- Home
- South
- สัมภาษณ์พิเศษ ศูนย์ข่าวภาคใต้
- แนะสร้างกติกาโซเชียลฯลดเกลียดชังศาสนา มีพื้นที่กลางสื่อสารความเข้าใจ
แนะสร้างกติกาโซเชียลฯลดเกลียดชังศาสนา มีพื้นที่กลางสื่อสารความเข้าใจ
กังวลกันมาระยะหนึ่งแล้วสำหรับความขัดแย้งแตกแยกระหว่างความเชื่อทางศาสนาในประเทศไทยที่เคยมั่นใจกันว่าถึงอย่างไรก็ไม่มีทางเกิดขึ้น
จากปัญหาชายแดนใต้ที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงจงใจส่งสัญญาณ “ตอกลิ่ม” ครั้งแล้วครั้งเล่า มาจนถึงยุคผู้ก่อการร้ายป่วนโลกจนเกิดกระแสเกลียดกลัวอิสลาม (islamophobia) แล้วย้อนกลับมาที่ปัญหาชายแดนใต้ที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 13 ปีอีกครั้งหนึ่ง กับการสังหารครอบครัวผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านคนพุทธ จนมีเด็กอายุ 8 ขวบต้องสังเวยชีวิตไปด้วย ทำให้ชาวพุทธในพื้นที่ทนไม่ไหว รวมตัวยื่นข้อเรียกร้อง 15 ข้อผ่านศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
ข้อเรียกร้องร่างแรกแต่ละข้อ สะท้อนทัศนคติของคนพุทธต่อปัญหาในพื้นที่ และสะท้อนสถานการณ์จริงของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนสองศาสนาได้เป็นอย่างดี (อ่านได้ใน...เจาะเครือข่ายคนพุทธชายแดนใต้ จับจังหวะเคลื่อนไหวประเด็นเปราะบาง)
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยวิเคราะห์เรื่องนี้เอาไว้ ทั้งสภาพปัญหาและตัวเร่งที่ทำให้กระแสลุกลามบานปลาย
“ทุกวันนี้กระแสสร้างความเกลียดขังในสังคมมีสูงมาก เพราะเทคโนโลยีสื่อสารมันไว แพร่ไปรวดเร็ว การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนที่มีความแตกต่างกันเป็นไปได้รวดเร็วและง่าย
วันนี้ต้องระวังเรื่องของโซเชียลมีเดีย การโพสต์ก็ดี การแสดงคาวมคิดเห็นก็ดี ลักษณะไปใช้กระตุ้นความรู้สึกให้เกิดความเกลียดชังทางด้านเชื้อชาติศาสนา ถือเป็นอันตราย
วันนี้สถานการณ์ความเกลียดกลัวอิสลามมีสูงมาก ไม่เฉพาะในยุโรป แต่หลังเหตุการณ์ 911 (การโจมตีตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ มหานครนิวยอร์ค เมื่อ 11 ก.ย.2544) การสร้างกระแสความรุนแรงที่โยงไปถึงศาสนาอิสลามและการก่อการร้ายมันแพร่ไปไว และเข้าไปสู่ทุกสังคม ทุกซอกทุกมุม
ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่วันนี้คนไทยส่วนหนึ่งอาจหวาดระแวง หวาดกลัวอิสลาม และบ้านเราก็มีสถานการณ์ความไม่สวบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ด้วย มีลักษณะการกระทำที่ยั่วให้เกิดการแตกแยกระหว่างศาสนา ฆ่าพระ เผาวัด
วันนี้สิ่งที่สำคัญจะทำอย่างไรให้การโพสต์แสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย ในลักษณะที่ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังลดลง หรือสร้างมาตรการในการกำหนดเรื่องนี้ให้เป็นกิจจะลักษณะ เพราะเรื่องนี้ส่งผลกระทบระยะยาว
การสร้างพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจระหว่างกัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาพุทธกับมุสลิมที่ชายแดนใต้ ผมคิดว่าพื้นที่การพูดคุยทำความเข้าใจต้องทำมากขึ้น ทั้งในโลกของสื่อ ทั้งกระแสหลักและกระแสรอง ในโลกจริงอย่างในชุมชน ในหมู่บ้านห่างไกล ซึ่งจะว่าไปในชนบทห่างไกลมักเกิดกระแสต้านอิสลาม เพราะไม่คุ้นเคยหรือรู้จักความเป็นมุสลิมและความเป็นอิสลาม”
นี่คืออีกหนึ่งเสียงที่สะท้อนสภาพปัญหา พร้อมข้อเสนอที่น่าสนใจ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องควรรีบนำไปแปรสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม!