- Home
- South
- คุยกับบรรณาธิการ
- วิกฤติปัญหาสังคมที่ชายแดนใต้ ผลพวงจากไฟความรุนแรงยืดเยื้อ
วิกฤติปัญหาสังคมที่ชายแดนใต้ ผลพวงจากไฟความรุนแรงยืดเยื้อ
เหตุการณ์ฆ่าหมู่ใน 2 อำเภอ คือ สุคิริน จ.นราธิวาส กับ บันนังสตา จ.ยะลา ในห้วงเวลาห่างกันเพียง 5 วัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 9 ศพ และยังมีเหตุยิงรายวันอื่นๆ อีกหลายเหตุการณ์ รวมแล้ว 5 วัน (7-11 มิ.ย.61) สังเวยไปทั้งสิ้น 12 ศพ ทำให้สังคมหันกลับมาตั้งคำถามว่า นี่ไฟใต้ไม่ได้ใกล้มอดเหมือนที่ฝ่ายความมั่นคงตอกย้ำอยู่บ่อยๆ ใช่หรือไม่?
แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามสรุปเบื้องต้นว่าเหตุรุนแรงบางเหตุการณ์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสร้างสถานการณ์ทางความมั่นคงก็ตาม แต่เป็นความขัดแย้งเรื่องการแย่งชิงทรัพยากร (หาแร่ทองที่สุคิริน) หรือผลประโยชน์เรื่องยาเสพติด (ข้อสันนิษฐานของเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์ฆ่าหมู่ที่บันนังสตา) ทว่าเหตุผลเหล่านี้ก็ไม่ได้ช่วยอธิบายเชิงสนับสนุนว่าสถานการณ์ไฟใต้มันดีขึ้นตรงไหน อย่างไร
หากเราเชื่อทฤษฎีของฝ่ายความมั่นคงที่ว่า การสร้างสถานการณ์ของพวกอ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน เช่น บีอาร์เอ็น กำลังลดระดับลง แต่เหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นระยะหลังกลายเป็นฝีมือของพวกผู้มีอิทธิพล ค้าของเถื่อน ยาเสพติด และเช็คบิลกันเรื่องการเมืองท้องถิ่น ผมกลับคิดว่าสถานการณ์แบบนี้กำลังน่าวิตกยิ่งกว่า เพราะศัตรูของสันติภาพที่กวนสถานการณ์ให้ขุ่น กำลังมี "ผู้เล่น" มากขึ้นกว่ากลุ่มที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนพวกเดิมๆ
จริงๆ จะว่าไป ปัญหายาเสพติด ค้าของเถื่อน หรือผู้มีอิทธิพล ก็เป็นปัญหาเก่าๆ ในพื้นที่นี้อยู่แล้ว บางทฤษฎียังพยายามอธิบายว่าไฟใต้จากพวกอ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนก็ทับซ้อนกับปัญหาฐานรากของอำเภอชายแดนและอาชญากรรมพื้นฐานพวกนี้ด้วยซ้ำ
แต่ต้องไม่ลืมว่า การก่อเหตุได้เกือบจะเสรีของกลุ่มเหล่านี้ เป็นเพราะสถานการณ์ความรุนแรงจากพวกที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนที่ยืดเยื้อยาวนาน และฝ่ายความมั่นคงปิดเกมไม่ได้จริงๆ เสียที จึงเกิดช่องว่างให้พวกใต้ดินสามารถสร้างอาณาจักรแห่งความหวาดกลัว และปฏิบัติการความรุนแรงได้แทบจะตามใจชอบ ไม่เกรงกลัวกฎหมาย เพราะยังมีพวกอ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนเป็นเป้าหมายหลักในมุมมองของรัฐอยู่
การที่กลุ่มใต้ดินใช้ความรุนแรงได้แบบอหังการ์ ย่อมสะท้อนว่าสังคมที่ชายแดนใต้มีปัญหายาเสพติด ธุรกิจผิดกฎหมาย และผู้มีอิทธิพลหนักมาก และปัญหาเหล่านี้ถูกซุกไว้ใต้พรม (แต่มีบทบาทบนพรม) เพราะมีสถานการณ์ที่สร้างโดยกลุ่มอ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนบดบัง แถมเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนเองนั่นแหละก็ได้ผลประโยชน์จากปัญหาพวกนี้ โดยหลบอยู่หลังเงาปัญหาแบ่งแยกดินแดนเช่นกัน
ประเด็นที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ปัญหาไฟใต้ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 14 ปี ก่อความหวาดระแวงให้กับผู้คนต่างศาสนา ความหวาดระแวงระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ และความหวาดระแวงระหว่างประชาชนด้วยกันเอง จนไม่เหลือ "ทุนทางสังคม" ที่มากพอในการจัดการปัญหาให้ลุล่วง ไม่บานปลาย หรือขยายวง อย่างเช่น ปัญหา "ฮิญาบอนุบาลปัตตานี" หรือการขอแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามของนักเรียนมุสลิมโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ซึ่งคุกรุ่น คุมเชิงกันนานร่วมเดือน ท่ามกลางกระแสข่าวลือบ้าง จริงบ้าง ที่สร้างรอยแยกระหว่างคนสองศาสนาให้ถ่างกว้างยิ่งขึ้นไปอีก น่าแปลกที่ป่านนี้หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ยังดับเชื้อไฟไม่ได้เลย
เช่นเดียวกับการรวมตัวของชาวบ้านสุุคิริน จ.นราธิวาส จำนวนหลายพันคน เพื่อแสดงจุดยืนปฏิเสธการตั้ง "หมู่บ้าน" รองรับผู้เข้าร่วมโครงการคนกลับบ้านของกองทัพภาคที่ 4 จนฝ่ายความมั่นคงต้องยอมถอย ล้มเลิกโครงการ นั่นก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนภาพความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ และไม่ได้ให้อภัยกับ "ผู้กลับใจ" ตามที่ฝ่ายความมั่นคงเรียกขาน แม้คนเหล่านั้นจะไม่เคยมีหมายจับในคดีความมั่นคงเลยก็ตาม แต่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมก็ยังตั้งข้อรังเกียจ
หากใครได้ศึกษา "กระบวนการ" ของโครงการพาคนกลับบ้านที่ลอกแนวทางมาจากโครงการ "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย" ที่เคยเปิดป่าต้อนรับคนที่ถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในอดีตให้กลับคืนสู่เมือง และอยู่ร่วมกันได้ภายใต้ธงชาติไทยผืนเดียวกัน จะพบความจริงว่าเมื่อชุมชนยังตั้งข้อรังเกียจ "คนกลับใจ" ก็เท่ากับโครงการพาคนกลับบ้านที่ทำกันมานานนั้น ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะการต้อนรับ "คนกลับบ้าน" หรือ "คนกลับใจ" คือหัวใจที่สำคัญที่สุดของโครงการลักษณะนี้
นี่คือสารพัดปัญหาที่ซ่อนตัวอยู่เงียบๆ ท่ามกลางความรุนแรงที่ดูจะลดระดับลง แต่โจทย์ของการดูแลสังคมหลังความรุนแรงเริ่มผ่านพ้นไป ดูจะยากเสียยิ่งกว่าการลดสถิติระเบิด วางเพลิง และยิงรายวันเสียอีก นี่ยังไม่นับปัญหาแม่เลี้ยงเดี่ยว เด็กกำพร้าจากความรุนแรงที่กำลังจะ "ฝีแตก" ในอีกไม่ช้าไม่นานนี้
ที่น่าเศร้าใจก็คือ งานแบบนี้ดูจะเป็นงานที่กองทัพไม่ถนัดเอาเสียเลย ทั้งยังแทบไม่ได้ตั้งงบประมาณเอาไว้แก้ไขปัญหาสังคมที่กำลังล่มสลาย แม้ว่าจะละลายงบไปแล้วกว่า 3 แสนล้านบาทแล้วก็ตาม!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
5 วัน 12 ศพ! รัฐสั่งคุมเข้มโค้งสุดท้ายรอมฎอน ปัตตานีผวาฆ่าหมู่
ฆ่า5ศพที่บันนังสตา ยิงหมอตำบลสายบุรี สงสัยปมเซฟเฮาส์ปลิดชีพ"แบดุล"
รอง กก.อิสลามปัตตานี ศิษย์เก่า ส.พระปกเกล้า สิ้นใจแล้วหลังถูกลอบยิง
ฆ่าหมู่ 4 ศพนราธิวาส ตำรวจคาดถูกยิงขณะดูดทองที่สุคิริน