- Home
- South
- สัมภาษณ์พิเศษ ศูนย์ข่าวภาคใต้
- "วันนอร์"ปัดเอี่ยวโฮปเวลล์ - แนะไปดูยกเลิกสมัยใคร
"วันนอร์"ปัดเอี่ยวโฮปเวลล์ - แนะไปดูยกเลิกสมัยใคร
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม "วันมูหะมัดนอร์ มะทา" ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการโฮปเวลล์ ทั้งในแง่ของการเซ็นสัญญาและการยกเลิกสัมปทาน ส่วนเรื่อง "ค่าโง่" แนะรัฐบาลไปไล่เบี้ยเอากับผู้ที่เกี่ยวข้องในการยกเลิกสัญญา
กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และกระทรวงคมนาคม จ่ายค่าเสียหายแก่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากถูกยกเลิกสัญญาอย่างไม่เป็นธรรม เป็นเงินถึง 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น ได้ตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าไทยต้องเสีย "ค่าโง่" ระดับหมื่นล้านจากโครงการพัฒนาที่ไม่มีความโปร่งใสซ้ำอีกแล้ว และเริ่มมีการไล่เบี้ยหาคนผิด ซึ่งก็คืออดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลชุดต่างๆ
หนึ่งในนั้นคือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2538-2539 ในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า โครงการโฮปเวลล์เซ็นสัญญาตั้งแต่ปี 2533 โดยมี นายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากนั้นโครงการมีปัญหา จนมีการบอกเลิกสัญญา ฉะนั้นหากจะหาคนรับผิดชอบ ก็ต้องไปหาจากคนที่บอกเลิกสัญญา
สำหรับตนเอง ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ช่วงนั้นโฮปเวลล์เริ่มมีปัญหาแล้ว ปัญหาหลักๆ มี 2 เรื่องด้วยกัน คือ 1.กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า กับ 2.บริษัทโฮปเวลล์ขาดสภาพคล่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งตนก็พยายามหาทางช่วยเหลือ ทั้งให้กำลังใจและแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ส่วนเรื่องขาดสภาพคล่อง เป็นเรื่องของบริษัทฯเอง ตนไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
นายวันมูหะมัดนอร์ บอกอีกว่า เท่าที่จำได้ หลังจากรัฐบาลของตนแล้ว ก็เป็นรัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งมี นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่ก็ยังไม่มีการยกเลิกสัญญา จึงเข้าใจว่าน่าจะยกเลิกในช่วงรัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมัยที่ 2 ซึ่งต้องไปดูว่ากระทรวงคมนาคมเป็นผู้สั่งยกเลิกเอง หรือเป็นมติคณะรัฐมนตรี
ฉะนั้นโดยสรุปเรื่องโฮปเวลล์ ตนไม่ได้เกี่ยวข้อง ทั้งในช่วงเริ่มทำสัญญาและยกเลิกสัญญา ส่วนการฟ้องร้อง ทราบว่าบริษัทโฮปเวลล์ยื่นฟ้องมาตั้งแต่รัฐบาลชวน 2 ทำโครงการก่อสร้าง "โลคัลโรด" (ถนนเลียบทางรถไฟ) แล้ว เพราะถือว่าผิดสัญญา จากนั้นเมื่อมีการยกเลิกสัญญาสัมปทาน ก็ไม่ทราบว่าทางโฮปเวลล์ไปยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการอย่างไร เพราะไม่ได้ติดตาม เนื่องจากไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบโดยตรง
ส่วนแนวทางดำเนินการหลังจากนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ บอกว่า ต้องรอดูว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะทำอย่างไร จะไปไล่เบี้ยเอาผิดกับใครบ้าง คงคล้ายๆ ตอนที่ไล่เบี้ยโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีค่าโง่เหมือนกัน แต่ภายหลังรัฐบาลก็พยายามไปฟ้องไล่เบี้ย โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่สั่งยกเลิกสัญญา และฟ้องกิจการร่วมค้าฯที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการด้วย
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า การยกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวอลล์อย่างเป็นทางการ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2541 ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมัยที่ 2 ซึ่งมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
-------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา
อ่านประกอบ :
ศาล ปค.สูงสุดพิพากษากลับสั่ง รฟท.จ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล.คดีโฮปเวลล์
ดูเหตุผลคำพิพากษาศาล ปค.สูงสุดสั่ง รฟท.จ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล.ปิดฉากคดีโฮปเวลล์