- Home
- South
- คุยกับบรรณาธิการ
- กราบเรียนท่านอักษรา...
กราบเรียนท่านอักษรา...
สืบเนื่องจากเอกสาร "ชี้แจงสื่อมวลชนของหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้" ฉบับลงวันที่ 3 มี.ค.60 ที่ท่านได้ตำหนิการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่วิเคราะห์วิจารณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในห้วงก่อนและหลังการนัดพูดคุยสันติสุขฯ เมื่อ 28 ก.พ.60
และทิ้งท้ายว่าให้ ศปป.5 กอ.รมน.รวบรวมบทความ บทวิเคราะห์ที่เผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ทั้งหมด เพื่อเชิญผู้ที่วิเคราะห์วิจารณ์มาทำความเข้าใจ (อารมณ์คล้ายๆ กับเรียกนักเคลื่อนไหว หรือผู้เห็นต่างทางการเมืองเข้ารายงานตัว) นั้น
กระผมในฐานะที่ได้เขียนบทความหลายชิ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ และนำเสนอทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงสื่อออนไลน์ ขอชี้แจงทำความเข้าใจกับท่าน พล.อ.อักษรา ดังนี้
1.ที่ท่านบอกว่าสื่อมวลชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานการณ์ หลงประเด็น และชี้นำสังคมให้เข้าใจผิดว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการพูดคุยสันติสุขฯ ทั้งๆ ที่จริงๆ ไม่เกี่ยวกันนั้น ประเด็นนี้อยากให้ท่านเข้าใจว่า ในภาวะที่เทคโนโลยีการสื่อสารมีความก้าวหน้าอย่างมาก และประชาชนทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียได้อย่างเสรี ถึงระดับที่เรียกว่า "ทุกคนเป็นสื่อได้" ทำให้สื่อกระแสหลัก หรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อไม่ได้มีสถานะเป็น "ผู้ชี้นำสังคมอย่างเบ็ดเสร็จ" ได้อีกต่อไป
การทำหน้าที่สื่อทุกวันนี้ ถูกตรวจสอบอย่างหนักหน่วงจากสังคมและประชาชน ซึ่งหลายๆ กรณีผู้ที่แสดงความเห็นทั่วๆ ไปทางสื่อสังคมออนไลน์ มีความรู้เฉพาะทางมากกว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเสียอีก ฉะนั้นหากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเขียนหรือนำเสนอข้อมูลอะไรที่สวนทางกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม หรือไม่ตรงกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ บทความหรือข้อมูลนั้นๆ ก็จะถูกตรวจสอบ ตอบโต้ หักล้าง ฯลฯ เพราะภูมิทัศน์ของสื่อในปัจจุบันกลายเป็น "การสื่อสารสองทาง" (หรือมากกว่านั้น) ไปหมดแล้ว
ฉะนั้นหากท่านต้องการทราบข้อเท็จจริงว่าสังคมคิดอย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ท่านควรให้ ศปป.5 กอ.รมน. รวบรวมความคิดเห็นของผู้รู้และประชาชนทั่วไปที่นำเสนอผ่านสื่อสังคมออนไลน์ด้วย แล้วท่านจะทราบว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ อย่างเช่นกระผม หรือศูนย์ข่าวอิศรา ไม่สามารถชี้นำความคิดของสังคมได้ หากสังคมไม่ได้คิดตรงกัน
2.ที่ท่านยกตัวอย่างเหตุการณ์สังหารนายกอบต.ปิยามุมัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 10 ก.พ.60 แล้วสรุปว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นเรื่องความขัดแย้งส่วนตัว การเมืองท้องถิ่น หรือผลประโยชน์ทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด โดยไม่ได้เป็นผลจากการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ กระผมเห็นว่าเป็นด่วนสรุปเกินไป
เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วยังมีความรุนแรงอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงใกล้วันพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ (28 ก.พ.) ที่ข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นเชื่อว่าไม่น่าจะมีมูลเหตุจากความขัดแย้งส่วนตัว การเมืองท้องถิ่น หรือผลประโยชน์ เช่น เหตุยิงรถของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งกำลังพาครอบครัวและเด็กๆ ไปส่งโรงเรียน ทำให้สมาชิกในครอบครัวของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเสียชีวิตถึง 4 คน หนึ่งในนั้นเป็นเด็กชายอายุ 8 ขวบ (2 มี.ค.) หรือเหตุการณ์สังหารสองสามีภรรยาเพื่อชิงรถไปทำคาร์บอมบ์ที่ อ.เทพา จ.สงขลา (28 ก.พ.)
