุนสนับสนุนฯ สวนป่าเศรษฐกิจ
ภายหลังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สวนป่า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ออกมายืนยันว่า การนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 2 และ 3 ที่จะถึงนี้ จะไม่มีการนำ ‘ไม้ยางพารา’ ขึ้นบัญชีต้นไม้แนบท้ายของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ เนื่องจากชาวสวนยางพาราออกมาเรียกร้องให้ถอนออก เพราะหวั่นจะสร้างความเดือดร้อนและเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ (อ่านประกอบ:ปลดแล้ว!! ‘ไม้ยางพารา’ ออกจากบัญชีแนบท้าย ร่างพ.ร.บ.สวนป่า)
หากการขึ้นบัญชีต้นไม้แนบท้ายมิใช่จะมีเพียงไม้ยางพาราเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงไม้พันธุ์จากต่างประเทศ ไม้ยูคาลิปตัส และไม้พื้นเมือง เช่น ไม้สะเดา ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน และไม้มะขาม ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่า ไม้พื้นเมืองของไทยเหล่านี้จำเป็นหรือไม่ต้องถูกจัดการจากภาครัฐ
ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองคณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจไม้โตเร็ว เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า คณะวนศาสตร์ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น หัวข้อ เจาะประเด็นรายมาตรา พ.ร.บ.สวนป่า (ฉบับแก้ไข) ตั้งแต่เริ่มต้นนำเสนอร่างกฎหมายผ่านวาระแรก ซึ่งเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นบัญชีต้นไม้แนบท้ายทุกชนิด ไม่เฉพาะไม้พื้นเมืองเท่านั้น เพราะไทยเป็นพื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีต้นไม้หลายพันชนิด ที่สำคัญ ต้องมีชื่อทางพฤษศาสตร์กำกับด้วย ซึ่งวันหนึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้
“กรมป่าไม้ยืนยันจะต้องมีบัญชีต้นไม้แนบท้ายใน พ.ร.บ. ทั้งที่เราไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น ดังนั้นหากต้องมีจริง ๆ จึงขอให้แยกเป็น 2 บัญชี คือ บัญชีที่ 1 กลุ่มไม้หวงห้าม และบัญชีที่ 2 ไม้นอกบัญชีหวงห้าม” นักวิชาการ วนศาสตร์ กล่าว พร้อมแสดงความเป็นห่วงขั้นตอนการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เพราะส่วนใหญ่ไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงในปัจจุบันมักอยู่ในบัญชีที่ 2
นายกสมาคมธุรกิจไม้โตเร็ว กล่าวถึงการส่งออกไม้ แค่ 2 ชนิด คือไม้ยางพารา และไม้ยูคาฯ รวมกว่า 20 ล้านตัน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่าแสนล้านบาท ซึ่งหากมีกระบวนการขึ้นทะเบียน หรือมีขั้นตอนการขออนุญาตที่ยุ่งยาก ล่าช้าจะเป็นอุปสรรคกับผู้ประกอบการไทยได้ในอนาคตได้
ผศ.ดร.นิคม กล่าวถึงการนำข้อคิดเห็นทั้งหมดเสนอในชั้นคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งไม่แน่ใจสุดท้ายผลออกมาเป็นอย่างไร แต่ในฐานะสถาบันทางการศึกษา ยืนยันไม่เห็นด้วยต้องมีบัญชีต้นไม้แนบท้าย แต่สามารถออกเป็นพระราชกฤษฎีกาคราวหลังได้ เพราะอนาคตทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลง แต่หากบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. จะทราบดีว่า การแก้ไขแต่ละครั้งจะใช้เวลานาน
ส่วนการขึ้นบัญชีให้ครอบคลุมไม้พื้นบ้านนั้น นักวิชาการ วนศาสตร์ ระบุว่า คู่ค้าต่างประเทศต้องการสร้างมาตรฐานการรับรองที่มาของไม้ส่งออก ส่งเสริมการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน โดยดูแลตั้งแต่แปลงปลูก ซึ่งมีความจำเป็นและสำคัญอยู่บ้าง แต่ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้ผูกมัดต้องกำหนดใน พ.ร.บ. เสมอไป
“ภาคประชาชนและอุตสาหกรรมกังวลว่า การกำหนดใน พ.ร.บ.เปรียบกับการบังคับให้ทำ อาจสร้างความไม่เชื่อมั่น โดยจากประสบการณ์ในอดีต หากมีการจดทะเบียน เพื่อควบคุมก็มักเสียเปรียบภาครัฐเสมอ ทำให้ขาดความเชื่อมั่นในระบบรัฐและอาจไม่ได้รับความสะดวกเหมือนเดิม” ผศ.ดร.นิคม กล่าว และว่าหากมีการกระทำผิดกฎหมาย ไม่ควรกำหนดความผิดปรับหรือติดคุก เพราะ พ.ร.บ.มีเหตุผลเพื่อส่งเสริม ไม่ใช่การควบคุมลงโทษ ที่สำคัญ ความผิดได้ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายอื่นแล้ว
สุดท้าย กรณีไม่จัดตั้งกองทุนสนับสนุนการปลูกสร้างสวนป่าเศรษฐกิจ นักวิชาการ วนศาสตร์ รู้สึกเสียดายมาก พร้อมยกตัวอย่าง พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... ซึ่งจัดให้กองทุนมาสนับสนุนจากภาษีบาป เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.สวนป่า ย่อมก่อให้เกิดผลต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหากต้องการให้กิจกรรมทำสวนป่าของไทยเจริญทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ จำเป็นต้องส่งเสริมจัดตั้งกองทุนขึ้น
"การปลูกไม้ต้องใช้เวลา 10-20 ปี จำเป็นต้องมีกองทุนมาสนับสนุน มิฉะนั้นกิจการปลูกสวนป่าของไทยคงไม่ดีเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม หากรอเวลาให้จัดตั้งขึ้นภายหลัง พ.ร.บ.ฉบับนี้เกิดขึ้นแล้ว คงไม่เห็นแสงสว่าง" ผศ.ดร.นิคม ทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีตัวแทนชาวสวนยางยื่นหนังสือศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ขอให้นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 สั่งระงับการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ. 2535 ฉบับแก้ไขว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาวาระของ สนช. หากต้องการแก้ไขในประเด็นใดให้เสนอเรื่องไปที่ สนช.โดยตรง ขณะนี้ยังไม่ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย พร้อมกล่าวว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวครอบคลุมเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และผลประโยชน์ของรัฐรวมถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งสองฝ่าย โดยได้ผ่านการพิจารณาวิเคราะห์มาแล้วหลายขั้นตอน .
อ่านประกอบ:นักวิชาการมก. เสนอลดขั้นตอนขอใบอนุญาต หนังสือรับรองตัด-โค่นไม้ ให้ชัดในพ.ร.บ.สวนป่า
ความเห็นผู้ปลูกสวนป่าต่อร่างพ.ร.บ.สวนป่า ฉบับแก้ไข
ภาพประกอบ:www.forest.ku.ac.th