- Home
- South
- คุยกับบรรณาธิการ
- แจ้งจับสื่อ-นักสิทธิ์-ประชาสังคม ไม่ได้ช่วยแก้ข้อกล่าวหาซ้อมทรมาน
แจ้งจับสื่อ-นักสิทธิ์-ประชาสังคม ไม่ได้ช่วยแก้ข้อกล่าวหาซ้อมทรมาน
ช่วงนี้ฝ่ายทหารลุยแจ้งความดำเนินคดีสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมที่นำเสนอข่าวและออกมาพูดเรื่องซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างหนัก เหมือนถือเป็นภารกิจหลักนอกเหนือจาก 2,600 ภารกิจที่เคยอ้างว่าต้องปฏิบัติในแต่ละวัน เพราะผ่านมาแค่ไม่ถึง 1 สัปดาห์ แจ้งไปแล้ว 2 คดี
ข้อหาที่แจ้งความก็ตามสูตร คือ หมิ่นประมาททำให้หน่วยทหารเสื่อมเสียชื่อเสียง และนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อหาแรกเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหาหลังเป็นไปตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
เรื่องนี้จะว่าไปก็เป็นสิทธิ์ของฝ่ายทหารที่จะแจ้งความดำเนินคดีกับใครก็ได้ ถอนหรือไม่ถอนแจ้งความก็ได้ หรือสุดท้ายจะยอมความ ไกล่เกลี่ย เกี้ยเซี้ย เหมือนคดีก่อนหน้านี้ก็ได้ทั้งสิ้น เพราะถือเป็นสิทธิ์อันชอบธรรม แต่หากสุดท้ายคดีถึงศาล ก็ขึ้นกับศาลว่าจะพิจารณาอย่างไร
การเป็นสื่อมวลชนหรือเป็นนักวิจารณ์ก็ต้องพร้อมถูกฟ้อง เพราะระยะหลังๆ หน่วยงานรัฐโดยเฉพาะกองทัพเขาก็ลุยฟ้องแทบทุกกรณี จนต้องมีการตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายเตรียมไว้ขึ้นโรงพัก
แต่ประเด็นที่อยากทำความเข้าใจก็คือ ถึงจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดี แต่ข้อกล่าวหาเรื่องซ้อมทรมานนี้ก็ไม่ได้หายไปไหน เพราะคนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะคนในพื้นที่ชายแดนใต้เขาเชื่อมานานแล้วว่ามันมีการซ้อมทรมานอยู่จริง คดีความที่เคยขึ้นสู่ศาลและรัฐหรือกองทัพเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ต้องจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายก็มีอยู่ไม่น้อย เช่น คดีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง เมื่อหลายปีก่อน เป็นต้น
ที่สำคัญหน่วยงานที่ถูกกล่าวหาเรื่องซ้อมทรมานอยู่เนืองๆ นั้น มีพละกำลังและอิทธิพลมากมายขนาดไหนในพื้นที่ คนเขาก็รู้ๆ กันอยู่ แล้วอยู่ดีๆ จะมีใครกล้า "แกว่งเท้าหาเสี้ยน" ออกมากล่าวหาเรื่องเท็จให้เขาขย้ำเอาหรือ
ฉะนั้นยิ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับคดีที่หน่วยงานรัฐเคยแพ้ และความเชื่อที่ว่าถ้าเป็นเรื่องไม่จริง จะมีคนกล้าออกมาเปิดโปงหรือ ทั้งสองเหตุผลนี้จึงทำให้ข้อกล่าวหาเรื่องซ้อมทรมานมีความน่าเชื่อ เหตุนี้เองการฟ้องร้องสื่อมวลชนหรือภาคประชาสังคมจึงไม่ใช่วิธีแก้ข้อกล่าวหาให้หมดไป
ทางที่ดีและควรจะทำให้เป็นแนวปฏิบัติอย่างยิ่งก็คือ เมื่อมีข้อกล่าวหาเรื่องซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะหน่วยใดก็ตาม "รัฐ"ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา ต้องมีกระบวนการทำความจริงให้ปรากฏ ด้วยการส่งทีมเข้าไปเยี่ยมเยียนและพูดคุยกับผู้ที่อ้างว่าถูกซ้อมทรมาน โดยทีมที่ส่งไปต้องไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐจากหน่วยที่ถูกกล่าวหา เช่น กล่าวหาทหาร ก็ต้องไม่ส่งทหารไป แต่ต้องส่ง "ทีมสหวิชาชีพ" เข้าไปทำงาน เพราะผู้ที่ถูกซ้อมทรมานถือว่าได้รับผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจ
การใช้ "ทีมสหวิชาชีพ" นอกจากจะช่วยให้ความจริงปรากฏแล้ว ยังจะช่วยเยียวยาจิตใจผู้ที่ถูกซ้อมทรมาน เพราะ "ทีมสหวิชาชีพ" มีนักจิตวิทยาร่วมอยู่ด้วย
หากดำเนินการแบบนี้ได้ ก็จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมได้ หากผลออกมาสรุปว่าไม่ใช่เรื่องจริง ข้อกล่าวหาก็จะตกไปจริงๆ ไม่มีข้อครหาใดๆ อีก เพราะหน่วยงานรัฐที่ถูกกล่าวหาไม่ได้มาสอบสวนเอง แต่ถ้าจริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องรับไปแก้ไข สอบสวนลงโทษคนกระทำผิดไป ปัญหาก็จะถูกแก้ และทุกอย่างก็จะจบ
ปัญหาภาคใต้ไม่ใช่เวทีที่จะมาเอาชนะคะคานกับสื่อหรือประชาชน หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐที่ฟ้องก็กินเงินภาษีประชาชน แล้วจะไม่ยอมให้ประชาชนเขาพูดอะไรขัดหูบ้างเลยหรือ?
--------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : อดีตผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อ อ้างว่าถูกซ้อมทรมานขณะถูกจับกุมเมื่อปีก่อน