ประเด็นที่ท่านน่าจะรับทราบก็คือ เจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคงเองที่สรุปข้อสันนิษฐานว่าเหตุการณ์รุนแรงเหล่านี้เป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ยังคงเคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อไปเขียนชี้นำ หรือสังคมคิดเอาเอง
3.ในส่วนของกระผมและศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ไม่ได้หลงประเด็นหรือพยายามสรุปว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในห้วงปลายเดือน ก.พ.ต่อเนื่องต้นเดือน มี.ค. เป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อต่อต้านหรือล้มล้างการพูดคุยฯไปเสียทั้งหมด อย่างเช่น เหตุการณ์บุกเผา อบต.โฆษิต อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และมีการปล้นรถกระบะไปทำคาร์บอมบ์ (26 ก.พ.) ก็มีการตั้งข้อสังเกตในข่าวและบทวิเคราะห์ว่า อาจเกี่ยวโยงกับปัญหาขัดแย้งและปมทุจริตใน อบต. แล้วมีการสร้างสถานการณ์ให้ดูเหมือนเป็นประเด็นทางความมั่นคง
4.หากท่านเห็นว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อหรือสังคมเข้าใจผิดหรือหลงประเด็น ก็ชอบที่ท่านจะชี้แจงผ่านเครื่องมือหรือกลไกมากมายที่ท่านมี ในฐานะที่ท่านเป็น "ภาครัฐ" และหากไม่ต้องการให้สังคมหลงประเด็นตามที่ท่านว่า ก็ควรที่จะต้องเร่งชี้แจงข้อเท็จจริงในมุมของท่านอย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์ เพื่อหยุดยั้งความเข้าใจผิดเหล่านั้น เพราะการตำหนิบทบาทสื่อหรือสังคมย่อมไม่เกิดประโยชน์ใดๆ
แต่สิ่งที่ต้องพึงตระหนักก็คือ คำชี้แจงของหน่วยงานรัฐทุกวันนี้ ก็ไม่สามารถบังคับให้สังคมเชื่อได้ทั้งหมดเหมือนกัน ดังเช่นเหตุผลที่ยกไว้ข้างบนว่า ภูมิทัศน์ของโลกการสื่อสารทุกวันนี้เป็นการ "สื่อสารสองทาง" ไม่่ใช่การสื่อสารทางเดียวแบบที่ท่านคุ้นชินอีกต่อไปแล้ว
5.เท่าที่กระผมได้พยายามตรวจสอบข้อคิดเห็นที่นำเสนอโดยผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ และผู้รู้ ตลอดจนพี่น้องประชาชนทั่วไปที่นำเสนอผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ต้องยอมรับว่าบางส่วนก็เชื่อว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการพูดคุยเพื่อสันติสุขจริงๆ ซึ่งหากท่านเห็นว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด ก็ชอบที่ท่านจะชี้แจงแสดงเหตุผล (ดังที่ท่านอธิบายมาในเอกสารฉบับลงวันที่ 3 มี.ค. ถือว่าถูกต้องแล้ว แต่ก็นั่นแหละ ท่านไม่สามารถบังคับให้คนเชื่อท่านได้ เหมือนกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อก็ไม่สามารถเขียนแล้วบังคับให้สังคมเชื่อสื่อได้เช่นกัน)
