- Home
- South
- คุยกับบรรณาธิการ
- จรวด, เจรจา, ปัญหาใต้ โปรดระวังรบผิดสมรภูมิ!
จรวด, เจรจา, ปัญหาใต้ โปรดระวังรบผิดสมรภูมิ!
แม้ห้วงปลายสัปดาห์ที่แล้วต่อเนื่องถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นค่อนข้างถี่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าหากวัดกันเชิง “ปริมาณ” แล้ว ยอดรวมของเหตุการณ์ก็ลดลงกว่าแต่ก่อนมาก ตามการแถลงยืนยันของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และรัฐบาล
หลายเสียง...โดยเฉพาะกลุ่มหนุนเจรจา...อาจรีบสรุปว่าเป็นผลสำเร็จจากกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รัฐบาลไทยตั้งคณะทำงานไปพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่มในนาม “มารา ปาตานี” โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก
แต่ทว่าหากพิจารณาจากบทวิเคราะห์ของหน่วยงานความมั่นคงที่ไม่ใช่ทหารแล้ว กลับให้น้ำหนักเรื่อง “การพูดคุย” ค่อนข้างน้อย
โดยปัจจัยที่หนุนเสริมให้เหตุรุนแรงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มีอยู่ 3 ปัจจัย คือ
1.รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งถือว่าเป็นรัฐบาลทหาร เข้าใจงานยุทธการเป็นอย่างดี และให้ความสำคัญกับปัญหานี้มากเป็นพิเศษ มีการจัดสายการบังคับบัญชาใหม่อย่างค่อนข้างเป็นเอกภาพ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหลายคน รวมทั้งผู้นำทางทหารลงพื้นที่ถี่ยิบแม้จะไม่เป็นข่าว
2.มาตรการด้านการทหารในการควบคุมพื้นที่ดีขึ้นมาก มีการใช้ทหารพรานซึ่งบรรจุจากคนในพื้นที่เข้ามาร่วมปฏิบัติการ โดยปัจจุบันมีทหารพรานมากถึง 14 กรม กระจายกันอยู่ในทุกอำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 33 อำเภอ แน่นอนว่าการมีกำลังพลตรึงพื้นที่และเกาะติดพื้นที่เป็นจำนวนมาก ย่อมส่งผลเป็นการจำกัดเสรีของฝ่ายตรงข้ามในการก่อเหตุไปโดยปริยาย
3.ด้านการเอาชนะจิตใจประชาชน ทำได้ดีขึ้นตั้งแต่ กอ.รมน.เข้ามามีบทบาทนำอย่างแท้จริงในการแก้ไขปัญหาหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 มีการปรับแผนงานและโครงการพัฒนาของส่วนราชการต่างๆ ให้ตรงตามความต้องการของพี่น้องประชาชนมากกว่าเดิม
นี่คือ 3 ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้สถิติเหตุรุนแรงในภาพรวมลดลง ซึ่งค่อนข้างชัดว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ มีผลต่อสถานการณ์ค่อนข้างน้อย เพราะยังมีความคืบหน้าที่เป็นสาระจริงๆ น้อยมาก ยังอยู่ในช่วงของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเท่านั้น ซึ่งแต่ละฝ่ายก็ดูจะยังไม่ค่อยไว้วางใจกันเสียด้วย มีการชิงไหวชิงพริบ ชิงความได้เปรียบกันตลอดเวลา โดยเฉพาะจากฝั่งของ “มารา ปาตานี”
มีประเด็นที่น่าพิจารณา คือ การที่สถิติเหตุรุนแรงลดลง แม้ด้านหนึ่งจะเป็นเพราะฝ่ายกองกำลังของรัฐสามารถคุมพื้นที่ได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกันก็ต้องตั้งคำถามว่าเป็นเพราะฝ่ายต่อต้านรัฐไม่ได้มุ่งก่อเหตุเป็นภารกิจหลักเหมือนที่ผ่านมาด้วยหรือเปล่า เนื่องจากพวกเขายังมีขีดความสามารถในการก่อเหตุได้ เพียงแต่ยังไม่ได้ลงมือก่อเหตุเท่านั้น
อย่าลืมว่าทันทีที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทลายฐานฝึกซึ่งเชื่อว่าเป็นแหล่งประกอบวัตถุระเบิดแหล่งใหญ่ในป่าโกงกางริมทะเลที่ตันหยงเปาว์ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 10 ก.พ. หลังจากนั้นก็มีเหตุรุนแรงในลักษณะตอบโต้เกิดขึ้นถี่ยิบ ทั้งระเบิดที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส โดยเฉพาะที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เป็นการก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์เชื่อมโยงกับวันเสียชีวิตของ มะรอโซ จันทรวดี เมื่อ 3 ปีก่อนด้วย
มีเหตุยิงเป้าหมายอ่อนแออย่างปลัดอำเภอสะบ้าย้อย เสียชีวิตที่บ้านเกิดใน อ.เทพา จ.สงขลา ระหว่างปั่นจักรยานออกกำลังกาย
ขณะที่ในพื้นที่ อ.หนองจิก เอง นอกจากมีเหตุระเบิดแล้ว ก็ยังมีเหตุเผาโรงเรียน เผายางรถยนต์บนถนนและในปั๊มน้ำมัน ส่วนที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ก็มีเหตุปล้นรถสิบล้อขนข้าวสาร ชิงเงินเกือบ 2 แสนบาท พร้อมเจาะจงสังหารโชเฟอร์คนไทยพุทธ ส่วนคนในรถที่เป็นมุสลิม ปล่อยให้วิ่งหนีโดยไม่ทำร้าย
นี่คือภาพสะท้อนที่เด่นชัดว่า ฝ่ายรัฐยังไม่ได้จัดการปัญหาการก่อเหตุรุนแรงได้อย่างยั่งยืน และฝ่ายต่อต้านรัฐก็ยังมีศักยภาพที่จะก่อเหตุได้ตลอดเวลา
คำถามที่น่าคิดก็คือว่า เหตุใดพวกเขาจึงไม่เร่งก่อเหตุ?
