- Home
- South
- สัมภาษณ์พิเศษ ศูนย์ข่าวภาคใต้
- ดร.นิชานท์ : พลังอาเซียนดับไฟใต้ หาจุดเชื่อมต่อรัฐ-ผู้ก่อเหตุรุนแรง
ดร.นิชานท์ : พลังอาเซียนดับไฟใต้ หาจุดเชื่อมต่อรัฐ-ผู้ก่อเหตุรุนแรง
ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 13 ปี กำลังเดินทางมาถึง "จุดท้าทาย" ที่สำคัญว่ารัฐไทยจะจัดการสถานการณ์นี้ให้คลี่คลายลงได้อย่างไร
เพราะแนวทางการปราบปรามและป้องกันเหตุรุนแรงก็ดูจะยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร สะท้อนจากเหตุการณ์ล่าสุด "คาร์บอมบ์บิ๊กซี ปัตตานี"
เมื่อเหลียวไปดูแนวทางด้านการพูดคุยเจรจา ซึ่งรัฐบาลไทยกำลังดำเนินกระบวนการอยู่กับ "กลุ่มมารา ปาตานี" แต่ก็ถูกมองว่าไม่ใช่ "ตัวจริง" และไม่สามารถยุติสถานการณ์เลวร้ายที่ปลายด้ามขวานได้
ส่วนกลุ่มที่เชื่อกันว่าเป็นตัวจริง คือ "บีอาร์เอ็น" ก็เสนอเงื่อนไขการเจรจาที่ยากจะยอมรับ นั่นคือการเปิดให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเป็นสักขีพยาน
เงื่อนไขแบบนี้ถือว่าสวนทางกับจุดยืนของรัฐบาลไทยทุกยุคที่ยืนกรานว่าปัญหาชายแดนภาคใต้เป็น "ปัญหาภายใน" ที่ไทยสามารถจัดการเองได้ ประเทศอื่นหรือองค์กรระหว่างประเทศอื่นใด ไม่จำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาช่วย
แต่เหตุรุนแรงอย่าง "คาร์บอมบ์" ถึงในห้างสรรพสินค้า ก็ทำให้หลายฝ่ายเรียกร้องไปยังรัฐบาลไทยว่าควรปรับเปลี่ยนจุดยืนในข้อนี้ และยอมรับเงื่อนไขของบีอาร์เอ็นเพื่อเดินหน้าเปิดการพูดคุยเจรจากันต่อไป
แน่นอนว่าหากรัฐบาลไทยยอม ก็คงต้อง "เสียหน้า" และ "เสียสถานะความเป็นรัฐ" ไปไม่น้อยทีเดียว
สถานการณ์ ณ ปัจจุบันจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งว่ารัฐบาลไทยจะตัดสินใจอย่างไร และจะมี "ทางออกกลางๆ" ที่พอยอมรับได้กันทุกฝ่ายหรือไม่
ดร.นิชานท์ สิงหพุทธางกูร ผู้ศึกษาด้านความขัดแย้งและการจัดการความขัดแย้ง มหาวิทยาลัยบรูไนดารุสซาลาม บอกว่า รัฐไทยอาจต้องปรับแนวคิด โดยเปิดให้อาเซียนเข้ามามีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมากขึ้น ซึ่งหากรัฐไทยยอมเปิดใจ เปิดพื้นที่ ก็จะก้าวข้ามข้อจำกัดเดิม และก้าวข้ามเงื่อนไขของบีอาร์เอ็นด้วย
"ไม่อยากให้รัฐไทยยึดติดกับจุดยืนจุดเดียว เพราะสถานการณ์ของโลกและของภูมิภาคเราในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงของรัฐรัฐเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่เราเป็นประชาคมอาเซียน ร่วมมือกัน 10 ประเทศ ฉะนั้นอาจจะต้องยอมรับ เปิดให้อาเซียนเข้ามาช่วยมากขึ้น เหมือนที่ยอมให้มาเลเซียเข้ามาในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย วันนี้เรากำลังพูดถึงพลเมืองอาเซียน พูดถึงการไม่มีพรมแดนขวางกั้น ฉะนั้นเราต้องช่วยกัน ไทยเองก็เป็นหนึ่งในอาเซียน โจทย์ที่เราต้องเปลี่ยนแปลง คือเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร"
จากโจทย์ที่ว่า "เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร" ในความหมายของ ดร.นิชานท์ ทำให้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของอาเซียน อย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ไม่ใช่ปัญหาที่กระทบกับไทยเพียงประเทศเดียว แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของประชาคมอาเซียนทั้งหมด
"ประชาคมอาเซียนมี 3 ประเทศที่เป็นประเทศมุสลิม และอยู่ในโอไอซี (เป็นสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม ที่มีบทบาทตรวจสอบและติดตามการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยด้วย) ฉะนั้นอาเซียนช่วยได้ เราต้องยอมรับว่าเรามีปัญหา ถ้าเราจะยืนหยัดว่าเราคือหนึ่งในสมาชิกอาเซียน และยอมรับว่าเราไม่ได้มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาหลักหรือศาสนาประจำชาติ แต่เรายังมีบรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศอิสลาม และเขาผ่านปัญหาพวกนี้มาพอสมควร ฟิลิปปินส์เองก็ด้วย ฉะนั้นไทยควรแสวงหาความร่วมมือ"