อย่างไรก็ดี หากพิเคราะห์ลึกลงไปถึงความเห็นในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์เหล่านั้น เกือบร้อยทั้งร้อยไม่ได้ปฏิเสธการพูดคุยฯ ไม่ได้ปฏิเสธสันติวิธี และไม่ได้ปฏิเสธการพยายามสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" เพียงแต่หลายเสียงแสดงความเป็นห่วง และมองว่ากระบวนการที่ดำเนินการอยู่ยังมีจุดบกพร่อง โดยเฉพาะการที่องค์ประกอบของโต๊ะพูดคุยฯ ยังไม่มีผู้แทนของกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงอยู่ในพื้นที่จริงๆ ซึ่งกระผมเข้าใจว่าทางคณะพูดคุยฯก็คงพยายามแก้ไขปัญหานี้อยู่ ฉะนั้นก็ชอบที่ท่านจะชี้แจงให้สังคมทราบและเข้าใจขั้นตอนการทำงานของท่านผ่านเครื่องมือของหน่วยงานรัฐ หรือแม้แต่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ และท่านก็สามารถใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน
จะว่าไปแล้วการที่ท่านเขียนเชิงประชดประชันว่า "ถ้าคิดว่าการพูดคุยฯ เป็นต้นเหตุของความรุนแรง ก็แก้ง่ายนิดเดียว ด้วยการยุติการพูดคุยฯไปเสีย" ประโยคนี้น่าจะบั่นทอนความเชื่อมั่นของกระบวนการพูดคุยฯ เสียยิ่งกว่าเสียงวิจารณ์จากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อและสังคมเสียอีก
6.หากพิจารณายุทธศาสตร์การสื่อสารของคณะพูดคุยฯ ต้องขอเรียนตรงๆ ว่ายังมีปัญหาและข้อจำกัดอยู่มาก ไม่ต้องเทียบกับใคร ลองเทียบกับ "ปาร์ตี้ B" ซึ่งหมายถึง "กลุ่มมารา ปาตานี" ที่ท่านพูดคุยฯอยู่ด้วยนั่นเอง
"มารา ปาตานี" มีการสื่อสารกับสังคมตลอดเวลา เมื่อการพูดคุยฯแต่ละครั้งเสร็จสิ้น ก็มีการแถลงข่าวหรือส่งเอกสารสรุปผลการพูดคุยฯ (ในมุมของปาร์ตี้ B) เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทันที และ "มารา ปาตานี" ยังมีช่องทางการเชื่อมประสานกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อหลายแขนง ทั้งในมาเลเซียและไทย ทำให้ข้อมูล ความเห็น และแผนงานของ "มารา ปาตานี" ถูกนำเสนอและสร้างการรับรู้ได้มากกว่าคณะพูดคุยฯตัวแทนรัฐบาลเสียอีก
หลายครั้งที่การนำเสนอข่าวหรือข้อมูลของสื่อมวลชนบางแขนงไม่ตรงกับที่มารา ปาตานี ต้องการสื่อสาร ดังเช่นบทความหลายชิ้นของศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ทางโฆษกของมารา ปาตานี ก็ส่งเอกสารชี้แจงมา ซึ่งโดยจรรยาบรรณของสื่อก็ต้องนำเสนอ เพื่อให้สังคมได้พิจารณาข้อเท็จจริงในมุมมองที่แตกต่างเหล่านั้น
บทบาทและการทำงานแบบนี้ยังแทบไม่เคยปรากฏเลยจากคณะพูดคุยฯภายใต้การทำงานของท่าน และนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สื่อหรือสังคมมีความเข้าใจท่านและคณะทำงานของท่านค่อนข้างน้อย จนอาจกลายเป็น "หลงประเด็น" ตามที่ท่านตำหนิก็เป็นได้
ทั้งหมดนี้เป็นข้อคิดเห็นคร่าวๆ ของกระผมในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพสื่อที่ติดตามรายงานข่าวปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด 13 ปี และหวังว่าข้อมูลบางส่วนจะเป็นประโยชน์กับท่านและกระบวนการพูดคุยบ้างไม่มากก็น้อย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.อ.อักษรา เกิดผล