ความเคลื่อนไหวของกลุ่ม “มารา ปาตานี” เป็นจังหวะก้าวการต่อสู้ทางการเมืองที่น่าหยิบมาพิจารณาไม่น้อย เพราะแม้การพูดคุยกับคณะทำงานของรัฐบาลไทยจะไม่คืบหน้า ทว่าการขับเคลื่อนของ “มารา ปาตานี” กลับรุดหน้าไปมาก
ไม่ว่าจะเป็นการชิงจังหวะเข้าพบเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี ระหว่างเดินทางเยือนมาเลเซีย เมื่อสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ม.ค. แล้วมีข่าวยื่นขอสถานะเป็น “ผู้สังเกตการณ์ในโอไอซี” ซึ่งเป็นสถานะเดียวกับรัฐบาลไทย
หรือการเปิดตัวของ “จรวดแสวงเครื่อง” ที่พบในปัตตานีและนราธิวาส ปรากฏว่ากลุ่ม “พูโล เอ็มเคพี” ซึ่งเป็น 1 ใน 6 กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่ประกอบกันเป็น “มารา ปาตานี” ได้ออกมาแอ่นอกรับว่าจรวดแสวงเครื่องเหล่านั้นเป็นของพวกตน และกำลังพัฒนากองทัพให้มีศักยภาพ ลบคำปรามาสว่าพวกเขาเป็นตัวปลอม
ในขณะที่หน่วยงานความมั่นคงไทยพยายามปฏิเสธขีดความสามารถหรืออานุภาพของจรวดแสวงเครื่องว่าเป็นแค่เพียงระเบิดธรรมดาๆ ทว่าในทาง “ปฏิบัติการข่าวสาร” หรือ “ไอโอ” ฝ่ายพูโลหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “มารา ปาตานี” ได้ช่วงชิงความได้เปรียบในการเพิ่มอำนาจต่อรองและการประกาศศักดาว่าพวกเขาคือหนึ่งใน “ตัวจริง” ของกลุ่มเคลื่อนไหวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว
ท่ามกลางการพูดคุยโต๊ะใหญ่อย่างเป็นทางการที่ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เสมือนไม่ให้พื้นที่ข่าวสารความคืบหน้าการเจรจาแก่ฝ่ายรัฐบาลไทย แต่กลับมีข่าวสารความเคลื่อนไหวยกระดับตัวเองของ “มารา ปาตานี” อย่างต่อเนื่อง
และใครที่คิดว่า “มารา ปาตานี” ไม่มีตัวแทนบีอาร์เอ็น อาจต้องคิดใหม่ เพราะบีอาร์เอ็นที่ฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่ามีบทบาทสูงสุดต่อสถานการณ์ชายแดนใต้ตลอดสิบกว่าปีหลังนั้น อาจรอฉวยจังหวะที่ได้เปรียบจากจังหวะก้าวของ “มารา ปาตานี” อยู่ก็เป็นได้
เพราะต้องไม่ลืมว่า มะสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายมารา ปาตานี ก็มีชื่ออยู่ในทำเนียบของบีอาร์เอ็น เช่นเดียวกับ อาวัง ยาบะ ที่นั่งเก้าอี้ประธานมารา ปาตานี ก็คือคนสนิทของ ฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น ที่เปิดโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทยเมื่อปี 2556 ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
28 กุมภาพันธ์นี้ ภาคประชาสังคมในพื้นที่ได้ร่วมกันจัดงานในวาระ 3 ปีพูดคุยดับไฟใต้ มีข่าวว่า อาวัง ยาบะ อาจพูดผ่านคลิปวีดีโอให้ได้รับฟังกันในงานด้วย
นี่ยังไม่นับการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา ปัญญาชน ที่ยังคงเดินสายเปิดเวทีกันตามชุมชน หมู่บ้าน ท่ามกลางเสียงปืนเสียงระเบิดที่เริ่มเบาลง
เป็นไปได้ไหมที่การต่อสู้ของกลุ่มต่อต้านรัฐในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้หายไปไหนหรอก แต่สมรภูมิมันกำลังเคลื่อนจากการก่อเหตุรุนแรงไปยังสมรภูมิการเมืองที่เข้มข้น และยังเป็นการเมืองระหว่างประเทศอันเป็นจุดอ่อนในห้วงหลายสิบปีหลังของไทยที่การเมืองไร้เสถียรภาพ
การยืนยันว่าสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ดีขึ้น เพราะเสียงปืน เสียงระเบิดลดลง ต้องระวังเป็นการต่อสู้ผิดสมรภูมิ!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บทความที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันนี้ ตีพิมพ์ในคอลัมน์แกะรอย ปกโฟกัส หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ด้วย