ดร.นิชานท์ ซึ่งได้รับทุนจากสมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่านบรูไนดารุสซาลาม กระทั่งสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก บอกว่า ที่บรูไนสนใจปัญหาภาคใต้ของไทยกันมาก และส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีความรุนแรงเกิดขึ้น
"ที่บรูไนมองว่าในพื้นที่อาจจะมีความคิดที่แตกต่างกัน กลุ่มหนึ่งต้องการเป็นเอกราช เหมือนการเป็นรัฐปัตตานีในอดีต ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งอาจต้องการแค่มีอำนาจในการปกครองตนเอง แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของไทยอยู่ สำหรับผมแล้วถ้ารัฐไทยจะหาทางออกเป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหา จะต้องยึดแนวทางที่ 2 ไว้ คือต้องรักษาจุดยืนของคู่กรณีว่ายังมีอำนาจอยู่ แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้เสียเขาไป ไม่ได้ถูกตัดขาดบูรณภาพแห่งความเป็นรัฐหรือความเป็นประเทศไป"
ในฐานะที่ศึกษาเรื่องการจัดการความขัดแย้ง ดร.นิชานท์ บอกว่า ในบริบทของปัญหาชายแดนใต้ ที่ผ่านมารัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงดำเนินการมาอย่างถูกต้องระดับหนึ่งสำหรับการแก้ไขปัญหาระยะสั้น คือพยายามหยุดการเข่นฆ่า หยุดความรุนแรง และระบุได้ว่าความรุนแรงเกิดจากกลุ่มใด ส่วนในระยะยาว คือบทจบของปัญหา ก็ถือว่าเลือกแนวทางที่ถูกต้อง เพราะย่อมหนีไม่พ้นการพูดคุยเจรจา แต่สิ่งที่ขาดไปคือการแก้ปัญหา "ระยะกลาง"
"ผมคิดว่ารัฐไทยกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังมีช่องว่างที่ยังเชื่อมกันไม่ได้ ถามว่าปัญหานี้ต้องจบด้วยการเจรจาใช่หรือไม่ คำตอบคือใช่ มันต้องจบอย่างนั้น แต่ก่อนหน้านั้นมันขาดอะไรไป มันคือการแก้ปัญหาระยะกลางที่หายไป มีแต่ระยะสั้นกับระยะยาว เราคิดว่ามีความรุนแรง แล้วไปจบบนโต๊ะเจรจา เราคิดกันง่ายเกินไปหรือเปล่า ของพวกนี้สะสมมานานมาก แล้วอยู่ๆ จะให้หายไปในชั่วพริบตา มันยากมาก"
การค้นหา "จุดเชื่อมต่อ" หรือหากใช้ภาษาการเมืองแบบที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีเคยพูดเอาไว้ก็คือ "โซ่ข้อกลาง" ระหว่างรัฐไทยกับผู้เห็นต่าง หรือผู้ก่อเหตุรุนแรงนั้น ดร.นิชานท์ เสนอว่า ต้องใช้การฟังอย่างตั้งใจ
"คำถามคือเราฟังเขาอย่างไร การฟังของเราที่ผ่านมาเราฟังอย่างไร และหลังจากนี้เราจะฟังอย่างไร เราอาจจะต้องตั้งทีมพิเศษที่ไม่่ใช่ทีมของรัฐบาล แต่เป็นทีมประชาชนมากขึ้นหรือไม่ ไม่ใช่ทีมที่เป็นทหารอย่างเดียว ภาษาที่ใช้จะต้องเป็นภาษามลายูด้วยไหม...อะไรแบบนี้"
ดร.นิชานท์ ย้ำว่า เมื่อเกิดการฟังอย่างตั้งใจ ก็จะทำให้ทราบความต้องการที่แท้จริงของอีกฝ่าย ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราเคยคิดมาก่อนเลยก็ได้
"การแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่มีใครได้อะไรทั้งหมด สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องฟังก่อน ถ้าเราฟังแล้ว เราจะเห็นว่าเขาต้องการอะไรจริงๆ กันแน่ หากเทียบกับทฤษฎีส้ม สมมติว่าเราต้องการส้ม เขาก็ต้องการส้ม แต่เราไม่เคยถามเขาเลยว่าจะเอาส้มไปทำอะไร เขาอาจต้องการเนื้อไปทำน้ำส้มคั้น หรือเอาแค่เปลือกไปทำเครื่องสำอาง แต่เราไม่เคยถาม ฉะนั้นในบางกรณีคนกลางจึงต้องเข้ามา คนกลางก็มีหลายแบบ มีอำนาจหรือไม่มีอำนาจ หรือคนกลางที่เกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งกับคู่ขัดแย้งเองก็ได้"
ข้อเสนอของ ดร.นิชานท์ ย้อนกลับมาที่จุดตั้งต้นซึ่งเป็นจุดยืนของเขา ก็คือการแสวงหาความร่วมมือจากประชาคมอาเซียนในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และรัฐไทยสามารถออกแบบกระบวนการตามที่ต้องการได้ และใช้พลังของอาเซียนเข้ามาเป็น "น้ำเย็น" เพื่อดับไฟร้อนที่ลุกโชนยาวนานกว่า 13 ปี...
------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ดร.นิชานท์ สิงหพุทธางกูร
อ่านประกอบ : ได้เวลาตีตรา "บีอาร์เอ็น" องค์กรก่อการร้าย...หรือยัง?