- Home
- South
- สัมภาษณ์พิเศษ ศูนย์ข่าวภาคใต้
- ยึด รพ.กาลิซา "อังคณา"ชี้พื้นที่ปลอดภัยล้มเหลว
ยึด รพ.กาลิซา "อังคณา"ชี้พื้นที่ปลอดภัยล้มเหลว
เหตุการณ์ความไม่สงบที่จังหวัดนราธิวาสช่วงส่งท้ายปี 61 ที่มีคนร้ายบุกยึดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกาลิซา อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เพื่อปฏิบัติการโจมตีฐานปฏิบัติการของชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) นั้น ทำให้นักสิทธิมนุษยชนมองว่าข้อเรียกร้องเรื่อง "พื้นที่สาธารณะปลอดภัย" ที่ทุกฝ่ายรณรงค์มาตลอด ล้มเหลวและถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง
"เหมือนทุกฝ่ายไม่เคารพกันต่อข้อเรียกร้องที่ขอพื้นที่ปลอดภัย" อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว
เหตุการณ์บุกยึดโรงพยาบาล ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่เคยเกิดขึ้นแล้วกับโรงพยาบาลเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ปี 59 ครั้งนั้นทุกฝ่ายก็ออกมาประณาม และเรียกร้องให้พื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเป็น "พื้นที่ปลอดภัย" แต่สุดท้ายก็มาเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันขึ้นอีก
"ทำไมถึงยังเกิดเหตุลักษณะนี้แบบซ้ำๆ ทั้งที่เคยเกิดขึ้นแล้วที่โรงพยาบาลเจาะไอร้อง" อังคณา ตั้งคำถาม
โรงพยาบาลถือเป็นพื้นที่อ่อนไหวในสถานการณ์สงครามหรือความขัดแย้งทุกชนิด และควรเป็น "พื้นที่ปลอดภัย" มากกว่าพื้นที่สาธารณะอื่นๆ เช่น ตลาด หรือถนนหนทางเสียด้วยซ้ำ เพราะการงดเว้นการโจมตีในสถานพยาบาลเป็นกติกาสากล แต่กติกานี้กลับถูกละเมิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
"จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ขัดแย้ง หรือพื้นที่สงครามก็แล้วแต่ สถานพยาบาล โรงเรียน และสถานที่เปราะบางทั้งหลาย รวมไปถึงผู้หญิง เด็ก คนชรา ครู และ บุคลากรทางการแพทย์ ต้องได้รับการคุ้มครอง ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังติดอาวุธทุกฝ่ายจะต้องไม่ทำอะไรกับสถานพยาบาล เพราะสถานพยาบาลไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร ฉะนั้นการใช้พื้นที่โรงพยาบาลไปโจมตีค่ายทหาร จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง" อังคณา ย้ำ
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ทำงานในภาคใต้มานาน ยอมรับว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าการรณรงค์เรื่อง "พื้นที่ปลอดภัย" ล้มเหลว และต้องเร่งสรุปบทเรียน เพราะในบริบทของความขัดแย้ง กลุ่มติดอาวุธไม่ใช่ฝ่ายเดียวที่จะยื่นข้อเรียกร้องต่างๆ ได้ แต่ต้องฟังเสียงประชาชนในพื้นที่ขัดแย้งด้วยเช่นกัน
"แม้จะบอกว่าไม่ได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล แต่ทุกฝ่ายควรเคารพและไม่ใช้สถานพยาบาลประกอบความรุนแรง สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าการเรียกร้องพื้นที่ปลอดภัยล้มเหลว แม้จะมีการรณรงค์จากทุกฝ่าย ฉะนั้นหลังจากนี้ควรจะมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนว่าฝ่ายใช้อาวุธต้องการอะไร ชาวบ้านต้องการอะไร ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผู้ใช้อาวุธจะยื่นข้อเรียกร้องได้ฝ่ายเดียว ประชาชนในพื้นที่ควรจะเรียกร้องได้ด้วยว่าคนในพื้นที่ต้องการอะไร" อังคณา ระบุ
ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะองค์กรซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ประณามการก่อเหตุรุนแรงที่ใช้โรงพยาบาลเป็นสถานที่ก่อเหตุ รวมถึงการปฏิบัติการโจมตีในสถานที่ท่องเที่ยว กรณีหาดสมิหลา จังหวัดสงขลา โดยมีข้อเรียกร้องคือ
1.ขอให้ผู้ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงยุติการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการข่มขู่ คุกคาม และการกระทำที่รุนแรงต่อบุคลากรสาธารณสุข ตลอดจนประชาชนผู้บริสุทธิ์ในสถานพยาบาลและแหล่งท่องเที่ยว
2.ขอให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสืบสวน และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว
3.ขอให้รัฐบาลหามาตรการที่เหมาะสมและรัดกุมในการคุ้มครองความปลอดภัยแก่บุคลากรของรัฐและประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นใจและความรู้สึกปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข โดยร่วมมือกับประชาชนในพื้นที่ในการสร้างระบบการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย การเฝ้าระวัง และการป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรง
ในตอนท้ายของแถลงการณ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรสาธารณสุข รวมถึงประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเนื่องกันหลายครั้งในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดย กสม.จะติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้อย่างใกล้ชิด และพร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วนในการสร้างสังคมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงต่อไป
----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปตรวจสอบพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกาลิซา และพบปลอกกระสุนที่คนร้ายใช้ยิงถล่มฐาน ชคต.จำนวนมาก
อ่านประกอบ : เหตุเกิดที่กาลิซา...เปิดแผนคนร้ายยึด รพ.โจมตีฐาน ชคต.